ลักษณะทางพุทธศาสนาและพฤติกรรมศาสตร์ ของบิดามารดาที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรรายงานการวิจัยฉบับที่ 50ผู้วิจัย งามตา วนินทานนท์ปีที่พิมพ์ 2536งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยภาคสนาม มีจุดมุ่งหมายที่จะตอบคำถามสำคัญ 3 ประการประการแรกบิดามารดาที่มีลักษณะทางพุทธศาสนาสูงจะให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธมากกว่าบิดามารดาที่มีลักษณะทางพุทธศาสนาต่ำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และปรากฏเด่นชัดในบิดามารดาประเภทใด ประการที่สอง บิดามารดาที่สามารถให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธได้มากนั้น นอกจากจะต้องมีลักษณะทางพุทธศาสนาสูงแล้ว ยังต้องมีลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ที่จำเป็นประกอบ อาทิ ลักษณะทางจิตสังคม สัมพันธภาพในครอบครัว และลักษณะส่วนบุคคลอื่น ๆ อะไรบ้าง มากน้อยเพียงใดประการที่สามปริมาณความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพุทธศาสนาและลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์กับการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธของกลุ่มมารดาจะแตกต่างจากกลุ่มบิดาหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ปรากฎเด่นชัดในกลุ่มบิดาหรือมารดาประเภทใดบ้างกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้ประกอบด้วยบิดาหรือมารดาของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 8-15 ปีจำนวนบิดาและมารดามีทั้งสิ้น 545 คน เป็นบิดา 233 คน มารดา 289 คน และผู้ปกครองอื่น ๆ อีก 23 คน (ร้อยละ 43.3, 53.7 และ 2.9 ตามลำดับ) บิดามารดาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม ณ สถานที่ปฏิบัติธรรมหลายแห่งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนจากโรงเรียนในกรุงเทพฯบิดามารดากลุ่มนี้มีอายุโดยเฉลี่ย 41.22 ปีแบ่งเป็นกลุ่มอายุน้อยร้อยละ 56.9 และกลุ่มอายุมากร้อยละ 43.1 มีการศึกษาคิดเป็นจำนวนปีที่ศึกษาโดยเฉลี่ย 15 ปี จัดเป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปานกลางร้อยละ 31.8 และผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงร้อยละ 68.2 จากรายงานการเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาของบิดามารดา สามารถจัดแบ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางพุทธสูงร้อยละ 50.2 และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางพุทธต่ำร้อยละ 49.8ตัวแปรที่นำมาศึกษาครั้งนื้มี 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของบิดามารดา เช่น อายุ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ทางพุทธ เป็นต้น กลุ่มที่สองคือ ลักษณะทางพุทธศาสนา ประกอบด้วยตัวแปร 3 ตัวได้แก่ ความเชื่อ การปฏิบัติและวิถีชีวิตแบบพุทธ กลุ่มที่สามคือ ลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ ประกอบด้วยตัวแปร 7 ตัวคือ ตัวแปรลักษณะทางจิตสังคม 3 ตัว ได้แก่ ทัศนคติต่อบุตร สุขภาพจิตและความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตนในการอบรมเลี้ยงดูบุตรตัวแปรสัมพันธภาพในครอบครัว 3 ตัว ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ความใกล้ชิดบุตรและจำนวนเวลาที่ใช้กับบุตร และตัวแปรการอบรมเลี้ยงดูบุตรแบบรักสนับสนุนและกลุ่มสุดท้ายคือ การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธซึ่งประกอบด้วยตัวแปร 3 ตัวคือ วิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างความสนใจรับทราบ ด้านสร้างความเข้าใจเนื้อความ และด้านสร้างการยอมรับและเปลี่ยนตาม ตัวแปรในการวิจัยนี้มีทั้งสิ้น 25 ตัวแปร ส่วนใหญ่เป็น ตัวแปรที่มีค่าต่อเนื่อง จึงใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางและสามทาง วิธีวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้น และวิธีวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอล