ค่านิยมของชาวชนบทไทย :เปรียบเทียบค่านิยม ทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณี -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 35 ผู้วิจัย อ.ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก อ.อ้อมเดือน สดมณี ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาผลกระทบของการพัฒนา (Modernization) ที่มีต่อชาวชนบทไทย ได้แก่ การศึกษาผลกระทบของการรับเอาความเจริญทางด้านสภาพแวดล้อม เช่น สภาพที่อยู่อาศัย ระดับความเป็นอยู่ เป็นต้น ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณีของชาวชนบทไทย 2. เพื่อศึกษาระดับของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณีของชาวชนบทไทย 3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณี ซึ่งได้แก่ การศึกษาปริมาณมากน้อยของการรับเอาความเจริญกับปริมาณมากน้อยของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทั้งสองด้าน วิธีดำเนินการวิจัย 1. เลือกกลุ่มประชากรในหมู่บ้านภาคกลางของประเทศไทยเพื่อการศึกษา โดยใช้เกณฑ์จากการวัดด้วยแบบชี้วัดความเจริญเลือกได้ประชากรที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างได้ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจัดเป็นกลุ่มหมู่บ้านเจริญ และอีกกลุ่มหนึ่งจัดเป็นหมู่บ้านไม่เจริญ จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมี 161 คน แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านเจริญ 78 คน และกลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านไม่เจริญ 83 คน 2. กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวตอบแบบสอบถามเรื่องค่านิยมของชาวชนบทไทย ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาด้านข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบ ค่านิยมทั้งสองด้าน ลักษณะความทันสมัย และความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอก 3. วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านเจริญและหมู่บ้านไม่เจริญ สรุปผล 1. ไม่พบผลตามสมมติฐานที่ว่า กลุ่มชาวชนบทไทยที่ได้รับความเจริญมากกว่าจะมีระดับความแตกต่างของค่านิยมทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณีอยู่ในระดับสูง 2. พบผลตามสมมติฐานข้อที่ว่า กลุ่มชาวชนบทไทยที่ได้รับความเจริญน้อยกว่าจะมีระดับของค่านิยมทางวัตถุกับค่านิยมทางระเบียบประเพณีอยู่ในระดับต่ำ 3. ไม่พบผลตามสมมติฐานข้อที่ว่า เพศ อายุ และระดับการศึกษามีอิทธิพลต่อความ แตกต่างของค่านิยมทั้งสองด้าน แต่เมื่อได้จำแนกวิเคราะห์คะแนนค่านิยมทางระเบียบประเพณี อายุ เพศ และการศึกษาแล้วพบว่า ประชากรกลุ่มอายุ 16 - 30 ปี เป็นผู้มีค่าเฉลี่ยของคะแนนค่านิยมทางระเบียบประเพณีสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ และเพศชายเป็นผู้มีระดับค่านิยมทางระเบียบประเพณีสูงกว่าเพศหญิง --------------------------------------------------------------------------------