การสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดู เด็กไทยโดยใช้การวิเคราะห์เมต้า -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 47 ผู้วิจัย ดร.ดุษฏี โยเหลา ปีที่พิมพ์ 2535 วัตถุประสงค์ การสังเคราะห์งานวิจัยในครั้งนี้ เพื่อศึกษาขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ในประเทศไทย วิธีดำเนินการวิจัย โดยรวบรวมผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และปริญญานิพนธ์ของนิสิตจาก 5 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุ?าลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่ทำในระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2531 งานวิจัยที่คัดเลือกมาศึกษาในครั้งนี้จำนวน 37 เรื่อง เป็นงานวิจัยที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยมีผลการวิเคราะห์เป็น t Z F X2 และ r เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเป็นงานวิจัยที่มีหลักฐานแสดงว่าเครื่องมือที่ใช้วัดตัวแปรเป็นเครื่องมือที่มีความเชื่อมั่นสูงพอสมควร (ค่าความเชื่อมั่นสูงกว่า .60) การสังเคราะห์ผลงานวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิเคราะห์เมต้าของ เ?ดเจส (Hedges L.V.) และ โรเซนทาล (Rosenthal R.) ซึ่งเริ่มจากการคำนวณขนาดอิทธิพลจากงานวิจัยทุกเรื่อง ทดสอบความเท่ากันของขนาดอิทธิพล และศึกษาความแปรปรวนในขนาดอิทธิพล โดยใช้ตัวแปรลักษณะของงานวิจัย สรุปผล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ดังนี้ 1. ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูมีขนาดเล็ก ถึงปานกลาง กลุ่มของงานวิจัยที่ศึกษาขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูแบบรวม ให้ค่าขนาดอิทธิพลสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มของงานวิจัยที่ศึกษาขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูโดยแยกมิติของการอบรมเลี้ยงดู 2. การอบรมเลี้ยงดูทางบวกมีขนาดอิทธิพลเป็นบวกต่อตัวแปรด้านบุคลิกภาพและจิตสังคม และต่อตัวแปรด้านพัฒนาการด้านสติปัญญา 3. การอบรมเลี้ยงดูทางลบแบบเข้มงวดกวดขัน และแบบควบคุมมีผลเป็นบวกต่อตัวแปร ด้านบุคลิกภาพและสังคมบางตัว ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยและไม่ใช้เหตุผลมี อิทธิพลเป็นลบต่อตัวแปรด้านบุคลิกภาพและจิต-สังคม นอกจากนี้พบว่าการอบรมเลี้ยงดูทางลบมีอิทธิพลเป็นบวกและลบต่อตัวแปรพัฒนาการด้านสติปัญญา 4. ความแปรปรวนของขนาดอิทธิพลอธิบายได้ด้วย ตัวแปร 4 ตัวคือ ประเภทของงานวิจัย ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง และลักษณะการวิเคราะห์อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดู โดยอธิบายความแปรปรวนได้ 12% --------------------------------------------------------------------------------