บทบาทของครอบครัวในการป้องกันการติดยาเสพติด -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 37 ผู้วิจัย ผศ.ดร.ลาดทองใบ ภูอภิรมย์ ปีที่พิมพ์ 2530 วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายดังนี้ 1. เพื่อศึกษาการอบรมเลี้ยงดู 4 แบบ ว่าจะมีความสัมพันธ์กับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็กเพียงใด 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก 3. เพื่อศึกษาความใกล้ชิดกับบิดามารดาว่า มีความสัมพันธ์กับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็กเพียงใด 4. เพื่อศึกษาลักษณะของผู้ปกครองว่าจะมีความสัมพันธ์กับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็กอย่างไร วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2528 ของโรงเรียนรัฐบาลสหศึกษาในกรุงเทพมหานคร 7 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน ทั้งหมด 667 คน เป็นชาย 357 คน หญิง 310 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าหนึ่งฉบับ แบ่งเป็น 4 ตอน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าร้อยละ และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวน ตัวแปรสำหรับการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ตัวแปรปัจจัยทางครอบครัว เป็นตัวแปรอิสระมีทั้งหมด 14 ตัวแปร แบ่งเป็น 4 ด้านคือ 1. การอบรมเลี้ยงดูทั่วไป ประกอบด้วยการอบรมเลี้ยงดู 4 แบบคือ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ การอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม และการอบรมเลี้ยงดูแบบลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย 2. การอบรมเลี้ยงดูเฉพาะเรื่องการเสพติด ประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดที่เด็กได้รับจากครอบครัวและตัวอย่างการเสพติดจากครอบครัว 3. ลักษณะของครอบครัวประกอบด้วย ที่พักอาศัย ระดับการศึกษาของบิดา อาชีพของบิดา ระดับเศรษฐกิจของครอบครัว ขนาดของครอบครัว 4. ลักษณะของเด็ก ได้แก่ เพศ ชั้นเรียน และทัศนคติของเด็กต่อการควบคุมสื่อมวลชนของผู้ปกครอง ตัวแปรตามคือ ภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก มีทั้งหมด 6 ตัวแปร แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1. ความรู้เกี่ยวกับการเสพติด ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับตัวยาเสพติด ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด และความรู้เกี่ยวกับผลของยาเสพติด 2. อารมณ์เกี่ยวกับการเสพติด ประกอบด้วยทัศนคติต่อการเสพติด และปริมาณการชักจูง จากเพื่อน 3. พฤติกรรมเกี่ยวกับการเสพติด ได้แก่ ปริมาณความใกล้ชิดกับยาเสพติด สรุปผล 1. ปัจจัยทางครอบครัว เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และปัจจัยทางครอบครัวตามลักษณะของเด็กคือ ทัศนคติของเด็กต่อการควบคุมสื่อมวลชนของผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์ทางบวกกับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก 3 ด้านคือ ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด ปริมาณการชักจูงจากเพื่อน และปริมาณความใกล้ชิดกับยาเสพติด ผลปรากฎอย่างเด่นชัดว่า การที่เด็กรายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมาก แบบรักสนับสนุนมาก เด็กมีทัศนคติที่ดีมากต่อการควบคุมสื่อมวลชน? จะมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติดมากกว่า ปฎิเสธการชักจูงจากเพื่อนมากกว่า เด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลน้อย รักสนับสนุนน้อย และเด็กมีทัศนคติที่ดีน้อยต่อการควบคุมสื่อมวลชน? ส่วนเด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลน้อย แบบรักสนับสนุนน้อย และเด็กมี ทัศนคติที่ดีน้อยต่อการควบคุมสื่อมวลชน? จะมีความใกล้ชิดกับยาเสพติดมากกว่าเด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมาก รักสนับสนุนมาก และเด็กมีทัศนคติที่ดีมากต่อการควบคุมสื่อมวลชน? 2. ภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก 3 ประเภทๆ ละหนึ่งด้าน เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ก. ภูมิต้านทานการเสพติดประเภทพฤติกรรมเกี่ยวกับการเสพติด ด้านปริมาณความใกล้ชิดกับยาเสพติด ข. ภูมิต้านทานการเสพติดประเภทความรู้เกี่ยวกับการเสพติด ด้านความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด ค. ภูมิต้านทานการเสพติดประเภทอารมณ์เกี่ยวกับการเสพติด ด้านปริมาณการชักจูงจากเพื่อน ทั้งนี้ปรากฎว่าภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านดังกล่าว แปรปรวนไปตามปัจจัยทางครอบครัวทั้ง 3 ปัจจัยคือ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน แบบใช้เหตุผล และทัศนคติของเด็กต่อการควบคุมสื่อมวลชนของผู้ปกครอง ผลปรากฎอย่างเชื่อมั่นได้ว่า เด็กที่มีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติดมาก ปฎิเสธการชักจูงจากเพื่อนมากคือเด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมาก ใช้เหตุผลมาก และเด็กมีทัศนคติที่ดีมากต่อการควบคุมสื่อมวลชน? ส่วนเด็กที่มีความใกล้ชิดกับยาเสพติดมาก คือ เด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนน้อย ใช้เหตุผลน้อย และเด็กมีทัศนคติที่ดีน้อยต่อการควบคุมสื่อมวลชน? 3. ประเภทของเยาวชนที่พบความสัมพันธ์ระหว่าง ภูมิต้านทานการเสพติดของเด็กกับปัจจัยทางครอบครัว ได้แก่ กลุ่มย่อยที่แบ่งตามลักษณะของครอบครัว 4 กลุ่ม เรียงตามลำดับความสำคัญอย่างเด่นชัดดังนี้คือ กลุ่มนักเรียนที่บิดามีระดับการศึกษาต่ำ นักเรียนจากครอบครัวขนาดเล็ก และนักเรียนจากครอบครัวขนาดใหญ่ นักเรียนที่อาศัยอยู่กับบิดามารดา ผลปรากฎอย่างเชื่อมั่นได้ว่า ก. ในกลุ่มนักเรียนที่บิดามีระดับการศึกษาต่ำ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภูมิต้านทานการเสพติด 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด ปริมาณการชักจูงจากเพื่อน และปริมาณความใกล้ชิดกับยาเสพติด ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับภูมิต้านทานการเสพติด 2 ด้านคือ การชักจูงจากเพื่อนและความใกล้ชิดกับยาเสพติด ส่วนนักเรียนที่บิดามีระดับการศึกษาสูง พบว่าการอบรมเลี้ยงดูไม่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก ข. ในกลุ่มนักเรียนจากครอบครัวขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และใช้เหตุผล มีความสัมพันธ์กับความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติดมากกว่ากลุ่มนักเรียนจากครอบครัวขนาดกลาง ส่วนทัศนคติของเด็กต่อการควบคุมสื่อมวลชน? มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด และการชักจูงจากเพื่อนมากกว่ากลุ่มนักเรียนจากครอบครัวขนาดกลาง ค. ในกลุ่มนักเรียนที่อาศัยอยู่กับบิดามารดา พบว่าการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านคือ ความรู้เกี่ยวกับ สาเหตุของการเสพติด การชักจูงจากเพื่อน และความใกล้ชิดกับยาเสพติด แตกต่างจากนักเรียนที่อาศัยอยู่กับผู้อื่น ซึ่งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน กับภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลสูง สามารถต้านทานอิทธิพลการชักจูงจากเพื่อนได้มากในกลุ่มนักเรียนที่อาศัยอยู่กับบิดามารดา แต่ไม่พบความสัมพันธ์เช่นนี้ในกลุ่มนักเรียนที่อาศัยอยู่กับผู้อื่น --------------------------------------------------------------------------------