ลักษณะทางพุทธศาสนาและจิตสังคมของครูมัธยมศึกษาที่เกี่ยวข้อง กับการถ่ายทอดทางศาสนา -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 58 ผู้วิจัย อ้อมเดือน สดมณี ปีที่พิมพ์ 2539 งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อศึกษาว่าครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาทต่ำจะถ่ายทอดทางศาสนาให้แก่นักเรียนแตกต่างจากครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และปรากฎในครูประเภทใดบ้าง ประการที่สองเพื่อศึกษาว่าครูที่สามารถถ่ายทอดทางศาสนาได้มากนั้นจะมีลักษณะทางพุทธ และลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ใดบ้าง มากน้อยเพียงใด ประการที่สาม เพื่อศึกษาเปรียบเทียบว่าปริมาณความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพุทธ ลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์กับการถ่ายทอดทางศาสนาของกลุ่มครูโรงเรียนราษฏร์ แตกต่างจากกลุ่มครูโรงเรียนรัฐบาลหรือไม่มากน้อยเพียงใดและปรากฎในกลุ่มครูโรงเรียนราษฏร์และครูโรงเรียนรัฐบาลประเภทใดบ้าง กลุ่มตัวอย่างเป็นครู 385 คน จากโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ และสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร ในปีการศึกษา 2536 สุ่มตัวอย่าง โดยใช้วิธี Multi-Stage Random Sampling ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ (1) ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะทางศาสนาของครู 3 ตัวแปร ได้แก่ ความเชื่อทางพุทธ การปฎิบัติทางพุทธ และวิถีชีวิตแบบพุทธ (2) ตัวแปรทางพฤติกรรมศาสตร์ 5 ตัวแปร ได้แก่ ทัศนคติต่อนักเรียน สุขภาพจิต ความเชื่ออำนาจในตน งานตรงอุปนิสัย ความขัดแย้งระหว่างบทบาท (3) ตัวแปรลักษณะทั่วไปของครู (4) ตัวแปรการถ่ายทอดทางศาสนา การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง และวิธีวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณแบบเพิ่มตัวแปรทีละขั้นทั้งในกลุ่มรวม และกลุ่มย่อยตามลักษณะชีวสังคม ผลการวิจัยที่สำคัญมี 3 ประการคือ ประการแรกเกี่ยวกับความขัดแย้งกับการถ่ายทอดทางศาสนา (1.1)พบว่าครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูงจะถ่ายทอดทางศาสนาต่ำกว่าครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาทต่ำกว่า (1.2) ในกลุ่มครูที่มีลักษณะทางพุทธสูง ครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูง ครูโรงเรียนรัฐบาล จะถ่ายทอดทางศาสนามากกว่าครูโรงเรียนราษฏร์ ประการที่สอง ลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์กับการถ่ายทอดทางศาสนา (2.1)ในกลุ่มรวมทั้งโรงเรียนราษฏร์และรัฐบาลถ้าครูมีความเชื่อทางพุทธสูงจะถ่ายทอดทางศาสนามากกว่าครูที่มีความเชื่อทางพุทธต่ำกว่า (2.2) กลุ่มครูเพศหญิง กลุ่มครูไม่ใช่ครูประจำชั้น ถ้ามีความเชื่ออำนาจในตนสูง สามารถถ่ายทอดทางศาสนาสูงกว่าครูที่มีความเชื่ออำนาจในตนต่ำกว่า (2.3) ในกลุ่มรวม ครูที่มีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียนสูงจะมีการถ่ายทอดทางศาสนามากกว่าครูที่มีทัศนคติที่ดีต่อเด็กต่ำกว่า (2.4) กลุ่มเพศชาย ครูที่มีความขัดแย้งระหว่างบทบาท (สิทธิ) มากด้วยกัน และมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียนสูงจะสามารถถ่ายทอดทางศาสนาสูงกว่าครูที่มีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียนต่ำกว่า ประการที่สาม ตัวแปรทางพฤติกรรมศาสตร์ ที่ทำนายการถ่ายทอดทางศาสนาของครู (3.1) ในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยทั้ง 8 กลุ่ม ตัวทำนายที่สำคัญคือลักษณะทางพุทธ ส่วนความเชื่อทางพุทธ ทำนายได้ในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม นอกจากนี้มีตัวทำนายอื่น ๆ อีก ได้แก่ งานตรงอุปนิสัย ความเชื่ออำนาจในตน ความขัดแย้งระหว่างหน้าที่ (3.2) ในกลุ่มครูรัฐบาลตัวทำนายที่สำคัญคือ ลักษณะทางพุทธ และงานตรงอุปนิสัย (3.3) ในกลุ่มครูโรงเรียนราษฏร์ ตัวทำนายที่สำคัญคือลักษณะทางพุทธ ความเชื่อทางพุทธ และความขัดแย้งระหว่างบทบาท (หน้าที่) งานวิจัยลักษณะของครูกับการถ่ายทอดทางศาสนา พอจะเห็นภาพรวมได้ว่า (1) ถ้าครูมีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูงสามารถถ่ายทอดทางศาสนาต่ำ (2)ครูโรงเรียนรัฐบาลที่มีลักษณะทางพุทธสูงถึงแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูง สามารถถ่ายทอดทางศาสนามากกว่าครูโรงเรียนราษฏร์ (3) แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูง แต่ถ้าทัศนคติต่อนักเรียนดีสูงกว่า ครูสามารถถ่ายทอดทางศาสนามากกว่าครูที่มีทัศนคติต่อนักเรียนดีต่ำกว่า (4) ตัวทำนายการถ่ายทอดที่สำคัญที่สุดคือ ลักษณะทางพุทธ (5) ในกลุ่มมีครูโรงเรียนราษฏร์ตัวทำนายที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างหน้าที่ ที่กล่าวมาพบว่าความขัดแย้งระหว่างบทบาทมีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางศาสนา อย่างไรก็ตามแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างบทบาทสูง ครูที่มีลักษณะทางพุทธสูงมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียนสูง ครูจะมีการถ่ายทอดทางศาสนาสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีการเสริมสร้างพัฒนาลักษณะทางพุทธ ครูจะมีการถ่ายทอดทางศาสนาสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมีการเสริมสร้างพัฒนาลักษณะทางพุทธ ความเชื่อทางพุทธ ทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน ความเชื่ออำนาจในตน ให้แก่ครูและให้ครูระลึกรู้ (realization) ถึงความสำคัญของตนเองในการถ่ายทอดทางศาสนาให้แก่เด็ก --------------------------------------------------------------------------------