การควบคุมอิทธิพลสื่อมวลชนของครอบครัว กับจิตลักษณะที่สำคัญของเยาวชนไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 40 ผู้วิจัย รศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน อ.อรพินทร์ ชูชม อ.สุภาพร ลอยด์ ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาตัวแปรที่อาจจะเป็นสาเหตุและผลของการรับสื่อมวลชนของวัยรุ่นไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 3 ประการคือ 1. เพื่อศึกษาว่าบิดามารดาที่มีลักษณะต่างกัน จะตระหนักในอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อเด็กและควบคุมเด็กทางด้านสื่อมวลชนแตกต่างกันเพียงใด 2. เพื่อศึกษาว่านักเรียนที่ผู้ปกครองตระหนักและควบคุมทางด้านสื่อมวลชนต่างกัน จะรับ สื่อมวลชนแตกต่างกันเพียงใด 3. เพื่อศึกษาว่านักเรียนที่รับสื่อมวลชนทางด้านโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งตีพิมพ์ในปริมาณและคุณภาพที่แตกต่างกันจะมีจิตลักษณะที่น่าปรารถนา 3 ชนิดแตกต่างกันเพียงใด โดยมีสมมุติฐาน ทั้งหมด 6 ข้อ วิธีดำเนินการวิจัย การวิจัยนี้เป็นการศึกษาภาคสนาม ได้เก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 และ 6 (อายุ 10 - 13 ปี) และนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 และ 2 (อายุ 12 - 15 ปี) เป็นนักเรียนชาย 780 คน นักเรียนหญิง 820 คน จากโรงเรียนในกรุงเทพ? 7 โรงเรียน และต่างจังหวัดโดยรอบกรุงเทพ? ในรัศมี 80 กิโลเมตร อีก 11 โรงเรียน รวมเป็นนักเรียนทั้งสิ้น 1 600 คน และผู้ปกครองของนักเรียนเหล่านี้ทุกคนอีก 1 600 คน การเก็บข้อมูลกระทำในขณะที่ผู้ปกครองนำนักเรียนมามอบตัวในช่วงเปิดภาคเรียน หรือมาร่วมประชุมที่โรงเรียน โดยขอให้ผู้ปกครองเหล่านี้ตอบแบบวัดและแบบสอบถามภายใต้การอำนวยการของคณะผู้วิจัย หลังจากนั้นจึงขอเก็บข้อมูลจากนักเรียนที่ผู้ปกครองได้ตอบแบบสอบถามไปแล้วทุกคนโดยให้นักเรียนเขียนตอบ ลงในแบบวัดขณะอยู่ในชั้นเรียน ผู้ปกครองและนักเรียนเหล่านี้ตอบห่างกันไม่เกิน 1 เดือน ตัวแปรทางฝ่ายผู้ปกครองที่สำคัญมี 12 ตัวคือ 1. ความตระหนักในอิทธิพลสื่อมวลชนต่อเด็ก 2. ความเชื่อในประโยชน์ของสื่อมวลชนต่อเด็ก 3. การควบคุมเด็กทางด้านการเปิดรับสื่อมวลชนทั้งสามชนิด 4. การควบคุมเด็กทางด้านการเข้าใจเนื้อหาจากสื่อมวลชนทั้งสามชนิด 5. การควบคุมเด็กทางด้านการยอมตามการชักจูงจากสื่อมวลชนทั้งสามชนิด 6. การจัดหาหนังสือให้แก่เด็กเมื่อยังเล็ก 7. การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบรักสนับสนุน 8. การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบใช้เหตุผล ตัวแปรทั้ง 8 ตัวนี้แต่ละตัววัดได้โดยใช้แบบวัดชนิดที่มีมาตรประเมินค่า แต่ละแบบวัดมี 10 ข้อ แต่ละข้อมีมาตร 6 หน่วยประกอบ คะแนนรวมในแต่ละแบบวัดเป็นคะแนนของตัวแปรนั้นของผู้ตอบ พิสัยของคะแนนจึงอยู่ระหว่าง 10 ถึง 60 คะแนนทุกตัวแปร 9. ระดับการศึกษา 10. ระดับเศรษฐกิจของครอบครัว 11. การมีงานอาชีพ และ 12. ความใกล้ชิดกับเด็ก ตอบโดยการเลือกคำตอบหรือเติมคำ ตัวแปรทางฝ่ายนักเรียนที่สำคัญมี 12 ตัวคือ 1. ปริมาณการชมโทรทัศน์ 