รายงานการวิจัย  ฉบับที่  72                               "บทบาทครอบครัวในการถ่ายทอดทางการเมืองให้แก่นักเรียน                                                ประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร"                                                       ผศ.ดร. สุรวุฒิ ปัดไธสง                  การวิจัยเรื่อง  "บทบาทครอบครัวในการถ่ายทอดทางการเมืองให้แก่นักเรียนประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร"  มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา  3  ประการคือ  1) เพื่อศึกษาว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีลักษณะประชาธิปไตยเด็กจะมีความรู้หรือได้รับผลจากการถ่ายทอดทางการเมืองเพียงใด  2)  เพื่อศึกษาว่าครอบครัวที่แสดงบทบาทการถ่ายทอดทางการเมือง  คือ การพูดคุย  หรือสื่อสารทางการเมืองต่างกัน เด็กจะได้รับผลของการถ่ายทอดทางการเมืองต่างกันหรือไม่  และ  3) เพื่อศึกษาว่าวิธีการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย และบทบาทครอบครัวในการพูดคุยหรือสื่อสารทางการเมืองระหว่างกันภายในครอบครัว  จะสามารถร่วมกันทำนายผลของการถ่ายทอดทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด                 โดยตัวแปรอิสระ ที่ศึกษามี  2  ตัวแปร  คือ  การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย   และการสื่อสารทางการเมือง  ส่วนตัวแปรตามที่ศึกษา  คือ ผลของการถ่ายทอดทางการเมือง  ซึ่งศึกษาเป็นผลรวมใน  3  ด้านคือ  ความไว้วางใจทางการเมือง ความมีประสิทธิภาพทางการเมือง  และการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการวิจัยนี้ศึกษาเด็กระดับชั้นประถมศึกษาที่ถูกสุ่มมาจากประชากรที่เป็นนักเรียนประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน  775  คน  โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นแบบสอบถามแบบวัดจำนวน  1  ฉบับ  จำแนกออกเป็น  2  ตอน  คือ  ตอนที่  1  เป็นแบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนตัวของเด็ก  อันได้แก่  เพศ  ระดับชั้นเรียนบุคคลที่นักเรียนอาศัยอยู่ โดยจำแนกออกเป็นอาศัยอยู่กับพ่อแม่  หรืออาศัยอยู่กับผู้อื่น  และระดับการศึกษาของพ่อแม่บุคคลที่อาศัยอยู่  ส่วนตอนที่  2  เป็นแบบวัดตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม โดยตัวแปรอิสระ  ได้แก่ แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย  จำนวน  40  ข้อ  ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดทั้งฉบับเท่ากับ  .83  และแบบวัดการสื่อสารทางการเมืองในครอบครัวจำนวน  15  ข้อค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดทั้งฉบับเท่ากับ  .82                สำหรับตัวแปรตาม  ได้แก่  ผลของการถ่ายทอดทางการเมือง จำนวน  45  ข้อค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดทั้งฉบับเท่ากับ  .68   รวมเป็นแบบวัดที่ใช้ในการวิจัยนี้ทั้งหมด100  ข้อ  โดยแต่ละข้อมีมาตรประเมินค่าประกอบ  4  ระดับ            ส่วนการวิเคราะห์ผลการวิจัยใช้สถิติ  t-test   เพื่อวิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนกรายข้อของแบบวัดและใช้ในการทดสอบสมมติฐานและใช้สถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน  (Multiple Regression Analysis Stepwise)  ในการทดสอบสมมติฐานส่วนการวิเคราะห์คุณภาพของแบบวัดทั้งฉบับใช้การวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แอลฟา(a -Coefficient) ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และใช้โปรแกรมสำเร็จรูปSPSS PC+           ผลการวิจัยพบว่า  สอดคล้องกับสมมติฐาน  2  ข้อและสอดคล้องกับสมมติฐานเป็นบางส่วน  1  ข้อ  ซึ่งสรุปได้  3  ประการคือ  ประการแรก เด็กนักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยมาก ได้รับผลการถ่ายทอดทางการเมืองมากกว่าเด็กนักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยน้อย  โดยมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .001  ประการที่สอง  เด็กนักเรียนที่มีการสื่อสารทางการเมืองภายในครอบครัวสูงได้รับผลของการถ่ายทอดทางการเมืองสูงกว่าเด็กนักเรียนที่มีการสื่อสารทางการเมืองภายในครอบครัวน้อย  โดยมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .001  ประการที่สาม  ผลการทำนายผลการถ่ายทอดทางการเมือง พบว่า  มีเพียงตัวแปรเดียว  คือการสื่อสารทางการเมือง  เป็นตัวแปรที่เข้าสู่สมการทำนาย  โดยปริมาณทำนายได้ร้อยละ  30                                            | SWU |   | BSRI |