การอบรมเลี้ยงดูและตัวแปรทางบุคลิกภาพบางตัวในฐานะที่เป็นตัวทำนาย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับประถมศึกษา : การศึกษาระยะยาว -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 54 คณะผู้วิจัย ผจงจิต อินทสุวรรณ วิลาสลักษณ์ ชัววัลลี ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร ปีที่พิมพ์ 2538 การศึกษาระยะยาวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาพัฒนาการในตัวแปรด้านเกี่ยวกับสมองและตัวแปรด้านที่ไม่เกี่ยวกับสมองของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา (2) เพื่อศึกษาการฝึกให้ลูกพึ่งตนเองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และ (3) เพื่อหาตัวทำนายที่สำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การศึกษานี้ติดตามนักเรียนในกรุงเทพ? และจังหวัดใกล้เคียง จากชั้น ป.1 ถึง ป.6 กลุ่มตัวอย่างเริ่มแรก (ป.1) จำนวน 380 คน และในปีสุดท้าย (ป.6) เหลือจำนวน 266 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ปกครอง ลักษณะของผู้ปกครอง ผู้ปกครองที่ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นแม่ (58%) รองลงมาเป็นพ่อ (29%) และนอกนั้นเป็นญาติใกล้ชิด (13%) สัดส่วนของพ่อที่มาให้ข้อมูลสำหรับกลุ่มในกรุงเทพ? มีสูงกว่ากลุ่มต่างจังหวัดเล็กน้อย ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ (พิจารณาจากระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้) แต่มีแนวโน้มว่าผู้ปกครองในกรุงเทพ? มีระดับการศึกษาสูงกว่าผู้ปกครองต่างจังหวัดข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกให้เด็กพึ่งตนเอง เมื่อพิจารณาโดยรวมผู้ปกครองในกรุงเทพ? และต่างจังหวัด ฝึกให้ลูกพึ่งตนเองในระดับใกล้เคียงกัน เมื่อพิจารณาแยกตามองค์ประกอบย่อยจะเห็นความแตกต่างขึ้นมาบ้างแต่ไม่มากนัก คือ ผู้ปกครองในต่างจังหวัดฝึกให้ลูกพึ่งตนเองด้านทักษะพื้นฐาน ความอดทนและการมีมารยาท และการทำงานและสังคม ในระดับที่สูงกว่าผู้ปกครองในกรุงเทพ? เล็กน้อย และในทางตรงกันข้ามผู้ปกครองในกรุงเทพ? ฝึกให้ลูกพึ่งตนเองด้านการตัดสินใจด้วยตนเอง การดูแลรักษาสิ่งของเงินทอง และความรับผิดชอบ ในระดับที่สูงกว่า ผู้ปกครองต่างจังหวัด สำหรับอายุที่คาดหวัง ผู้ปกครองในกรุงเทพ? คาดว่าลูกจะทำกิจกรรม ต่างๆ ได้เร็วกว่าผู้ปกครองต่างจังหวัด ผู้ปกครองในกรุงเทพ? คาดว่าลูกจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เร็วกว่าผู้ปกครองต่างจังหวัดในทุกด้าน อายุที่คาดหวังเร็วกว่ามีช่วงระหว่าง .38 ปี - 1.3 ปี ด้านที่คาดหวังแตกต่างกันมากที่สุดคือ การตัดสินใจด้วยตนเอง นั่นคือผู้ปกครองในกรุงเทพ? คาดว่าลูกจะตัดสินใจได้ด้วยตนเองเร็วกว่าผู้ปกครองในต่างจังหวัดถึง 1.3 ปี การให้รางวัลเมื่อลูกปฎิบัติได้ตามที่ฝึก วิธีที่ใช้กันมากที่สุดคือการชมเชย และการลงโทษเมื่อลูกไม่ปฎิบัติตามที่ฝึกนั้น ในกลุ่มรวมใช้วิธีสั่งสอนหรือบอกให้รู้ว่าควรทำอย่างไรมากที่สุดรองลงมาคือ ดุว่า แต่กลุ่มในกรุงเทพ? แตกต่างไปเล็กน้อยคือใช้วิธีแรกเด่นชัดที่สุด 2. นักเรียน คะแนนตัวแปรต่าง ๆ ที่วัดจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ปรากฎว่ามีความถนัดทางการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งนักเรียนในกรุงเทพ? ได้สูงกว่านักเรียนต่างจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในทุกระดับชั้น ส่วนตัวแปรที่ไม่ใช่ความสามารถสมองนั้น นักเรียนกลุ่มในกรุงเทพ? ได้คะแนนสูงกว่ากลุ่มต่างจังหวัด ทุกตัวแปรและทุกระดับชั้นเช่นกัน แต่มีบางตัวแปรเท่านั้นที่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงระหว่างระดับชั้น พบว่าทุกตัวแปรมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เพิ่มขึ้นจากระดับชั้นหนึ่งไปยังอีกระดับชั้นหนึ่ง ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อย ยกเว้นตัวแปรเดียวคือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะลดลงในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตัวแปรความถนัดทางการเรียน (ด้านความสามารถสมอง) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าตัวแปรที่ไม่ใช่ความสามารถสมองอย่างมาก ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ซึ่งวัดเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นปรากฎว่านักเรียนกลุ่มในกรุงเทพ? ได้คะแนนสูงกว่านักเรียนกลุ่มต่างจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกระดับชั้นและทุกตัวแปร ยกเว้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งนักเรียนในกรุงเทพ? มีคะแนนสูงกว่านักเรียนต่างจังหวัดเช่นกัน แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. การทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สามารถทำนายได้ดีปานกลางด้วยตัวแปรที่วัดในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยที่การทำนายวิชาคณิตศาสตร์ทำได้ดีกว่าวิชาภาษาไทย ค่า R2 ในการทำนายวิชาคณิตศาสตร์เท่ากับ .54 สำหรับกลุ่มรวม และค่า R2 เท่ากับ .64 และ .39 สำหรับกลุ่มในกรุงเทพ? และกลุ่มต่างจังหวัดตามลำดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไม่สามารถทำนายได้ ไม่ว่าด้วยคะแนนตัวแปรที่วัดในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ 2 ค่า R2 ต่ำเกินกว่าจะหาความหมายได้ การทำนายที่ทำได้ดีที่สุดคือการทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในการทำนายวิชาภาษาไทยนั้นตัวทำนายชุดที่ดีที่สุดมาจากประถมศึกษาปีที่ 2 ค่า R2 สำหรับกลุ่มรวมเท่ากับ .58 ส่วนกลุ่มกรุงเทพ? และกลุ่มต่างจังหวัดเท่ากับ .66 และ .53 ตามลำดับ ส่วนชุดทำนายที่ดีที่สุดของวิชาคณิตศาสตร์เป็นคะแนนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ค่า R2 เท่ากับ .44 สำหรับกลุ่มรวม และเท่ากับ .43 และ .59 สำหรับกลุ่มกรุงเทพ? และกลุ่มต่างจังหวัดตามลำดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 สามารถทำนายได้ดีที่สุดด้วยคะแนนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ซึ่งวัดเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน) โดยที่อำนาจการทำนายวิชาคณิตศาสตร์สูงกว่าวิชาภาษาไทยเล็กน้อย ค่า R2 สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เท่ากับ .63 ในกลุ่มรวม และเท่ากับ .76 และ .52 สำหรับกลุ่มกรุงเทพ? และกลุ่มต่างจังหวัดตามลำดับ ส่วนการทำนายวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น ค่า R2 เท่ากับ .59 สำหรับกลุ่มรวม และเท่ากับ .76 และ .51 สำหรับกลุ่มกรุงเทพ? และกลุ่มต่างจังหวัด ตามลำดับ ค่าเหล่านี้เป็นค่าที่สูงที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ ตัวแปรต่าง ๆ ที่ถูกคัดเลือกมาทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มตามลำดับความถี่ในการถูกเลือก กลุ่มแรกเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ซึ่งหมายถึงถูกเลือกมาใช้ทำนายบ่อยที่สุดคือ คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับชั้นที่ต่ำกว่า คะแนนความถนัดทางการเรียน และคะแนนมโนภาพแห่งตน กลุ่มที่สองเป็นตัวแปรที่ถูกเลือกมาใช้น้อยครั้งกว่าคือ คะแนนจากการปรับตัว แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และทัศนคติต่อครู ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือการอบรมเลี้ยงดูแบบฝึกให้ลูกพึ่งตนเอง ตัวแปรในกลุ่มนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับกลุ่มแรก ๆ ได้ในเรื่องของความถี่ที่ถูกเลือกมาใช้ เนื่องจากมีการวัดเพียงครั้งเดียวเมื่อตอนผู้ปกครองมามอบตัวลูกเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากทั้งหมด 6 องค์ประกอบของการฝึกให้ลูกพึ่งตนเองนี้ 2 องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ องค์ประกอบที่ 3 (การตัดสินใจด้วยตนเอง) และองค์ประกอบที่ 5 (การทำงานและสังคม) --------------------------------------------------------------------------------