องค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 48 ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรพินทร์ ชูชม รองศาสตราจารย์ อัจฉรา สุขารมณ์ ปีที่พิมพ์ 2535 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อเปรียบเทียบการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น จำแนกตามภูมิหลังของครอบครัวและลักษณะทางชีวสังคมที่ต่างกัน ประการที่สอง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดู ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง สภาพแวดล้อมทางบ้านกับการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น ประการที่สาม เพื่อศึกษาดูว่าองค์ประกอบใดที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2532 จำนวน 534 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามเกี่ยวกับภูมิหลังของนักเรียน แบบสำรวจการปรับตัว แบบสำรวจความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง แบบสอบถามสภาพแวดล้อมทางบ้านและแบบสอบถามการอบรมเลี้ยงดูตามการรับรู้ของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่นที่จำแนกตามภูมิหลังและลักษณะทางชีวสังคมที่ต่างกัน โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนชนิดทางเดียว (One - way Analysis of Variance) การหาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดู ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง สภาพแวดล้อมทางบ้านของนักเรียนกับการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่นโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson's Product Moment Correlation Coefficient) และการหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีนัยสำคัญในการพยากรณ์ดูว่า องค์ประกอบใดมีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่นโดยใช้วิธีวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มและ ลดตัวแปรเป็นขั้น ๆ (Stepwise Multiple Regression Analysis) สรุปผล ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. เปรียบเทียบการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น จำแนกตามภูมิหลังของครอบครัวและลักษณะทางชีวสังคมที่ต่างกัน ปรากฎผลดังนี้คือ 1.1 นักเรียนวัยรุ่นที่ครอบครัวมีฐานะเศรษฐกิจแตกต่างกัน มีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกัน โดยที่นักเรียนวัยรุ่นที่ครอบครัวมีฐานะเศรษฐกิจระดับสูง จะมีความสามารถในการปรับตัวดีกว่านักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะเศรษฐกิจระดับต่ำ แต่ไม่พบความแตกต่างในการปรับตัวระหว่างนักเรียนวัยรุ่นที่ครอบครัวมีฐานะเศรษฐกิจระดับสูงกับนักเรียนวัยรุ่นที่ครอบครัวมีฐานะเศรษฐกิจระดับปานกลาง ในทำนองเดียวกันนักเรียนวัยรุ่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับต่ำมีความสามารถในการปรับตัวไม่แตกต่างจากนักเรียนวัยรุ่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง 1.2นักเรียนวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกภายในครอบครัวแตกต่างกันมีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกันด้วย โดยที่นักเรียนวัยรุ่นที่อยู่รวมกับบิดามารดาญาติพี่น้องมีความสามารถในการปรับตัวดีกว่านักเรียนวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ก้บบิดามารดาโดยเฉพาะ 1.3 ความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น เมื่อจำแนกตามเพศ อายุ ลำดับการเกิด ขนาดครอบครัว ระดับการศึกษาของบิดา ระดับการศึกษาของมารดา อาชีพของบิดา และอาชีพของมารดาที่แตกต่างกัน ไม่พบว่ามีความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกัน 2. การศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง การอบรมเลี้ยงดูตามการรับรู้ของนักเรียนวัยรุ่น ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง สภาพแวดล้อมทางบ้าน กับการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่นพบว่า 2.1 การอบรมเลี้ยงดูตามการรับรู้ของนักเรียนวัยรุ่น แบบรักสนับสนุนและแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น 2.2 ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองและสภาพแวดล้อมทางบ้านต่างมีความสัมพันธ์ ในทางบวกกับความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น 3. ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลสำคัญเป็นอันดับ 1 ในการพยากรณ์ความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่น ได้สูงถึง 42.29% และเมื่อเพิ่มตัวพยากรณ์ สภาพแวดล้อมทางบ้านที่มีความสำคัญอันดับรองลงมาเข้าไป สามารถร่วมกันพยากรณ์ความสามารถในการปรับตัวของนักเรียนวัยรุ่นได้ถึง 50.37% --------------------------------------------------------------------------------