ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการติดยาเสพติดของเยาวชน รายงานการวิจัยฉบับที่ 55 คณะผู้วิจัย ผจงจิต อินทสุวรรณ, วิลาสลักษณ์ ชัววัลลี ประทีป จินงี่, สุภาพร ธนะชานันท์ อัมพรพันธุ์ บัววิรัตน์, วชิราพร อัจฉริยโกศล ปีที่พิมพ์ 2539 การวิจัยนี้มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาว่าปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในตัวบุคคล ตัวใดบ้างที่สามารถจำแนกผู้ติดยาเสพติดและผู้ที่ไม่ติดยาเสพติดออกจากกันได้ และเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของผู้ติดยาเสพติด ปัจจัยภายนอกที่ศึกษาคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และสื่อมวลชน ส่วนปัจจัยภายในคือ ลักษณะทางบุคลิกภาพของเด็ก รวมเป็นตัวแปรทั้งสิ้น 10 ตัวแปร ผลการวิจัยพบว่า ข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มเสพติดมีอายุเฉลี่ย 18.3 ปี โดยที่กลุ่มเสพติดสารระเหยมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มเสพติดเฮโรอีนเล็กน้อย ส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา อาชีพอันดับแรกคือ อาชีพรับจ้าง และอันดับที่สองคือ ไม่ได้ทำงาน อันดับการศึกษากลุ่มเสพติดเฮโรอีนส่วนมากจบมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มเสพติดสารระเหยจบชั้นประถมศึกษา กลุ่มเสพติดร้อยละ 89 เป็นโสด และส่วนมากอาศัยอยู่กับบิดามารดา (ร้อยละ 70) บิดามารดาอยู่ด้วยกันร้อยละ 59 ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาอยู่ในระดับปานกลาง (ทะเลาะกันเป็นบางครั้ง) จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 5.2 คน รายได้ของทุกคนในบ้านรวมกัน กลุ่มเสพติดเฮโรอีนสูงกว่ากลุ่มเสพติดสารระเหยเล็กน้อย (ฐานนิยมกลุ่มเฮโรอีนอยู่ในช่วง 5,001-10,000 บาท กลุ่มสารระเหยอยู่ในช่วงต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน) กลุ่มนักเรียนร้อยละ 76 อาศัยอยู่กับบิดามารดา และบิดามารดาอยู่ด้วยกันร้อยละ 84 ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาราบรื่นดีเป็นส่วนมาก รายได้ของทุกคนในบ้านรวมกันสูงกว่ากลุ่มเสพติด โดยที่กลุ่มนักเรียน ม.5 มีสูงกว่ากลุ่มนักเรียน ปวช. ปี 2 เล็กน้อย (ฐานนิยมกลุ่มนักเรียน ม.5 อยู่ในช่วงสูงกว่า 20,000 และกลุ่ม ปวช.ปี 2 อยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน) ผลการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม 1. นักเรียนทั้งสองกลุ่ม (กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2) แตกต่างจากผู้ติดยาเสพติดทั้งสองกลุ่ม (กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4) อย่างเด่นชัดในตัวแปรการรับรู้ความสามารถของตนเกี่ยวกับยาเสพติด ความเชื่อเกี่ยวกับยาเสพติด มโนภาพแห่งตน และการควบคุมตน หมายความว่านักเรียนตัดสินได้ว่าในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาาต่าง ๆ ตนมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงยาเสพติดได้สูงกว่าควบคุมตนให้กระทำพฤติกรรมในทางที่ดีได้มากกว่า มีความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองทั้งในด้านวิชาการและไม่ใช่วิชาการได้ดีกว่า แต่มีความเชื่อเกี่ยวกับผลของยาเสพติดไม่ถูกต้องนักเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ติดยาเสพติดเฮโรอีน/สารระเหย 2. นักเรียนกลุ่มที่ 2 (นักเรียนที่ไม่เคยเสพติด) และกลุ่มเสพติดเฮโรอีน (กลุ่มที่ 3) มีความสัมพันธ์กับมารดาแตกต่างจากนักเรียนกลุ่มที่ 1 (นักเรียนที่เคยเสพติด) และกลุ่มเสพติดสารระเหย (กลุ่มที่ 4) กล่าวคือ นักเรียนที่ไม่เคยเสพติดและผู้เสพติดเฮโรอีน มีความสัมพันธ์กับมารดาอบอุ่นกว่ามีความใกล้ชิดมากกว่า และเข้ากันได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่เคยเสพติดและผู้เสพติดสารระเหย แต่ความแตกต่างนี้ไม่ชัดเจนเท่าในข้อ 1 กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มทั้งนักเรียนและผู้เสพติดมีความสัมพันธ์กับมารดาดีกว่าบิดาโดยเฉพาะ กลุ่มเสพติดส่วนใหญ่มีความห่างเหินกับบิดา บิดาเป็นตัวแบบในการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอร์และบุหรี่ มากกว่าบุคคลใดในครอบครัว นอกจากนี้เมื่อบิดาเมาสุราแล้วมีการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัวด้วย (ส่วนใหญ่เนื่องมาจากมารดาบ่นว่า) 3. มีแนวโน้มว่านักเรียนได้รับอิทธิพลของเพื่อน (ขึ้นอยู่กับเพื่อน) สูงกว่า และมีทัศนคติต่อการดูแลสุขภาพดีกว่าผู้ติดยาเสพติด แต่ตัวแปรเหล่านี้ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้ดีเท่าตัวแปรที่กล่าวในข้อ 1 และข้อ 2 ส่วนทัศนคติต่อประสบการณ์ในโรงเรียน และการยอมตาม ทั้งสี่กลุ่มอยู่ในระดับเดียวกัน 4. อิทธิพลของสื่อ 4.1 ในกลุ่มเสพติดอายุที่เริ่มเสพเป็นครั้งแรก สำหรับกลุ่มเฮโรอีนคือ 17.3 ปี กลุ่มสารระเหย 16.3 ปี สาเหตุที่เสพครั้งแรกคืออยากลองเองเป็นอันดับแรก และอยากลองตามคำแนะนำของเพื่อนเป็นอันดับถัดมา ยาเสพติดชนิดอื่นที่เคยเสพคือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกัญชา สื่อมวลชนที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการเสพเฮโรอีน/สารระเหยคือ ภาพยนตร์ (สูงเด่นชัดมาก) อันดับถัดลงมาคือโทรทัศน์ ส่วนสื่อบุคคลที่มีอิทธิพลสูงสุดคือเพื่อน ถัดลงมาคือเพื่อนสนิท ข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายหรือผลของการเสพเฮโรอีน/สารระเหยได้รับจากสื่อต่อไปนี้ 4 อันดับแรกเรียงจากสูงไปต่ำ บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ โทรทัศน์ และแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ ส่วนการจำข่าวสารดังกล่าวได้นั้นจำจาก (เรียงจากสูงไปต่ำ) โทรทัศน์ บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ภาพยนตร์ ครู-อาจารย์ และหนังสือพิมพ์ 4.2 กลุ่มนักเรียนร้อยละ 55 (269 คนจาก 489 คน) ระบุว่าเคยเสพสารเสพติด และร้อยละ 43 (208 คน) ระบุว่าไม่เคยเสพติด สิ่งที่เคยเสพอันดับแรกเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันดับที่สองคือ บุหรี่ และอันดับที่สามคือ กัญชา มีนักเรียนที่ระบุว่าเคยเสพเฮโรอีนและสารระเหย จำนวน 14 และ 17 คน ตามลำดับ ในจำนวนนักเรียนที่ระบุว่าเคยเสพนั้นนักเรียนชั้น ม.5 ร้อยละ 90 และ นักเรียนชั้น ปวช.ปี 2 ร้อยละ 71 ระบุว่าได้เลิกแล้ว นักเรียนแม้ว่าจะรายงานว่าเสพเฮโรอีน/สารระเหยน้อยมาก แต่ได้รายงานว่าได้รับ ข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายหรือผลของสารดังกล่าวจากสื่อต่าง ๆ ต่อไปนี้ 3 อันดับแรก (เรียงจากสูงไปต่ำ) ครู-อาจารย์ บิดามารดาหรือผู้ปกครอง และโทรทัศน์ ส่วนการจำได้นั้นจำจาก (เรียงสูงไปต่ำ) บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ และหนังสือพิมพ์ 4.3 ทั้งนักเรียนและผู้เสพติด (ร้อยละ 84.1 และ 57.2 ตามลำดับ) เชื่อและกลัวอันตรายหรือผลของการเสพเฮโรอีน/สารระเหยที่ได้รับข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกัน และ/หรือวิธีการบำบัดรักษาการเสพเฮโรอีน/สารระเหย แนวโน้มของการปฏิบัติตามคำแนะนำคือ ผู้ที่เชื่อและกลัว ปฏิบัติตามมากกว่าไม่ปฏิบัติตาม ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อและผู้ที่ไม่กลัวนั้นไม่ปฏิบัติตามมากกว่าปฏิบัติตาม