การพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 38 ผู้วิจัย อ.วิลาสลักษณ์ ชัววัลลี ปีที่พิมพ์ 2530 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการคือ 1. เพื่อศึกษาว่าตัวแปรอิสระใดบ้างในกลุ่มความถนัดทางการเรียน บุคลิกภาพของนักเรียน และวิธีการอบรมเลี้ยงดูที่นักเรียนได้รับ ที่เป็นตัวพยากรณ์ที่ดีของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาไทย 2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งสองวิชาระหว่างนักเรียนที่มีภูมิหลังทางครอบครัวแตกต่างกัน 3. เพื่อศึกษาถึงการให้รางวัลและการลงโทษนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างกันได้รับ วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 3 โรง และโรงเรียนในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างกรุงเทพ? ในรัศมี 150 กิโลเมตร อีกจำนวน 15 โรง เป็นหญิง 170 คน และชาย 210 คน เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามการอบรมเลี้ยงดูแบบฝึกให้พึ่งตนเอง แบบทดสอบความถนัดทางการเรียนคณิตศาสตร์ แบบทดสอบความถนัดทางการเรียนภาษาไทย แบบวัดการปรับตัว แบบวัดความภูมิใจในตนเอง แบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แบบวัดเจตคติต่อครู แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาไทย ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยใช้วิธีวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มตัวแปรทีละขั้น ใช้การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง การทดสอบค่าซี สรุปผล ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้ 1. ตัวพยากรณ์ที่ดีของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์คือ ความถนัดทางการเรียนคณิตศาสตร์ ความถนัดทางการเรียนภาษาไทย การอบรมเลี้ยงดูแบบฝึกความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และการปรับตัว โดยตัวแปรทั้งหมดนี้สามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์ได้ร้อยละ 42.9 ส่วนตัวพยากรณ์ที่ดีของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยคือ ความถนัดทางการเรียนคณิตศาสตร์ ความถนัดทางการเรียนภาษาไทย ความภูมิใจในตนเอง การอบรมเลี้ยงดู แบบฝึกความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และการปรับตัว โดยตัวแปรทั้งหมดนี้ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยได้ร้อยละ 36.3 2. นักเรียนที่ได้รับการฝึกให้พึ่งตนเองมาก มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งสองวิชาสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการฝึกให้พึ่งตนเองน้อย สำหรับการให้รางวัลและการลงโทษของบิดามารดาเมื่อบุตรทำตามที่ฝึกได้และไม่ได้นั้น พบว่าบิดามารดาของนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำมักจะรายงานว่าให้รางวัลและลงโทษในความถี่ที่สูงกว่าบิดามารดาของนักเรียนกลุ่มผลสัมฤทธิ์สูง 3. นักเรียนที่บิดามารดามีการศึกษาสูง อยู่ในครอบครัวที่มีบุตรน้อย และอยู่ในกรุงเทพ? มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่บิดามารดามีการศึกษาต่ำ อยู่ในครอบครัวที่มีบุตรมาก และอยู่ต่างจังหวัด แต่ไม่พบความแตกต่างในกรณีลำดับที่เกิด 4. นักเรียนที่มีคะแนนความถนัดทางการเรียน และคะแนนบุคลิกภาพแต่ละลักษณะสูง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่มีคะแนนดังกล่าวต่ำ และจากการเปรียบเทียบกลุ่มย่อย พบว่า กลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงสุดคือกลุ่มนักเรียนในกรุงเทพ?ที่มีคะแนนบุคลิกภาพสูง --------------------------------------------------------------------------------