ความสามารถในการควบคุมตนเองของเด็กไทยในแง่ของ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทางการศึกษาการฝึกทักษะ และการพัฒนาจิตลักษณะ เพื่อการสร้างพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 44 ผู้วิจัย ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต รศ.ดร.ลาดทองใบ ภูอภิรมย์ ดร.กมล สุดประเสริฐ ปีที่พิมพ์ 2533 วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการคือ (1) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาในบทเรียนที่กำหนดไว้ในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ว่าจะมีส่วนส่งเสริมความสามารถในการควบคุมตนเองของนักเรียนมากน้อยเพียงใด (2) เพื่อศึกษาการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาและการฝึกอบรมของครูว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองของนักเรียนมากน้อยเพียงใด และ (3) เพื่อศึกษาจิตลักษณะด้านต่าง ๆ 6 มิติ ซึ่งได้แก่ การควบคุมบังคับ การยังยั้ง ความมั่นใจในตนเอง ความอดกลั้น ยอมรับและให้อภัย วุฒิภาวะทางอารมณ์สังคม และการมุ่งอนาคต ว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความสามารถในการควบคุมตนเองของนักเรียนและมีความสัมพันธ์ต่อกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2530ของโรงเรียนประเภทสหศึกษา ในกรุงเทพมหานคร 14 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 609 คน เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 291 คน มีพิสัยอายุระหว่าง 10 - 11 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 318 คน มีพิสัยอายุระหว่าง 13 - 14 ปี นักเรียนชาย 345 คน นักเรียนหญิง 264 คน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังประกอบด้วย บิดา 600 คน และมารดา 609 คน ครูที่สอนประจำชั้นอีก 55 คน แหล่งข้อมูลและเครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ประกอบด้วย (1) หนังสือเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 4 เล่ม ซึ่งมีเรื่องย่อยทั้งหมด 63 เรื่อง และหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 เล่ม ซึ่งมีเรื่องย่อยทั้งหมด 27 เรื่อง (2) แบบสอบถามพฤติกรรมของบิดามารดาในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก จากการรับรู้ของนักเรียน (3) แบบสอบถามพฤติกรรมในการอบรมเลี้ยงดูจากรายงานของบิดามารดาที่ปฎิบัติต่อบุตร (4) แบบวัดการควบคุมตนเองของนักเรียน และ (5) แบบสอบถามครูเกี่ยวกับวิธีที่ครูปฎิบัติต่อนักเรียนในการให้รู้จักควบคุมตนเอง และวิธีควบคุมตนเองที่ครูใช้ปฎิบัติกับตนเอง สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านหนังสือเรียน ใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ส่วนข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามใช้วิธีวิเคราะห์ตามหลักสถิติด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม SPSSx สรุปผล 1) เนื้อหาสาระของหนังสือเรียนที่กำหนดในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นเนื้อหาที่ให้ข้อมูลสนเทศในลักษณะเป็นความรู้แก่ผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อพิจารณา วิเคราะห์ลึกลงไปในแง่ของการส่งเสริมความสามารถในการช่วยตนเองของเด็ก พบว่าเป็นเนื้อหาที่ให้ข้อมูลในระดับความรู้ ความจำ มากกว่าจะเป็นเนื้อหาในขั้นที่จะช่วยเด็กให้นำไปปฎิบัติได้ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังพบอีกว่า เนื้อหาของเนื้อเรื่องในแบบเรียนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะส่งเสริมการควบคุมตนเองทางกายมากกว่าการควบคุมทางวาจาและทางใจแม้ในแบบเรียนที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ พุทธศาสนา 2) การสอนและการฝึกอบรมในชั้นเรียนของครู พบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนยังเอื้อต่อการพัฒนาการควบคุมตนเองของเด็กไม่มากเท่าที่ควร ครูส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีแบบดั้งเดิม คือ การบอกและอธิบายให้นักเรียนฟังมากกว่าจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและใช้เหตุผลตลอดจนการให้อิสระต่อนักเรียนที่จะคิดทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองยังมีน้อยมาก 3) ผลการวิจัยพบว่า มารดามีบทบาทสำคัญมากกว่าบิดาในการอบรมเลี้ยงดูและฝึกทักษะ ซึ่งช่วยส่งเสริมความสามารถในการควบคุมตนเองของบุตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่ามารดามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและให้ความเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กมีโอกาสในการเห็นต้นแบบการปฎิบัติที่ดีจากมารดาได้มากกว่าบิดา 4) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่มาจากครอบครัวฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ ได้คะแนนเฉลี่ยของจิตลักษณะด้านต่าง ๆ ทั้ง 6 มิติ สูงกว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงและปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลที่ได้นี้อาจชี้ให้เห็นว่าด้วยตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจสังคมระดับต่ำที่ในอดีตมักพบว่ามีความสัมพันธ์กับลักษณะพฤติกรรมในเชิงด้อยนั้น มาในปัจจุบันโดยเฉพาะในการศึกษาครั้งนี้ กลับพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการควบคุมตนเองของเด็กมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะสังคมเศรษฐกิจทั้งระดับกลางและระดับสูง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าเด็กจะมาจากฐานะครอบครัวระดับต่ำหรือสูงก็ตาม แต่ถ้าเด็กนั้นได้รับการอบรมปลูกฝังทางด้านการควบคุมตนเองจากต้นแบบที่ดีของมารดาบิดา ตลอดจนใช้วิธีการช่วยฝึกทักษะที่เหมาะสมของมารดาบิดาและครูแล้ว เด็กก็ย่อมจะสามารถพัฒนาจิตลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคมนี้ได้ สรุปสุดท้ายได้ว่า การฝึกอบรมเลี้ยงดูและการฝึกทักษะที่เด็กได้รับจากครอบครัว คือ มารดาบิดา และการเรียนรู้ที่เด็กได้รับจากโรงเรียนและการอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนพื้นฐานจิตลักษณะภายในตัวของเด็กเอง มีอิทธิพลร่วมกันอย่างเห็นได้ชัดเจนต่อการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองของเด็ก โดยเฉพาะสะท้อนให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการฝึกอบรมเด็กของทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน ซึ่งจะต้องกระทำควบคู่กันไปอย่างสืบเนื่อง รวมทั้งด้านวิธีการใช้แนวการฝึก อบรมที่เหมาะสมและการเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กได้ซึมซับตลอดช่วงเวลาแห่งการพัฒนา เพื่อจะได้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต --------------------------------------------------------------------------------