องค์ประกอบทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการเลือกงานของ นิสิตระดับปริญญาตรีรายงานการวิจัยฉบับที่ 62คณะผู้วิจัย อัจฉรา สุขารมณ์ อรพินทร์ ชูชม ทัศนา ทองภักดีปีที่พิมพ์ 2540การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการประการแรก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี กับภูมิหลังของครอบครัวและลักษณะทางชีวสังคมประการที่สอง เพื่อจำแนกว่าองค์ประกอบทางจิตวิทยาตัวใดที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ได้แก่ นิสิตระดับปริญญาตรี ปีที่ 4ทุกวิชาเอกและทุกคณะที่สามารถติดต่อได้ในภาคปลายปีการศึกษา 2536 จำนวนทั้งสิ้น 365 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามภูมิหลังของนิสิต แบบสำรวจวุฒิภาวะทางอาชีพ แบบสอบถามค่านิยมทางอาชีพ แบบสอบถามการเลือกอาชีพ แบบสอบถามแรงจูงใจในการเลือกอาชีพ และแบบสำรวจบุคลิกภาพการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรีกับภูมิหลังของครอบครัวและลักษณะชีวสังคม โดยใช้การทดสอบค่าไคสแควร์ (Chi-Square Test) หาความสัมพันธ์ระหว่างวุฒิภาวะทางอาชีพ ค่านิยมในอาชีพ แรงจูงใจในการเลือกอาชีพ และบุคลิกภาพเก็บตัว-แสดงตัว ของนิสิตระดับปริญญาตรี โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient) และใช้สถิติวิเคราะห์จำแนกประเภท (Discriminant Analysis) เพื่อจำแนกลักษณะการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี ตามตัวแปร วุฒิภาวะทางอาชีพ ค่านิยมในอาชีพ แรงจูงใจในการเลือกอาชีพ และบุคลิกภาพผลการวิจัยพบว่า1. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี กับภูมิหลังของครอบครัวและลักษณะทางชีวสังคม พบว่า คณะที่เรียน และรายได้ของบิดามารดามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี โดยที่ เพศ อาชีพของบิดา มารดา การศึกษาของบิดามารดา และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนอกหลักสูตร ไม่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชีพ การเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี2. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทางจิตวิทยาของนิสิตระดับปริญญาตรีพบว่า วุฒิภาวะทางอาชีพ ค่านิยมในอาชีพ และบุคลิกภาพ ต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในทางบวก ส่วนแรงจูงใจในการเลือกอาชีพ มีความสัมพันธ์ทางลบกับวุฒิภาวะทางอาชีพ3. องค์ประกอบทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรีพบว่า แรงจูงใจในการเลือกอาชีพและบุคลิกภาพมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อการจำแนกกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรี ส่วนวุฒิภาวะทางอาชีพ และค่านิยมในอาชีพไม่พบว่าสามารถจำแนกกลุ่มอาชีพการเลือกงานของนิสิตระดับปริญญาตรีได้