รายงานการวิจัยฉบับที่ 76 การตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างของแรงจูงใจภายใน : ปัจจัยที่สัมพันธ์กับแรงจูงใจภายใน โดย ผศ.ดร.อรพินทร์ ชูชม รศ.อัจฉรา สุขารมณ์ -------------------------------------------------------------------------------- การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมาย ที่จะตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างของแรงจูงใจภายใน โดยศึกษาปัจจัย ที่สัมพันธ์กับแรงจูงใจภายในในบริบทของการเรียนรู้จุดมุ่งหมายที่เฉพาะมีดังนี้ 1. เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับแรงจูงใจภายใน 2. เพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจภายในของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง 3. เพื่อเปรียบเทียบอำนาจในการอธิบายแรงจูงใจภายในจากกลุ่มปัจจัยที่ต่างกันได้แก่ ปัจจัยภูมิหลัง ปัจจัยการจูงใจ ของบิดามารดา และปัจจัยบรรยากาศในชั้นเรียน 4. เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของแรงจูงใจภายในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ นักเรียนระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 567 คน เก็บข้อมูลโดยให้นักเรียนตอบแบบสอบถามที่ใช้วัดตัวแปรต่าง ๆ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS และ AMOS ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. แรงจูงใจภายในมีความสัมพันธ์ทางบวกกับรายได้ของบิดามารดา พื้นความรู้เดิม การรับรู้การจูงใจภายใน ของบิดามารดา การรับรู้การส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเองของครูอาจารย์ วิธีการเรียนรู้แบบจัดระบบตนเอง วิธีการ เรียนรู้แบบลึก ความสามารถในการแก้ปัญหาทั่วไป ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงอุปมานเหตุผลด้วยตัวเลข และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการรับรู้การจูงใจภายนอกของบิดามารดา และวิธีการเรียนรู้ แบบผิวเผิน 2. นักเรียนหญิงมีแรงจูงใจภายในสูงกว่านักเรียนชาย 3. ปัจจัยการจูงใจของบิดามารดาสามารถอธิบายความแปรปรวนของแรงจูงใจภายในของนักเรียนชายและนักเรียน หญิงได้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ปัจจัยภูมิหลังสำหรับกลุ่มนักเรียนชาย และปัจจัยบรรยากาศในชั้นเรียนสำหรับกลุ่มนักเรียน หญิง 4. การรับรู้การจูงใจภายในของบิดามารดา ส่งผลทางบวกต่อแรงจูงใจภายในของนักเรียนมากที่สุด ในขณะที่การรับรู้การจูงใจภายนอกส่งผลทางลบต่อแรงจูงใจภายใน เช่นเดียวกับการรับรู้การส่งเสริมความเป็นตัวของ ตัวเอง มีอิทธิพลทางบวกต่อแรงจูงใจภายในของนักเรียน แต่การรับรู้การควบคุมของครูอาจารย์มีอิทธิพลทางลบต่อแรงจูงใจ ภายในของนักเรียนหญิง 5. แรงจูงใจภายในส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิธีการเรียนรู้แบบผิวเผิน วิธีการเรียนรู้แบบจัดระบบตนเอง วิธีการเรียนรู้แบบลึก ความสามารถในการแก้ปัญหาทั่วไป ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงอุปมานเหตุผลด้วยตัวเลข และ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 6. ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของแรงจูงใจภายในในบริบทการเรียนรู้สอดคล้องกับโครงสร้างทางทฤษฎีของ แรงจูงใจภายใน โดยพื้นความรู้เดิม ปัจจัยการจูงใจของบิดามารดา และบรรยากาศในชั้นเรียนมีอิทธิพลต่อแรงจูงใจภายใน และแรงจูงใจภายในส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล -------------------------------------------------------------------------------- | SWU | | BSRI |