การศึกษาเปรียบเทียบนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถ กับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 39 ผู้วิจัย รศ.อัจฉรา สุขารมณ์ ผศ.อรพินทร์ ชูชม ปีที่พิมพ์ 2530 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการคือ 1.เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเมื่อเทียบกับความสามารถทางสติปัญญาว่าขึ้นอยู่กับภูมิหลังของนักเรียนหรือไม่ 2.เพื่อศึกษาเปรียบเทียบนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถกับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ ในองค์ประกอบ 4 ด้าน 3. เพื่อค้นหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในแต่ละกลุ่ม วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ของการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2529 จำนวน 1 415 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามภูมิหลังของนักเรียน แบบทดสอบแมทรีซีสก้าวหน้ามาตรฐานของเรเวน แบบสอบถามสภาพแวดล้อมทางบ้าน แบบสอบถามการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดา แบบสอบถามปัญหาส่วนตัว และแบบสอบถามแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ และทดสอบค่าไคสแควร์ เปรียบเทียบความแตกต่างขององค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของนักเรียนแต่ละกลุ่มโดยใช้สถิติทีทดสอบ (t - test) ในการหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีนัยสำคัญใช้วิธีวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ชนิดสเตปไวส์ (Stepwise) สรุปผล 1.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเมื่อเทียบกับความสามารถทางสติปัญญาของนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถ กับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ ขึ้นอยู่กับเพศของนักเรียน และรายได้ของครอบครัวของนักเรียนด้วย แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการ ศึกษาและอาชีพของบิดามารดาของนักเรียน 2.เปรียบเทียบนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถกับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ ในองค์ประกอบ 4 ด้าน พบว่า 2.1 ในองค์ประกอบด้านปัญหาส่วนตัว นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถมีปัญหามากกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ ในด้านสุขภาพร่างกาย ความสัมพันธ์กับบิดา ความสัมพันธ์กับมารดา ความสัมพันธ์กับครู ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง และการปรับตน ส่วนปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน พบว่านักเรียนทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความ แตกต่างกัน 2.2 ในองค์ประกอบด้านการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดา นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบมีเหตุผลน้อยกว่า นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ และนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขันมากกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ 2.3 ในองค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมทางบ้าน พบว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติมีสภาพแวดล้อมทางบ้านดีกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ กว่าระดับความสามารถในด้าน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ฐานะเศรษฐกิจ และความคาดหวังของบิดามารดา ส่วนด้านที่อยู่อาศัย พบว่านักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกัน 2.4 ในองค์ประกอบด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พบว่า นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติ มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถ 3.การค้นหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีนัยสำคัญ(ประสิทธิภาพสูง)ในการพยากรณ์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมของนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม 3.1 นักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าระดับความสามารถ พบว่ากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบมีเหตุผล การอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ โดยทั้ง 3 ตัวพยากรณ์นี้มีอำนาจในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวม ร้อยละ 9.90 3.2 นักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปกติพบว่า กลุ่มตัวพยากรณ์ที่มี ประสิทธิภาพสูงเรียงตามลำดับความสำคัญได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว โดยทั้ง 2 ตัวพยากรณ์มีอำนาจในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมร้อยละ 5.10 --------------------------------------------------------------------------------