ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพัฒนาการด้านการหยั่งลึกทาง สังคมของนักเรียนระดับประถมศึกษาในกรุงเทพ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 36 ผู้วิจัย อ.งามตา วนินทานนท์ ผศ.วันเพ็ญ พิศาลพงศ์ อ.อรพินทร์ ชูชม รศ.อัจฉรา สุขารมณ์ ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อตรวจสอบว่าเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา (อายุระหว่าง 9 - 10 ปี) กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้จะมีพัฒนาการด้านการหยั่งลึกทางสังคมอยู่ในระดับตามที่ โรเบิร์ต แอล เซลแมน นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งกำหนดไว้ในโครงสร้างการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือไม่ 2. เพื่อหาองค์ประกอบที่เอื้อต่อพัฒนาการด้านการหยั่งลึกทางสังคมของเด็ก โดยมุ่ง ศึกษาองค์ประกอบที่เกี่ยวกับตัวเด็กและครอบครัวเป็นสำคัญ 3. เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของเด็กในกลุ่ม ตัวอย่างกับการได้รับความนิยมในหมู่เพื่อน วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จำนวน 109 คน ซึ่งได้ศึกษาติดตามมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนในชั้นเด็กเล็ก และบิดามารดาของเด็กทั้งหมดนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสอบถาม 2 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามบิดามารดาเกี่ยวกับลักษณะทางชีวสังคม ภูมิหลังของครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่เน้นการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์สังคม สติปัญญาและจริยธรรม และแบบสอบถามบิดามารดาเกี่ยวกับการส่งเสริมประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็ก และแบบวัดลักษณะของเด็ก 2 ฉบับ ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคม และแบบวัดการได้รับความนิยมในหมู่เพื่อน ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบวัด 2 ฉบับ ที่สร้างขึ้นตามตัวแปรที่กำหนดกับเด็กกลุ่มตัวอย่าง (อายุระหว่าง 9 - 10 ปี) ในปลายปีการศึกษา 2526 พร้อมทั้งขอให้บิดามารดาของเด็กตอบแบบสอบถามการส่งเสริมประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็ก และให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะ ทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัวเพิ่มเติม ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการอบรมเลี้ยงดูบุตร ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัวส่วนใหญ่นั้นเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้แล้วตั้งแต่ครั้งที่เด็กกลุ่มนี้มาสมัครสอบเข้าเรียนในชั้นเด็กเล็ก (อายุระหว่าง 5 - 6 ปี) ในปีการศึกษา 2522 และได้ใช้ข้อมูลส่วนนี้ร่วมกับโครงการวิจัยย่อยอีก 3 โครงการ การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4 ข้อ โดยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับดังนี้ 1. หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มที่แยกตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัว 2. เปรียบเทียบความแตกต่างของความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ที่มีลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัวต่างกัน และ 3. วิเคราะห์ความแปรปรวนของคะแนนความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของเด็ก โดยพิจารณาตามตัวแปรอิสระต่าง ๆ ทั้งแบบทางเดียวและแบบสองทาง สรุปผล 1. จากการวิเคราะห์คะแนนความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของเด็กในกลุ่มตัวอย่างพบว่า เด็กส่วนใหญ่คือ 90 คน จากจำนวนทั้งหมด 109 คน (คิดเป็นร้อยละ 82.6) มีคะแนนความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมอยู่ในระดับ 3 มีเด็กเพียง 6 คน (คิดเป็นร้อยละ 5.5) เท่านั้นที่มีคะแนนความสามารถในการหยึ่งลึกทางสังคมอยู่ในระดับ 2 และมีเด็ก 13 คน (คิดเป็นร้อยละ 11.9) ได้คะแนนความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมอยู่ในระดับ 4 และเมื่อเปรียบเทียบระดับความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของเด็กไทยกลุ่มนี้กับของเด็กอเมริกันวัยใกล้เคียงกัน กลุ่มที่เซลแมนใช้ศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบพัฒนาการความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเด็กไทย (อายุ 9 - 10 ปี) ในกลุ่มตัวอย่างนี้มีการเจริญเติบโตทางด้านความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมก้าวหน้ากว่าเด็กอเมริกันที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ผลที่พบนี้ผู้วิจัยได้อธิบายด้วยเหตุผลในแง่ของความแตกต่างทางวัฒนธรรม 2. ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบที่เอื้อต่อพัฒนาการด้านการหยั่งลึกทางสังคม พบว่า ความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างมีความสัมพันธ์กับการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่เน้นการพัฒนาทั้งในแบบรวมและแบบที่เน้นการพัฒนาแต่ละด้าน (ได้แก่ ด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา และจริยธรรม)และสัมพันธ์กับการส่งเสริมประสบการณ์ทางสังคม ที่ครอบครัวให้แก่เด็กด้วยอย่างเด่นชัดเฉพาะในกลุ่มที่แยกย่อยตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลัง ของครอบครัวบางลักษณะ กล่าวคือ เด็กที่มีความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมสูง ได้แก่ 1) เด็กที่มีมารดาเป็นแม่บ้าน และได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์ สังคมและด้านจริยธรรม 2) เด็กที่มารดารับราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจ และได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์สังคม 3) เด็กหญิงเด็กจากครอบครัวที่บิดามีการศึกษาระดับต่ำและเด็กที่มาจากครอบครัวขยาย ซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านจริยธรรม 4) เด็กที่มารดามีการศึกษาระดับต่ำและเด็กที่มารดาประกอบธุรกิจส่วนตัวซึ่งได้รับการส่งเสริม ประสบการณ์ทางสังคมจากครอบครัวมาก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่บิดาหรือมารดา ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีการศึกษาระดับสูง แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะมีการศึกษาระดับต่ำ เด็กก็มีความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคมสูงกว่าเด็กที่บิดาและมารดามีการศึกษาระดับต่ำ 5) ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งจากการวิเคราะห์พบอย่างเด่นชัดว่าความสามารถในการหยั่งลึกทางสังคม ของเด็กสูงเท่าใด เด็กคนนั้นก็ได้รับความนิยมในหมู่เพื่อนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลการวิจัยนี้สนับสนุนข้อค้นพบของเพียเจท์ นักจิตวิทยาคนสำคัญท่านหนึ่งที่ว่า ความนิยมที่เด็กได้รับจากเพื่อนมีความสัมพันธ์กับความสามารถของเด็กในการยอมรับความคิดจากแง่มุมของผู้อื่น --------------------------------------------------------------------------------