วิธีทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ ได้รับรางวัลระดับชาติ
 

 

จุดเด่นทางวิชาการ

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งดำเนินการมาครบรอบ 50 ปี เป็นผู้นำที่สำคัญในการสะสมองค์ความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

การสร้างและสะสมองค์ความรู้เรื่องครอบครัว

นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุและผลของพฤติกรรมในครอบครัวไทย เช่น วิธีการปลูกฝังอบรมเด็กที่เหมาะสมในวัยต่าง ๆ วิธีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น สถาบันมีองค์ความรู้ทางด้านครอบครัวสะสมอยู่มาก และได้ทำการประยุกต์ลงสู่สังคมและชุมชนในโครงการเสริมสร้างชุมชนพัฒนาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน งานวิจัยฉบับที่ 82 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ เรื่อง “การวิเคราะห์ดัชนีเชิงเหตุและผลของคุณภาพชีวิตสมรสในครอบครัวไทย” โดย รองศาสตราจารย์งามตา วนินทานนท์ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเยี่ยมประจำปี 2547 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

จุดกำเนิดของทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน เมื่อครั้งที่ทำการวิจัยและสอนอยู่ที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เป็นผู้ที่เริ่มต้นศึกษาและทำการวิจัยอย่างลึกซึ้งในเรื่องจริยธรรม โดยทำการวิจัยร่วมกับ ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก ในปี พ.ศ.2520 เรื่องจริยธรรมของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นรายงานการวิจัยฉบับที่ 21 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ และได้รับรางวัลงานวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน ก็ได้เขียนตำรา พฤติกรรมศาสตร์ เล่ม 2 จิตวิทยาจริยธรรมและจิตวิทยาภาษา ในปี พ.ศ.2523 และเรื่อง ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกับสุขภาพจิต และจริยธรรมของนักเรียนวัยรุ่น ในปี พ.ศ.2524 ซึ่งเป็นรายงานการวิจัย ฉบับที่ 26 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้ประมวลผลการวิจัยจำนวนมากที่ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าพึงปรารถนาของคนไทย แล้วนำมาสรุปผล และนำเสนอในรูปของต้นไม้ และเสนอเป็นทฤษฎี ชื่อว่า ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม ที่นำออกเผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 และเสนอเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2531

ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม แสดงจิตลักษณะพื้นฐาน และองค์ประกอบทางจิตใจของพฤติกรรมทางจริยธรรม

 

แหล่งศึกษาวิจัยปรีชาเชิงอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ปรีชาเชิงอารมณ์ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เป็นเรื่องที่นักวิชาการและบุคคลทั่วไปให้ความสำคัญและส่งเสริม เมื่อแนวคิดเรื่องปรีชาเชิงอารมณ์ได้แพร่หลายจากต่างประเทศสู่ประเทศไทย สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งตระหนักเห็นความสำคัญของการมีปรีชาเชิงอารมณ์ว่าจะช่วยให้บุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก็ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย อบรม ในเรื่องนี้ตลอดมา กิจกรรมที่สถาบันวิจัยจัดขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งสำคัญในประเทศไทยที่ศึกษาและสนใจเรื่องปรีชาเชิงอารมณ์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนเป็นแหล่งที่นักวิชาการอื่น ๆ มาแสวงหาข้อเสนอแนะและคำปรึกษาที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มีดังนี้
1. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง อีคิวกับความสำเร็จในการทำงาน
2. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนา EQ ในเด็กอนุบาล จำนวน 2 ครั้ง
3. จัดการประชุมวิชาการประยุกต์ เรื่อง EQ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในสหัสวรรษใหม่
4. จัดตั้งชมรมผู้สนใจอีคิว ซึ่งกรรมการหลักคือ คณาจารย์ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
5. การวิจัยเรื่อง การสร้างและพัฒนามาตรวัดปรีชาเชิงอารมณ์ของวัยรุ่นไทย
6. การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนาในเยาวชนไทย
7. มีวิชา วป 734 ปรีชาเชิงอารมณ์กับคุณภาพชีวิตการทำงาน

