การวิเคราะห์แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้วยโมเดลโลจิสติก -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 45 ผู้วิจัย ผศ.ดร.ผจงจิต อินทสุวรรณ ปีที่พิมพ์ 2535 วัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมายในการศึกษาครั้งนี้มี 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อแสดงขั้นตอน วิธีการ และผลการวิเคราะห์รายข้อจากการใช้โมเดลโลจิสติก ประการที่สอง เพื่อเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์รายข้อโดยใช้โมเดลโลจิสติกกับโมเดลดั้งเดิม ประการที่สามเพื่อตรวจสอบความสอดคล้องและความขัดแย้งระหว่างผลการวิเคราะห์รายข้อจากการใช้โมเดลโลจิสติกกับผลการใช้โมเดลดั้งเดิม วิธีดำเนินการวิจัย ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ เป็นผลการสอบวิชาคณิตศาสตร์ประจำภาคปลาย ปีการศึกษา 2529 ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ปีการศึกษา 2529 จำนวน 1 502 คน ในกลุ่มโรงเรียนเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ฉบับนี้เป็นแบบเลือกตอบมีจำนวน 60 ข้อ สรุปผล ผลการตรวจสอบความเป็นมิติเดียวแสดงว่าคะแนนรวมมีมิติเดียว การประมาณค่าพารามิเตอร์ของข้อภายใต้โมเดลโลจิสติกที่มีพารามิเตอร์ 3 ตัว (โมเดล 3PL) โดยตัดข้อที่ 14 ออก) ปรากฎผลดังนี้ ความยากมีค่าจาก -3.7490 ถึง 3.9110 อำนาจจำแนกมีค่าจาก .1471 ถึง 2.0000 และแอซิมโถดล่างหรือการเดามีค่าจาก .0418 ถึง .3966 ข้อที่มีอำนาจจำแนกต่ำกว่า .3000 มี 4 ข้อ คือ ข้อ 15 30 41 และ 60 ค่าประมาณพารามิเตอร์ของข้อ (ความยาก) ภายใต้โมเดลของราช (โมเดล 1PL) (ตัดข้อที่ 14 ออก) มีช่วงจาก -2.68 ถึง 1.90 การทดสอบว่าโมเดลเหมาะกับข้อมูลหรือไม่ โดยใช้สถิติทีปรากฎว่ามี 4 ข้อ ที่ไม่เหมาะคือข้อ 30 34 45 และ 60 สำหรับการวิเคราะห์รายข้อโดยใช้โมเดลดั้งเดิม (ใช้ทั้งหมด 60 ข้อ) ปรากฏผลดังนี้ ค่าประมาณความง่าย (สัดส่วนการตอบถูก) มีช่วงจาก .1853 ถึง .9401 ข้อที่ค่าความง่ายสูงกว่า .9000 มี 3 ข้อ คือข้อ 1 3 และ 17 ค่าประมาณอำนาจจำแนก (สหสัมพันธ์พ้อยท์ไบซีเรียลระหว่างข้อและคะแนนรวมทั้งฉบับที่ยกเว้นข้อนั้น) มีช่วงจาก -.0891 ถึง .4170 ข้อที่ 14 มีค่าอำนาจจำแนกต่ำสุด และเป็นค่าลบ ข้อที่มีค่าอำนาจจำแนกต่ำกว่า .10 มี 5 ข้อคือ ข้อ 14 30 34 58 และ 60 การวิเคราะห์สัดส่วนการตอบตัวเลือกต่าง ๆ เพื่อดูว่าการเลือกเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสมหรือไม่ ผลแสดงว่าการตอบตัวเลือกที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่เหมาะสมใน 1 ตัวเลือกมี 18 ข้อและใน 2 ตัวเลือกมี 3 ข้อ อันดับความยากของข้อภายใต้โมเดลทั้งสามมีความสอดคล้องกันสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างโมเดล 1PL กับโมเดลดั้งเดิม โมเดล 3PL ปฎิเสธข้อคำถามเป็นจำนวนน้อยกว่าโมเดล 1PL โมเดลดั้งเดิมให้ผลที่ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้สอบ แต่โมเดลดั้งเดิมนี้ก็ให้ผลที่จะเป็นส่วนประกอบกับผลจากโมเดลโลจิสติกได้ดี ในแง่ของการพิจารณาปรับปรุงตัวเลือก ดังนั้นในขั้นตอนของการพัฒนาแบบทดสอบ นั่นคือ วิเคราะห์ข้อคำถามเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อคำถามและตัวเลือก จึงควรใช้โมเดลดั้งเดิมประกอบกับโมเดลโลจิสติก เมื่อได้แบบทดสอบฉบับสมบูรณ์แล้วควรประมาณค่าพารามิเตอร์ของข้อภายใต้โมเดลโลจิสติก --------------------------------------------------------------------------------