ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำของครูประถมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครรายงานการวิจัยฉบับที่ 59ผู้วิจัย ดุษฎี โยเหลา ประทีป จินงี่ปีที่พิมพ์ 2539งานวิจัยเรื่องนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาปริมาณการแสดงพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำ อธิบายและทำนายความตั้งใจจะอนุรักษ์น้ำและพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำด้วยตัวแปรจากทฤษฎีการกระทำด้วยเหตุผลและจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเสนอโมเดลที่ใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำ ในกลุ่มครูประถมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร พฤติกรรมที่ศึกษาประกอบด้วยพฤติกรรมประหยัดน้ำ ไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำและขุดลอกท่อระบายน้ำกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยครูจำนวน 1,148 คน ได้มาจากการสุ่มโรงเรียนที่อยู่ในเขตการปกครองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร จำนวน 23 โรงเรียน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้เครื่องมือวัดต่อไปนี้ พฤติกรรมอนุรักษ์น้ำ ความตั้งใจที่จะอนุรักษ์น้ำ ทัศนคติต่อการทำพฤติกรรมอนุรักษ์น้ำ (ทางตรงและทางอ้อม) การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (ทางตรงและทางอ้อม) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการอนุรักษ์น้ำ ความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาความสกปรกของน้ำ ค่าน้ำที่เสีย และสภาวะการเป็นผู้จ่ายค่าน้ำ และการรับรู้การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดของน้ำของคนในสังคม และเก็บข้อมูลตัวแปรชีวสังคม คือ เพศ อายุ และระดับการศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติเชิงพรรณาคือ X และ SD และสถิติในการทดสอบสมมติฐาน คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวน การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร การเปรียบเทียบด้วย t-test การวิเคราะห์อิทธิพล (Path Analysis)ผลการวิจัยมีดังนี้1. ครูมีพฤติกรรมประหยัดน้ำ และไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำปานกลาง แต่มีพฤติกรรมขุดลอกท่อระบายน้ำต่ำ2. โมเดลที่อธิบายพฤติกรรมประหยัดน้ำประกอบด้วยตัวแปรที่สำคัญคือ ความตั้งใจจะประหยัดน้ำ ทัศนคติต่อการประหยัดน้ำวัดทางอ้อม (ความเชื่อเกี่ยวกับผลการประหยัดน้ำ และการประเมินผลของการกระทำ) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการประหยัดน้ำ โดยพบว่าความตั้งใจจะประหยัดน้ำส่งผลทางตรงต่อพฤติกรรม โดยมีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .338 ทัศนคติต่อการประหยัดน้ำ (วัดทางอ้อม) ส่งผลทางตรงต่อความตั้งใจ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .465 และ การรับรู้ความสามารถของตนเองในการประหยัดน้ำส่งผลทางตรงต่อความตั้งใจมีสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .129 สัมประสิทธิ์มาตรฐานทุกตัวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .053. โมเดลที่อธิบายพฤติกรรมไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ ประกอบด้วยตัวแปรที่สำคัญคือ ความตั้งใจที่จะไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ ทัศนคติต่อการทิ้งขยะลงในน้ำ วัดทางอ้อม (ความเชื่อเกี่ยวกับผลการทิ้งขยะลงในน้ำและการประเมินผลการกระทำ) การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง วัดทางตรง และสุดท้ายคือ การรับรู้ความสามารถของตนเองในการไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ โดยพบว่าความตั้งใจมีผลทางตรงต่อพฤติกรรม มีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .361 ความเชื่อเกี่ยวกับผลการทิ้งขยะลงในน้ำและการประเมินผลการกระทำมีผลทางตรงต่อความตั้งใจ มีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .17 การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงมีผลทางตรงต่อความตั้งใจ และสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .136 การรับรู้ความสามารถของตนเองในการไม่ทิ้งขยะลงในน้ำมีผลทางตรงต่อความตั้งใจค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .41 สัมประสิทธิ์ที่กล่าวถึงข้างต้นทุกตัวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .054. โมเดลที่อธิบายพฤติกรรมขุดลอกท่อระบายน้ำประกอบด้วยตัวแปรที่สำคัญคือ ความตั้งใจที่จะขุดลอกท่อระบายน้ำ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง วัดทางตรง และการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงวัดทางอ้อม (ความเชื่อเกี่ยวกับกลุ่มอ้างอิงและแรงจูงใจจะคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง) และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการขุดลอกท่อระบายน้ำ โดยพบว่าการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงและความตั้งใจมีผลทางตรงต่อพฤติกรรม มีค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐาน .17 และ .16 ตามลำดับ และการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง วัดทางอ้อม การรับรู้ความสามารถของตนเองในการขุดลอกคูคลอง มีผลทางตรงต่อความตั้งใจ ค่าสัมประสิทธิ์มาตรฐานเป็น .27 และ .34 ตามลำดับ สัมประสิทธิ์ที่กล่าวถึงข้างต้นทุกตัวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05การเสริมสร้างพฤติกรรมประหยัดน้ำ พฤติกรรมไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ และพฤติกรรมขุดลอกท่อระบายน้ำ เมื่อพิจารณาจากผลการวิจัยข้างต้นแล้วพบว่า ตัวแปรสำคัญที่ควรส่งเสริม คือความเชื่อเกี่ยวกับผลของการประหยัดน้ำ ความเชื่อเกี่ยวกับผลของการทิ้งขยะลงในน้ำ ความเชื่อว่ากลุ่มอ้างอิงต้องการให้มีพฤติกรรมไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ ขุดลอกท่อระบายน้ำ และควรส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ความสามารถของตนเองในการประหยัดน้ำ ไม่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ และขุดลอกท่อระบายน้ำตามแนวทฤษฎีของแบนดูรา