2. ปริมาณการฟังวิทยุ 3. ปริมาณการอ่านสิ่งตีพิมพ์เป็นจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทางด้านโทรทัศน์ได้แบ่งสอบถามเป็นแต่ละช่วงของวันจนครบสัปดาห์ โดยได้ป้องกันการตอบเกินความจริงไว้ด้วย 4. ปริมาณความชอบชมรายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์ 5. ปริมาณความชอบฟังรายการวิทยุที่มีประโยชน์ 6. ปริมาณการชอบอ่านเรื่องที่มีประโยชน์ในสิ่งตีพิมพ์ 7. ทัศนคติต่อการควบคุมสื่อมวลชน 3 ด้านของผู้ปกครอง 8. การถูกอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน 9. การถูกอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล 10. ลักษณะมุ่งอนาคต 11. ความเชื่ออำนาจในตน สำหรับตัวแปรที่ 4 ถึง 11 นี้ วัดแบบใช้มาตรประเมินค่ามีจำนวนข้อจาก 6 ถึง 15 ข้อ ในแต่ละตัวแปรมีมาตร 6 หน่วยประกอบทุกข้อ คะแนนรวมในแต่ละแบบวัดเป็นคะแนนของผู้ตอบในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป 12. ความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมี 10 เรื่อง แต่ละเรื่องมีตัวเลือก 6 ตัวประจำแต่ละขั้นตามทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก ผู้ตอบเลือกคำตอบเดียวในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะเป็นขั้นใดขั้นหนึ่งตามทฤษฏีนี้ ใช้ขั้นเป็นคะแนน แล้วรวมคะแนนของผู้ตอบทั้ง 10 เรื่องเข้าด้วยกัน เป็นคะแนนจริยธรรมของผู้ตอบแต่ละคน นอกจากนั้นยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีก 16 ตัว รวมเป็นตัวแปรทั้งหมด 40 ตัว ในการวิจัยนี้ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติหลายแบบด้วยคอมพิวเตอร์ คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบแฟคตอเรียลสามทาง การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณเป็นขั้น และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทีละ 2 ตัว โดยมีการวิเคราะห์ดังกล่าวมานี้ทั้งในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดและในกลุ่มที่แยกย่อย ตามลักษณะของผู้ตอบหรือของครอบครัวด้วย ในการวิเคราะห์หลายตอนได้นำคำตอบของผู้ปกครองและของนักเรียนจากครอบครัวเดียวกันมาสัมพันธ์กันโดยมี ครอบครัวเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยประเภทระหว่างบุคคลในสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม สรุปผล 1. เกี่ยวกับปริมาณการรับสื่อมวลชนของวัยรุ่นไทย ในการวิจัยนี้ได้พบว่า เด็กวัยรุ่นตอนต้น อายุ 10 - 15 ปี จำนวน 1 600 คน ที่ศึกษานี้ 91% มีโทรทัศน์ใช้ในบ้าน และในกลุ่มนี้ชมโทรทัศน์โดยเฉลี่ย 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ฟังวิทยุ 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอ่านสิ่งตีพิมพ์สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง 30 นาที ในการวิจัยนี้พบว่าปริมาณการรับสื่อมวลชนที่กล่าวไปแล้วนี้มีความเกี่ยวข้องกับตัวแปรอื่น ๆ ที่ศึกษาน้อยกว่าที่ความชอบรับเนื้อหาที่มีประโยชน์จากสื่อมวลชน จะเกี่ยวข้องกับตัวแปรเหล่านั้น 2. คุณภาพของการรับสื่อมวลชนในการวิจัยนี้คือ ปริมาณความชอบชมรายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์ความชอบฟังรายการวิทยุที่มีประโยชน์และปริมาณความชอบอ่านเรื่องที่มีประโยชน์ ในสิ่งตีพิมพ์ ตัวแปรทั้งสามนี้ร่วมกันสามารถทำนายลักษณะมุ่งอนาคตของนักเรียนที่ถูกศึกษาได้ 20%ทำนายความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมได้ 8% และทำนายปริมาณความเชื่ออำนาจในตนได้ 6% โดยอาจกล่าวได้ว่านักเรียนที่รายงานว่าชอบรับเนื้อหาที่ (นักวิชาการจัดว่า) มีประโยชน์ในสื่อมวลชนทั้งสามชนิดมากเท่าใด ก็เป็นผู้ที่มีลักษณะมุ่งอนาคตสูง เชื่ออำนาจในตนสูง และสามารถใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในระดับสูงด้วย นอกจากนั้นยังพบว่านักเรียนที่ชมโทรทัศน์น้อยฟังวิทยุน้อย แต่อ่านสิ่งตีพิมพ์มาก มีจิตลักษณะที่น่าปรารถนาทั้ง 3 ประการนี้สูง 3. เกี่ยวกับความตระหนักและการควบคุมของผู้ปกครองกับการรับสื่อมวลชนของเด็กในการวิจัยนี้พบว่า ผู้ปกครองที่ตระหนักในอิทธิพลสื่อมวลชนต่อเด็กมากเท่าใด และเชื่อในประโยชน์ของสื่อมวลชนต่อเด็กมากเท่าใด เด็กในปกครองก็จะมีความชอบฟังรายการวิทยุที่มีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ผลนี้พบเด่นชัดที่สุดในครอบครัวที่ผู้ปกครองมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป ส่วนผู้ปกครองที่รายงานว่าควบคุมเด็กใน 3 ด้านมากเท่าใด ก็เป็นผู้ที่เด็กในปกครองรายงานว่าได้อ่านสิ่งตีพิมพ์มาก และชอบอ่านเนื้อหาที่มีประโยชน์มากด้วย ผลนี้ปรากฎชัดเจนที่สุดในครอบครัวที่มีฐานะต่ำ ส่วนเด็กที่รายงานว่าชอบชมรายการโทรทัศน์ที่ (นักวิชาการจัดว่า) มีประโยชน์มากนั้น เป็นเด็กที่รายงานว่าถูกอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสองตัวที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับปริมาณการชอบรับเนื้อหาที่มีประโยชน์จากสื่อมวลชนทั้งสามชนิดของเด็กคือ ทัศนคติของเด็กต่อการควบคุมของผู้ปกครอง และปริมาณการชมรายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์กับผู้ปกครองตัวแปรทั้งสองตัวหลังนี้ร่วมกับการอบรมเลี้ยงดู ความตระหนักและการควบคุมเด็ก สามารถทำนายปริมาณความชอบรับเนื้อหาที่มีประโยชน์ในสื่อมวลชนต่าง ๆ ในเด็กได้ตั้งแต่ 18 ถึง 25% 4. ผู้ปกครองที่ควบคุมเด็ก 3 ด้านมาก คือ ผู้ที่ตระหนักในอิทธิพลสื่อมวลชนต่อเด็กมาก ได้จัดหาหนังสือที่เหมาะสมให้แก่เด็กเมื่อยังเล็ก และอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบรักสนับสนุนมาก และแบบใช้เหตุผลมาก โดยตัวทำนายเหล่านี้รวมกันสามารถทำนายความแปรปรวนของปริมาณการควบคุมแต่ละด้านได้ตั้งแต่ 20 ถึง 32% 5. ผู้ปกครองที่ตระหนักในอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อเด็กน้อยคือ ผู้ปกครองที่มีการศึกษาในระดับต่ำ อยู่ในระดับเศรษฐกิจต่ำ เป็นผู้ปกครองของนักเรียนมัธยมในกรุงเทพ? เป็นผู้ที่รายงานว่าอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบใช้เหตุผลน้อย และเป็นผู้ที่มีโทรทัศน์ใช้ในระยะเวลาอันสั้นด้วย --------------------------------------------------------------------------------