การยึดหลักทางศาสนาในการดำเนินชีวิตของ ชาวชนบทไทยและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 34 ผู้วิจัย อ.ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก อ.อ้อมเดือน สดมณี ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ การวิจัยเรื่อง การยึดหลักทางศาสนาในการดำเนินชีวิตของชาวชนบทไทย และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง เป็นการวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ข้อคือ 1. เพื่อศึกษาดูว่าประชากรชนบทไทยยังคงยึดมั่นอยู่ในความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาหรือไม่และอยู่ในระดับใด โดยการพิจารณาดูว่าประชากรชนบทไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีความเจริญมาก และได้รับการเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้มีระดับดีขึ้น จะยังคงยึดถือ ความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาอยู่ในระดับใด ขณะเดียวกันก็ดูว่าประชากรชนบทไทยที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงน้อย มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นแบบเดิมจะยังคงยึดถือความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาอยู่ในระดับใด และมีการเปรียบเทียบประชากรทั้งสองกลุ่มนี้ เพื่อดูความแตกต่างของการยึดถือความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนา โดยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า ประชากรชนบทไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่มากกว่าจะลดหย่อนการยึดถือ ความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาลงมากกว่าประชากรชนบทไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่น้อย 2. การดูแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงการยึดถือความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนา โดยการศึกษาจากกลุ่มเด็กที่อาศัยในชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากและที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย โดยตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า ประชากรในวัยเด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากจะลดหย่อนการยึดถือ ความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาลงมากกว่าประชากรในวัยเด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้ ได้แก่ ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กลุ่มหนึ่งจัดเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เจริญ อีกกลุ่มหนึ่งจัดเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่เจริญ กลุ่มตัวอย่างในชุมชนเจริญมีจำนวน 126 คน แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่จำนวน 63 คน และกลุ่มตัวอย่างเด็กจำนวน 63 คน กลุ่มตัวอย่างในชุมชนไม่เจริญมีทั้งหมด 134 คน แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 67 คน และกลุ่มตัวอย่างเด็ก จำนวน 67 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลทำโดยการให้กลุ่มตัวอย่างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตอบแบบสอบถามเรื่องการยึดหลักทางศาสนา ซึ่งแบ่งออกเป็นสองฉบับ ฉบับแรกใช้กับผู้ใหญ่ และฉบับหลังใช้กับเด็ก แบบสอบถามฉบับหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยคำถามสองตอน ในตอนแรกเป็นการหาข้อมูลเบื้องต้นกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และทางด้านศาสนาของผู้ตอบ ในตอนที่สองเป็นการวัดการยึดถือความเชื่อ ค่านิยม และหลักคำสอนทางพุทธศาสนาของผู้ตอบ สำหรับฉบับที่ใช้กับกลุ่มตัวอย่างเด็กนั้น ได้เพิ่มการวัดระดับจริยธรรมด้วย ข้อคำถามทุกข้อของแบบสอบถามทั้งสองฉบับ ยกเว้นในตอนที่วัดระดับจริยธรรมเท่านั้นมีลักษณะเป็นปลายเปิดเพื่อให้ผู้ตอบสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ การวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำเป็นสองส่วน ในส่วนแรกเป็นการหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผู้ตอบ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และทางด้านศาสนา มีการเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ในระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในชุมชนเจริญและไม่เจริญ สถิติที่ใช้ในส่วนนี้ใช้การหาค่าร้อยละ (Percentage) เมื่อทำการวิเคราะห์ในส่วนนี้แล้วก็มีการแปรผลออก สำหรับส่วนที่สอง เป็นการทดสอบสมมติฐานสี่ข้อที่ได้วางไว้ เพื่อดูว่าข้อมูลที่ได้มีการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนสมมติฐานข้อใดบ้าง สถิติที่ใช้ในส่วนนี้ใช้การหาค่าไค-สแควร์ (Chi-square) เมื่อวิเคราะห์แล้วก็ได้มีการแปลผลออก และยังมีการใช้การหาค่าร้อยละ (Percentage) เพื่อดูระดับจริยธรรมของเด็กทั้งสองกลุ่ม สรุปผล การวิจัยนี้ได้พบผลที่น่าสนใจดังนี้คือ 1. กลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านเจริญและไม่เจริญมีความแตกต่างกัน ทางด้านพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และสถานภาพทางครอบครัว กล่าวคือ ผู้อยู่ในหมู่บ้านเจริญมีระดับเศรษฐกิจ การศึกษาสูงกว่า และมีจำนวนบุตรในครอบครัวน้อยกว่า แต่ทางด้านศาสนานั้น ผู้อยู่ในหมู่บ้านเจริญมีตำแหน่ง หน้าที่ ทางศาสนาและประสบการณ์เกี่ยวข้องกับทางศาสนาต่ำกว่า และยังเข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนาต่ำกว่าด้วย 2. พบว่ากลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านเจริญมีความเชื่อทางพุทธศาสนาต่ำกว่า 3. พบว่าความเชื่อทางพุทธศาสนาของกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยในวัยเด็กจะมีความเชื่อสูงมาก แล้วลดลงและจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงขึ้น 4. พบว่าเด็กในหมู่บ้านเจริญมีความเชื่อทางพุทธศาสนาน้อยกว่าเด็กในหมู่บ้านไม่เจริญ 5. พบว่าผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเจริญมีการยึดถือค่านิยมทางพุทธศาสนา เช่น ความเมตตากรุณา การมีศีลมีธรรม การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การวางเฉย ?ล? น้อยกว่าผู้ใหญ่ในหมู่บ้านไม่เจริญด้วย งานวิจัยนี้ยังได้พบผลบางประการที่มีความสำคัญคือ พบว่าผู้ใหญ่ในหมู่บ้านไม่เจริญมีความรู้ความเข้าใจในหลักการของพุทธศาสนาน้อยกว่า อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดการปฎิบัตินี้ให้แก่ลูกด้วยและเหตุการณ์เช่นนี้ก็พบในกลุ่มเด็กด้วยเมื่อเปรียบเทียบเด็กทั้งสองกลุ่ม เด็กในหมู่บ้านไม่เจริญปฎิบัติตามหลักการทางพุทธศาสนามีความใกล้ชิดกับวัดมากกว่า และบิดามารดาเป็นผู้มีอิทธิพลในการถ่ายทอดทางศาสนาแก่บุตร ส่วนเด็กในหมู่บ้านเจริญเข้าใจในเหตุผลของพุทธศาสนา แต่ปฎิบัติตามน้อย พ่อแม่ก็ยังเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้น้อยกว่าด้วย และครูเป็นผู้มีอิทธิพลในการถ่ายทอดทางศาสนาแก่เด็กกลุ่มนี้มากกว่า ผลที่น่าสนใจยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ พบว่าเด็กในหมู่บ้านไม่เจริญมี ระดับจริยธรรมสูง คือ มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรับผิดชอบสูงกว่าเด็กในหมู่บ้านเจริญ --------------------------------------------------------------------------------