ทั้งในกลุ่มตัวอย่างโดยรวมและกลุ่มที่แยกย่อยตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังผลการวิจัยพบว่าผลการวิจัยที่สำคัญมี 4 ประการดังนี้ประการแรก พบว่า บิดามารดาที่ให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธแต่ละด้านคือ ด้านความสนใจรับทราบ ด้านสร้างความเข้าใจเนื้อความ และด้านสร้างการยอมรับและเปลี่ยนตามทั้ง 3 ด้านในปริมาณมาก เป็นกลุ่มมารดา เป็นกลุ่มบิดามารดาที่มีประสบการณ์ทางพุทธสูง เป็นกลุ่มบิดามารดาที่มีการศึกษาระดับปานกลางและมีประสบการณ์ทางพุทธสูงประการที่สอง พบว่า บิดามารดาที่มีลักษณะทางพุทธศาสนาสูง คือ มีความเชื่อ การปฏิบัติและวิถีชีวิตแบบพุทธสูงพร้อมกันทั้ง 3 ด้านให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างความเข้าใจเนื้อความและด้านสร้างการยอมรับและเปลี่ยนตามแต่ละด้านมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆอีก 7 กลุ่ม ผลนี้พบเด่นชัดทั้งในกลุ่มรวม กลุ่มเฉพาะผู้ที่เป็นมารดา กลุ่มบิดามารดาอายุน้อย กลุ่มที่มีการศึกษาระดับสูง และกลุ่มที่มาจากครอบครัวเดี่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าบิดามารดาที่มีความเชื่อการปฏิบัติ หรือวิถีชีวิตแบบพุทธด้านใดด้านหนึ่งสูงเพียงด้านเดียวก็สามารถให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธแต่ละด้านคือ ด้านสร้างความสนใจรับทราบ ด้านสร้างความเข้าใจเนื้อความและด้านสร้างการยอมรับและเปลี่ยนตามมากกว่าบิดามารดาที่มีความเชื่อ การปฏิบัติหรือวิถีชีวิตแบบพุทธด้านใดด้านหนึ่งต่ำ พบผลนี้ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยเกือบทุกกลุ่มประการที่สาม พบว่า ลักษณะทางพุทธศาสนา 3 ด้านร่วมกัน สามารถทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธแต่ละด้านทั้ง 3 ด้าน ของบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 25 ประเภทได้ในระดับสูง (ปริมาณการทำนายรวม 3 ด้านโดยเฉลี่ยร้อยละ 49.15) และมีปริมาณการทำนายได้สูงกว่าปริมาณการทำนายของลักษณะทางจิตสังคม 3 ด้านร่วมกัน (ทำนายได้รวม 3 ด้านโดย เฉลี่ยร้อยละ 7.28) และสัมพันธภาพในครอบครัว 3 ด้านร่วมกัน (ทำนายได้รวม 3 ด้านโดยเฉลี่ยร้อยละ 9.63) ในกลุ่มบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 25 กลุ่ม ลักษณะทางพุทธศาสนาและลักษณะทางจิตสังคมร่วมกัน 6 ด้าน สามารถเพิ่มอำนาจในการทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธ ด้านสร้างความสนใจรับทราบได้สูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อใช้ตัวแปรลักษณะทางพุทธศาสนาหรือลักษณะทางจิตสังคมชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียวเป็นตัวทำนายถึงระดับที่ยอมรับได้ (เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7) ปรากฏเฉพาะในกลุ่มบิดามารดาจากครอบครัวประเภทแตกแยกเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ตัวทำนายที่มีบทบาทสำคัญคือ วิถีชีวิตแบบพุทธ สุขภาพจิต และการปฏิบัติทางพุทธ ตามลำดับ จึงอาจกล่าวได้ว่ายิ่งบิดามารดามีลักษณะทางพุทธด้านวิถีชีวิตแบบพุทธและด้านการปฏิบัติทางพุทธสูงเท่าใด ก็สามารถให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างความสนใจรับทราบมากเท่านั้นปรากฎเด่นชัดในกลุ่มบิดามารดาจากครอบครัวประเภทแตกแยกมากกว่าในกลุ่มบิดามารดาจากครอบครัวปกติในกลุ่มบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 25 กลุ่ม ลักษณะทางพุทธศาสนาร่วมกับสัมพันธภาพในครอบครัวรวม 6 ด้าน สามารถเพิ่มอำนาจในการทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธแต่ละด้านทั้ง 3 ด้านได้สูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อใช้ตัวแปรลักษณะทางพุทธศาสนาหรือสัมพันธภาพในครอบครัวชุดหนึ่งชุดใดเพียงชุดเดียวเป็นตัวทำนายถึงระดับที่ยอมรับได้ โดยสามารถเพิ่มอำนาจในการทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างความสนใจรับทราบในกลุ่มบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 