บทบาทของครูประถมศึกษาในการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนา -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 42 ผู้วิจัย อ.อ้อมเดือน สดมณี อ.นกเล็ก สุขถิ่นไทย ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ การศึกษานี้มุ่งวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างบทบาทที่ปฎิบัติอยู่ และบทบาทที่ปรารถนาของครูสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และครูสังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร กับการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาให้แก่เด็ก วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือ ครูอาจารย์ซึ่งปฎิบัติหน้าที่สอนในปลายปีการศึกษา 2528 จำนวน 200 คน การวิเคราะห์ความข้ดแย้งของบทบาท แยกพิจารณาโดยกำหนดบทบาทเป็น 2 ประเด็นคือ หน้าที่และสิทธิ ได้แก่ หน้าที่ที่ครูอาจารย์ปฎิบัติ และสิทธิที่ครูอาจารย์ได้รับ โดยเน้นที่ความขัดแย้งระหว่างสิทธิที่ได้รับกับสิทธิที่ชอบและหน้าที่ที่ปฎิบัติและหน้าที่ที่ชอบ นอกจากนั้นยังได้แยกวิเคราะห์ในตัวแปรอื่น ๆ คือ สังกัดที่ครูอาจารย์รับราชการอยู่ เพศ อายุ วุฒิทางการศึกษา สาขาที่จบ อายุการทำงาน ค่านิยมทางศาสนา ความคิดเกี่ยวกับตนและการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนา เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือร้อยละ ค่าสหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว สรุปผล 1. ครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จะมีความขัดแย้งในหน้าที่มากกว่าครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร 2. ครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร มีความขัดแย้งในสิทธิมากกว่าครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร 3. อายุการทำงาน จะมีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ความขัดแย้งในหน้าที่และสิทธิของครูอาจารย์สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร มีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ความคิดเกี่ยวกับตนของครูอาจารย์ มีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งในสิทธิอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งในหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6. ครูอาจารย์ที่มีการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาต่างกันมีความคิดเกี่ยวกับตนไม่แตกต่างกัน 7. ครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครมีการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาต่างกัน มีค่านิยมทางศาสนาต่างกัน และพบว่าครูอาจารย์ที่สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครที่มีการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาในระดับต่ำ จะมีค่านิยมทางศาสนาสูงกว่าครู อาจารย์ที่มีการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาในระดับกลาง 8. ครูอาจารย์ทั้งหมดมีการถ่ายทอดค่านิยมทางศาสนาในระดับปานกลางและมาก เมื่อแยกดูตามสังกัดครูอาจารย์สังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร มีการถ่ายทอดในระดับปานกลางและมาก ร้อยละ 69.1 ส่วนครูสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร มีการถ่ายทอดในระดับปานกลางและมาก ร้อยละ 54.2 9. จากแบบสอบถามปลายเปิดเกี่ยวกับหน้าที่ของครูประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับหน้าที่สอนให้ความรู้ เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ การดูแลอบรมมารยาท ความประพฤติปลูกฝังศีลธรรมอันดีให้แก่นักเรียน อันดับสามคือเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน --------------------------------------------------------------------------------