พัฒนาการด้านเอกลักษณ์แห่งตน (Ego Identity) ในคนไทย

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ได้ใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน (Erikson’s Psychosocial Theory) เป็นหลักในการศึกษาวิจัยพัฒนาการของคนไทย ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้ง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ได้พบเครื่องมือพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน ขั้นที่ 1 ถึง 7 สร้างโดย Oches and Plng (1986) เป็นเครื่องมือวัดด้วยวิธีมาตรประมาณค่า (Sumnated Ratings Method) ที่มีคุณภาพสูงและสะดวกต่อการใช้มากกว่าแบบวัดประเภทอื่นที่ เคยมีมาในอดีต ทำให้คณาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบัน ฯ หันมาสนใจศึกษาทฤษฎีนี้มากขึ้น และได้ผลิตผลงานวิจัยออกมาหลายเรื่อง ปัจจุบันสามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ยังไม่เคยมีในสถาบันวิจัยใดๆ มาก่อน นั่นคือ ปัจจัยเชิงสาเหตุและปัจจัยเชิงผลของการบรรลุเอกลักษณ์แห่งตน (Ego Identity Achievement) ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นที่ 5 ตามทฤษฎีของอีริกสัน

ปัจจัยเชิงสาเหตุและปัจจัยเชิงผลของการบรรลุเอกลักษณ์แห่งตน

ที่ทำให้นักเรียนและนิสิตนักศึกษามีพัฒนาการขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 5 สมบูรณ์ขึ้น คือ
1. การอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากครอบครัว ซึ่งได้แก่การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมากและแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ (อุษา ศรีจินดารัตน์ 2533
งามตา วนินทานนท์ และคณะ 2545)
2. วิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมที่นิสิตได้เรียนรู้จากหลักสูตรระดับอุดมศึกษา
3. การได้เข้าร่วมทำกิจกรรมในชมรมต่างๆ เช่น ชมรมพุทธศาสตร์ในมหาวิทยาลัยรวมทั้งประสบการณ์ในการบวชเรียนระหว่างการศึกษา
ปัจจัยเชิงผลของพัฒนาการเอกลักษณ์แห่งตน คือ
1. เป็นพื้นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตด้านความสนิทชิดใกล้ (Intimacy Ability) ในหนุ่มสาว สามีและภรรยา (งามตา วนินทานนท์ และคณะ 2545)
2. แม่ที่บรรลุเอกลักษณ์แห่งตนมากเท่าใด ก็อบรมเลี้ยงบุตรก่อนวัยเรียนอย่างเหมาะสมเท่านั้น ทำให้บุตรมีความสามารถในการปรับตัวทางสังคมดี (ดุจเดือน พันธุมนาวิน และคณะ 2537)
3. นิสิตนักศึกษา และครูที่สามารถบรรลุเอกลักษณ์แห่งตนได้มากเท่าใด ก็มีพฤติกรรม การมีส่วนร่วมทางการเมืองและพฤติกรรมสนับสนุนการเมืองมากเท่านั้น
(นภา ปิยะศิรินันท์ 2541, ศุภชัย สุพรรณทอง 2544 และ วรรณะ บรรจง 2546)

นอกจากนี้ งามตา วนินทานนท์ และ ดุษฎี โยเหลา (2547) ยังได้วิจัยพบในคนไทยว่าพัฒนาการทางจิตสังคมขั้นที่ 1 ถึง 4 เป็นพื้นฐานของพัฒนาการเอกลักษณ์แห่งตน (ขั้นที่ 5) และพัฒนาการเอกลักษณ์แห่งตนมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านความสนิทชิดใกล้ (ขั้นที่ 6) ด้วย นับเป็นข้อค้นพบล่าสุดในคนไทยที่ยืนยันความสัมพันธ์ของพัฒนาการขั้นต่าง ๆ ตามทฤษฎี
ของอีริคสัน