15 จาก 25 กลุ่ม (ปริมาณการทำนายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.88) เพิ่มอำนาจในการทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างความเข้าใจเนื้อความในกลุ่มบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 18 จาก 25 กลุ่ม (ปริมาณการทำนายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.76) และเพิ่มอำนาจในการทำนายการอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธด้านสร้างการยอมรับและเปลี่ยนตามในกลุ่มบิดามารดาประเภทต่าง ๆ 22 จาก 25 กลุ่ม (ปริมาณการทำนายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.32) ตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการทำนายคือ วิถีชีวิตแบบพุทธ ความใกล้ชิดบุตร ความเชื่อทางพุทธและการปฏิบัติทางพุทธ ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งบิดามารดามีลักษณะทางพุทธศาสนาทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านวิถีชีวิตแบบพุทธสูงเท่าใด มีสัมพันธภาพในครอบครัวโดยเฉพาะความใกล้ชิดบุตรมากเท่าใด ก็สามารถให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธแต่ละด้านทั้ง 3 ด้าน ได้มากเท่านั้น ปรากฏเด่นชัดในกลุ่มบิดามากกว่ามารดา ในกลุ่มจากครอบครัวขยายมากกว่าครอบครัวเดี่ยว ในกลุ่มที่มีประสบการณ์ทางพุทธสูงมากกว่ากลุ่มที่มีประสบการณ์ทางพุทธต่ำในกลุ่มที่มีระดับเศรษฐกิจปานกลางมากกว่าในกลุ่มที่มีระดับเศรษฐกิจสูง และในกลุ่มที่มีบุตรชายมากกว่าในกลุ่มที่มีบุตรหญิงเป็นต้นประการที่สี่ ผลการวิจัยได้ให้ภาพรวมว่า บิดามารดาที่มีลักษณะทางพุทธศาสนา 3 ด้านและลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ 7 ด้าน รวม 10 ด้าน ในปริมาณสูง ให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามแนวพุทธ 3 ด้านพร้อมกันในปริมาณสูงด้วย เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการทำนายในกลุ่มบิดากับมารดาที่มีลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังคล้ายคลึงกัน ปรากฏว่าในกลุ่มบิดามีปริมาณการทำนายได้สูงกว่าในกลุ่มมารดาอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบิดากับมารดาที่มีบุตรเรียนในระดับมัธยมศึกษาเหมือนกัน กลุ่มบิดาและมารดาที่มีระดับทางเศรษฐกิจสูง มีการศึกษาระดับปานกลางและมีอายุมากใกล้เคียงกัน และกลุ่มบิดาและมารดาที่มาจากครอบครัวเดี่ยวเหมือนกัน เป็นต้นจากการวิจัยลักษณะของบิดามารดาที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรเพื่อถ่ายทอดลักษณะทางพุทธศาสนา ทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บิดามารดาที่ให้การอบรมเลี้ยงดูบุตรเพื่อส่งเสริมให้เป็นคนดีมีคุณธรรมตามแนวพุทธศาสนานั้นเป็นบิดามารดาที่มีลักษณะทางพุทธสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการดำเนินชีวิตประจำวันตามวิถีทางแบบพุทธ ที่สำคัญคือ ยึดมั่นในการปฏิบัติตนตามหลักธรรมขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การบริจาคทาน การรักษาศีลห้า และหมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา) เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี และให้การปฏิสัมพันธ์กับบุตรอย่างใกล้ชิดและมีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ผลการวิจัยยังให้ภาพโดยรวมว่าฝ่ายบิดาที่มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นในปริมาณสูง สามารถปฏิบัติบทบาทหน้าที่ด้านการอบรมสั่งสอนบุตรวัยรุ่นเพื่อปลูกฝังหลักคุณธรรมตามแนวพุทธศาสนาได้เด่นชัดกว่าฝ่ายมารดาด้วย ดังนั้นผู้ปกครองฝ่ายบิดาจึงควรได้รับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาประสบการณ์ทางพุทธศาสนาและลักษณะทางพุทธ และให้มีการตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของตนด้านการถ่ายทอดทางพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นด้วย