การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบคัดเลือกสัมสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระดับปริญญาตรี ปัญหาส่วนตัว ทัศนคติ และนิสัยในการเรียน กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตระดับปริญญาโท -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 41 ผู้วิจัย ผศ.อรพินทร์ ชูชม รศ.อัจฉรา สุขารมณ์ ปีที่พิมพ์ 2531 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 4 ประการคือ ประการแรกเพื่อสำรวจลักษณะทั่วไปของนิสิตปริญญาโท ประการที่สองเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโทที่มีสถานภาพต่างกัน ประการที่สาม เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพ คะแนนสอบคัดเลือก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาตรี ปัญหาส่วนตัว ทัศนคติและนิสัยในการเรียนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโท ประการที่สี่เพื่อค้นหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโท วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ได้แก่ นิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ปีการศึกษา 2529 จำนวน 311 คน และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบบันทึกผลการสอบคัดเลือก แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโท แบบสอบถามปัญหาส่วนตัว แบบสำรวจทัศนคติและนิสัยในการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณชนิดสเตปไวส์ สรุปผล 1. ลักษณะทั่วไปของนิสิตปริญญาโท ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุอยู่ระหว่าง 26 - 30 ปี เป็นโสด มีประสบการณ์ในการทำงาน ได้เกรดเฉลี่ยสะสมในระดับปริญญาตรีน้อยกว่า 2.50 และได้เกรดเฉลี่ยสะสมในระดับปริญญาโททั้งสองภาคเรียนอยู่ระหว่าง 3.26 - 3.50 นิสิตปริญญาโท ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตน ปัญหาด้านการปรับตัวในทางการเรียน ปัญหาด้านห้องสมุด ปัญหาด้านอาจารย์ และปัญหาด้านหลักสูตร 2. นิสิตปริญญาโทที่มีสถานภาพต่างกันในเรื่องเพศ และประสบการณ์ในการทำงานมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาโทแตกต่างกัน กล่าวคือ นิสิตหญิง และนิสิตที่มีประสบการณ์ในการทำงาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาโทสูง ส่วนนิสิตปริญญาโทที่มีสถานภาพต่างกันในเรื่องสถานภาพการสมรส ลำดับที่การเกิด จำนวนครั้งที่สมัครเข้าศึกษา ลักษณะการมาศึกษาระดับการศึกษาของบิดาและมารดา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาโทไม่แตกต่างกัน 3. กลุ่มที่สอบวิชาเอกเพียงฉบับเดียว พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาตรีและคะแนนสอบคัดเลือกวิชาเอก มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาโท สำหรับกลุ่มที่สอบวิชาเอกสองฉบับ พบว่าคะแนนสอบคัดเลือกวิชาเอกฉบับที่ 1 คะแนนสอบคัดเลือกวิชาภาษาไทย และปัญหาด้านอาจารย์มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาโท 4. กลุ่มที่สอบวิชาเอกเพียงฉบับเดียว พบว่ากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเรียงตามลำดับความสำคัญได้แก่ คะแนนสอบคัดเลือกวิชาเอก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปริญญาตรี การหลีกเลี่ยงการผลัดเวลา และวิธีการทำงาน โดยทั้ง 4 ตัวพยากรณ์มีอำนาจในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโทได้ร้อยละ 35.10 กลุ่มที่สอบวิชาเอกสองฉบับพบว่า กลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเรียงตามลำดับความ สำคัญได้แก่ คะแนนสอบคัดเลือกวิชาเอกฉบับที่ 1 ปัญหาด้านอาจารย์ และรายได้ โดยทั้ง 3 ตัวพยากรณ์นี้มีอำนาจในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาโทได้ร้อยละ 44.10 --------------------------------------------------------------------------------