รายงานการวิจัย  ฉบับที่  79                                            การศึกษาฉันทามติเกี่ยวกับการจัดบริการ                                                สถานเลี้ยงดูเด็กในประเทศไทย                                                        รศ.ดร.ดุษฎี        โยเหลา                                                         ผศ.ลัดดาวัลย์      เกษมเนตร                                                         ผศ.ประทีป          จินงี่                    บทสรุปสำหรับผู้บริหาร                         งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาฉันทามติเกี่ยวกับการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กในเรื่อง  1)  วัตถุประสงค์ของการจัดบริการ และเป้าหมายด้านคุณลักษณะของเด็ก  2)  องค์กรหลักที่เป็นผู้นำหรือแกนกลางในการจัดบริการและประสานงานระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการสถานเลี้ยงดูเด็ก  3)  บทบาทของรัฐ  ชุมชน และเอกชนในการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็ก และ 4)  กลไกเพื่อการควบคุมตรวจสอบ และประเมินคุณภาพการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็ก                        กลุ่มตัวอย่าง  ของการศึกษาฉันทามติคือ กลุ่มแรก ประกอบด้วย  กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของประเทศ  และของหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเด็กวัย 0 - 6 ปี และนักวิชาการ ได้แก่ วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดูแลเรื่องการพัฒนาเด็ก นักวิชาการเรื่องเด็ก จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน  ตลอดจนนักวิชาการในหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดบริการสถานรับเลี้ยงดู ปลัดกระทรวง อธิการบดีกรมที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ประธานมูลนิธิของเอกชน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้ประสานงานการใช้นโยบาย ได้แก่ ศึกษาธิการเขตการศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการอำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ชลบุรี นนทบุรีและศึกษาธิการเขตในกรุงเทพมหานคร   กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ครู/อาจารย์ใหญ่ หัวหน้าศูนย์ เจ้าของกิจการ เจ้าอาวาส และอิหม่าม ผู้นำองค์การบริหาร      ส่วนตำบล ครู พี่เลี้ยง และผู้ดูแลเด็ก กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มผู้รับบริการ ได้แก่ ผู้ปกครอง โดยมี กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 1,663 คน  โดยมีประเด็นที่ศึกษาในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้คือ ประเด็นแรก เรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดบริการ และเป้าหมายด้านคุณลักษณะของเด็ก ศึกษาในกลุ่มนักวิชาการ วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วัตถุประสงค์ด้านองค์กรหลักที่เป็นผู้นำหรือแกนกลาง  ในการจัดบริการศึกษาในกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประสานงานการใช้นโยบาย และผู้ปฏิบัติงาน   วัตถุประสงค์ด้านบทบาทของรัฐ ชุมชนและเอกชนในการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็ก ศึกษาในกลุ่มนักวิชาการและนักการเมือง และวัตถุประสงค์ด้านกลไกเพื่อการควบคุมตรวจสอบและประเมิน คุณภาพสถานเลี้ยงดูเด็ก  ศึกษาในกลุ่มนักวิชาการผู้ปฏิบัติงานและผู้ปกครอง                       ผลงานวิจัยที่สำคัญและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มีดังนี้                         จากผลการวิจัยพบว่า    ฉันทามติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย (0 - 6 ปี) ที่สำคัญมากที่สุดคือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการถูกต้องตามหลักวิชา และเพื่อฝึกนิสัยพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคม และเป้าหมายที่สำคัญมากที่ต้องการเกิดกับเด็กวัย 0 - 3 ปี และ 3+ - 6 ปี จากการให้บริการของสถานเลี้ยงดูเด็ก คือ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม อย่างสมดุล และมีความสุข และในเด็กวัยเรียน 3+ - 6 ปี มีเป้าหมายที่สำคัญมากเพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อ คือ มีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น รัฐจึงควรนำฉันทามติดังกล่าวไปกำหนดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญของการจัดตั้งสถานเลี้ยงดูเด็กทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสถานเลี้ยงดูเด็กทุกแห่งต้องปฏิบัติได้ตามเกณฑ์นี้ จึงจะได้รับการยอมรับในการนี้รัฐจะต้องเป็นผู้นำในการระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ปฏิบัติเพื่อการหารูปแบบเนื้อหา และวิธีการในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้สถานเลี้ยงดูเด็กแต่ละแห่ง สามารถเลือกให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของตนและจัดดำเนินการได้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายพร้อมกันนั้นรัฐจะต้องให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ  และเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ความเข้าใจตรงกันว่าวัตถุประสงค์และเป้าหมายดังกล่าวคืออะไร และทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรที่จะทำให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล                    สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ  เกี่ยวกับการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันนั้น จะเห็นว่ามีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้บริการสถานเลี้ยงดูเด็ก อายุ  0 - 6 ปี  ได้แก่  หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานของทบวงมหาวิทยาลัย  เป็นต้น  จากผลการศึกษาฉันทามติเกี่ยวกับเรื่ององค์กรหลักที่จะเป็นผู้นำหรือแกนกลางในการจัดบริการพบว่า ควรจะต้องมีองค์กรหลักรับผิดชอบดูแล การจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็ก อายุ 0 - 3 ปี คือ  กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ส่วนองค์กรหลักสำหรับสถานเลี้ยงดูเด็กวัย 3+ - 6 ปี  คือ กระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นในฐานะหน่วยงานของรัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันให้  องค์กรหลักทำหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลตลอดจนทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของกระทรวงต่างๆ ที่ดำเนินการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กอยู่แล้ว  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ  ในด้านการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติงานการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กที่ชัดเจน ตลอดจนมีองค์กรที่มีบทบาทอย่างแท้จริงในการดำเนินการและ รับผิดชอบต่องานต่าง ๆ ที่จัดขึ้น                     สำหรับการศึกษาฉันทามติเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ ชุมชน   และเอกชนในการจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กนั้นพบว่า ในการกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดบริการ และการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์นั้น ควรจะมีการจัดกลุ่มทำงาน  อันประกอบด้วยผู้แทนของ รัฐ - ชุมชน - เอกชนที่จะช่วยกันจัดทำคู่มือ  การปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมต่อไป แต่ไม่พบฉันทามติระหว่างนักการเมืองและระหว่างนักวิชาการเกี่ยวกับบทบาทร่วมกันของรัฐ - ชุมชน - เอกชน ในการร่วมกันจัดบริการสถานเลี้ยงดูเด็กวัย 0 - 6 ปี แสดงว่าคนกลุ่มนี้อาจมีความคิด หรืออาจรับทราบข้อมูลข่าวสาร    ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรมีการจัดสัมมนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ได้ข้อสรุป ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป                        ส่วนการศึกษาฉันทามติิ ด้านกิจกรรมและด้านการประกันคุณภาพ พบว่า  กิจกรรมที่มีความเร่งด่วนมากที่สุดเป็นอันดับแรกคือการกำหนดมาตรฐานการทำงาน หน่วยงานกลางควรดำเนินการจัดทำมาตรฐานด้านต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และเผยแพร่สู่สถานเลี้ยงดูเด็กให้ทั่วถึงอีกทั้งควรมีมาตรการจูงใจให้สถานเลี้ยงดูเด็กทุกแห่งมีการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยเร็ว   อย่างไรก็ตามควรกำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า (หรืออื่น ๆ ที่แสดงถึงพัฒนาการ) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของสถานเลี้ยงดูเด็กอย่างต่อเนื่อง                       การพบฉันทามติ ระหว่างนักวิชาการเกี่ยวกับดัชนีที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพของสถานเลี้ยงดูเด็กวัย 0 - 3 ปี และวัย 3+ - 6 ปี ทั้งสิ้น 27 ตัว ควรใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวิจัยและพัฒนาคุณภาพของสถานเลี้ยงดูเด็กแต่ละแห่งตามความเหมาะสม อีกทั้งควรพิจารณาดัชนีที่ผู้ปกครอง  มีฉันทามติประกอบด้วย เพราะการจัดสถานเลี้ยงดูเด็กเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการด้วย สุดท้ายคือสถานเลี้ยงดูเด็กควรใช้ข้อมูลด้านการกำกับดูแลคุณภาพภายในเพื่อการตรวจสอบกระบวนการทำงานของตนว่า ในขั้นตอนของการทำงานทั้งหมดคือวางแผน ปฏิบัติ ประเมินและปรับปรุงนั้น ได้อาศัยข้อมูลจากบุคคลหลายฝ่าย และใช้วิธีการหลายรูปแบบหรือไม่ | SWU |  | BSRI |