ปัจจัยบ่งชี้สาเหตุการใช้และการติดสารระเหยของเด็กและเยาวชน ในเขตกรุงเทพมหานครและในจังหวัดยโสธร -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 63 คณะผู้วิจัย ดุษฏี โยเหลา ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร ชัยวัฒน์ วงศ์อาษา ปีที่พิมพ์ 2540 งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สารระเหย และเพื่อระบุสาเหตุของการใช้และการติดสารระเหยโดยใช้กรอบแนวคิดจากทฤษฏีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเจสเซอร์และคณะ (Jessor R. and others) กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยประกอบด้วย เด็กและเยาวชนที่ติดสารระเหย จำนวน 298 คน เด็กและเยาวชนที่ไม่ใช้สารระเหย จำนวน 298 คน บิดามารดาของผู้ติดสารระเหย 56 คน ผู้นำชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของสารระเหย 46 คน การเก็บข้อมูลใช้การสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม 3 ฉบับ ตัวแปรที่ศึกษาประกอบด้วย ตัวแปรอิสระคือ ความผูกพันกับกลุ่มเพื่อน ความผูกพันกับครอบครัว ความภาคภูมิใจในตนเอง การเผชิญความเครียด การต่อต้านบรรทัดฐานของสังคม บุคลิกภาพชอบท้าทาย ความกลมเกลียวในครอบครัว ปริมาณการใช้สารเสพติดในครอบครัว จำนวนเพื่อนที่ใช้สารเสพติด การควบคุมในครอบครัว การควบคุมในโรงเรียน และความรักสนับสนุนในครอบครัว ตัวแปรตามคือ การใช้และไม่ใช้สารระเหย ทัศนคติทางบวกต่อการใช้สารระเหย และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการไม่ใช้สารระเหย นอกจากนี้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของชุมชน การลงโทษ การให้รางวัลและพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่ใช้สารระเหย การวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบหลายตัวแปร (MANOVA) การวิเคราะห์จำแนกแบบเพิ่มตัวแปรทีละขั้น (Stepwise Discriminant Analysis) และการวิเคราะห์คาโนนิคอล (Canonical Analysis) ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้ 1. กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้สารระเหยประเภทกาวกระป?อง และพบว่าในอดีตเคยใช้สารเสพติด ประเภทอื่นมาก่อน สาเหตุที่ใช้ผู้ใช้รายงานว่าเป็นเพราะอยากลอง และเพราะถูกชวนในสถานการณ์ที่อยู่ในกลุ่มเพื่อน เมื่อใช้สารระเหยแล้ว ผู้ใช้ส่วนใหญ่บอกว่าเพิ่มเวลาในการสูดดมแต่ละครั้งมากขึ้น และผู้ใช้รายงานว่าขณะที่ใช้สารระเหยก็ใช้สารเสพติดอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย 2. ตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้สาเหตุการใช้สารระเหยของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานคร คือจำนวนเพื่อนที่ใช้สารเสพติด ความภาคภูมิใจในตนเองด้านครอบครัว และบุคลิกภาพชอบท้าทาย โดยมีรายละเอียดคือ เด็กและเยาวชนที่ใช้สารระเหยมีเพื่อนที่ใช้สารเสพติดมาก มีความภาคภูมิใจในตนเองด้านครอบครัวต่ำ และมีบุคลิกภาพชอบท้าทายสูง ผลการสัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กที่ใช้สารระเหยพบว่า พ่อแม่ส่วนหนึ่งใช้การลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด และเมื่อให้รางวัลกับพฤติกรรมดีจะให้เป็นวัตถุและเงิน 3. ตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้สาเหตุการใช้สารระเหยของเด็กและเยาวชนในจังหวัดยโสธร คือ จำนวนเพื่อนที่ใช้สารเสพติด ปริมาณการใช้สารเสพติดในครอบครัว ความกลมเกลียวในครอบครัวบุคลิกภาพชอบท้าทาย และการต่อต้านบรรทัดฐานของสังคม โดยพบว่า เด็กและเยาวชนที่ใช้สารระเหยมีเพื่อนที่ใช้สารเสพติด ปริมาณการใช้สารเสพติดในครอบครัว บุคลิกภาพชอบท้าทาย การต่อต้านบรรทัดฐานของสังคมสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารระเหย แต่มีความกลมเกลียวในครอบครัวต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารระเหย ผลการสัมภาษณ์พ่อแม่ของผู้ใช้สารระเหย พบว่า พ่อแม่ไม่มีวิธีการในการควบคุมพฤติกรรมของลูก เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่ดีจะปล่อยเฉย เมื่อลูกทำความดีจะให้รางวัลโดยเน้นที่เงินและสิ่งของ 4. ตัวแปรสำคัญที่สัมพันธ์กับทัศนคติทางบวกต่อการใช้สารระเหย และการรับรู้ความสามารถในการไม่ใช้สารระเหยคือความผูกพันกับกลุ่มเพื่อน การต่อต้านบรรทัดฐานของสังคม บุคลิกภาพชอบท้าทาย ความภาคภูมิใจในตนเองด้านครอบครัวและการเเผชิญความเครียดแบบเน้นอารมณ์ 5. ชุมชนที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของสารระเหย มีข้อเสนอแนะเเพื่อการป้องกันการใช้สารระเหยของเยาวชน คือ จัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่เด็กในชุมชน ให้มีกิจกรรม กี?าเพื่อการพักผ่อนและออกกำลังกาย หางานให้ทำ และระมัดระวังมิให้มีการขายสิ่งเสพติดในชุมชน ข้อเสนอแนะในการป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนใช้สารระเหยจากงานวิจัยนี้คือ ครอบครัว ควรสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง กล่าวคือ ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดในครอบครัวและดูแลการคบเพื่อนของลูกอย่างใกล้ชิด โรงเรียนควรมีกฏ ระเบียบที่ชัดเจน ในการส่งเสริมพฤติกรรมดี และลดพฤติกรรมไม่ดี นอกจากนี้ควรลดอิทธิพลของบุคลิกภาพชอบท้าทายในวัยรุ่น ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขผู้ที่ติดสารระเหยแล้ว อาจทำโดยการลดทัศนคติทางบวกต่อสารระเหย และเพิ่มการรับรู้ความสามารถในการไม่ใช้สารระเหย ซึ่งในการพัฒนาลักษณะทั้งสองนี้ให้คำนึงถึงลักษณะด้านการรับรู้สิ่งแวดล้อมได้แก่ความผูกพันกับกลุ่มเพื่อนและลักษณะด้านบุคลิก ภาพ ได้แก่การต่อต้านบรรทัดฐานของสังคม บุคลิกภาพชอบท้าทาย ความภาคภูมิใจในตนเองด้านครอบครัว และรูปแบบการเผชิญความเครียดแบบเน้นอารมณ์ --------------------------------------------------------------------------------