ทัศนคติของปู่ย่าตายายและบิดามารดาที่มีต่อกันใน เรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กและผลที่มีต่อลักษณะ พฤติกรรมบางประการของเด็ก -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 33 ผู้วิจัย ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต อ.ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร ปีที่พิมพ์ 2529 วัตถุประสงค์ 1. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติของปู่ย่าตายายและบิดามารดาที่มีต่อการอบรมเลี้ยงดูบุตร 2. เปรียบเทียบลักษณะพฤติกรรมของเด็กในการเข้าสังคม และความพร้อมในการเรียนของเด็กระหว่างกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีปริมาณความขัดแย้งในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูต่างกันของปู่ย่าตายายและบิดามารดา และระหว่างกลุ่มเด็กที่บิดามารดาและปู่ย่าตายายมีระดับการศึกษาแตกต่างกัน 3. เปรียบเทียบปริมาณความขัดแย้งในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายและบิดา-มารดา ระหว่างครอบครัวที่รายงานขัดแย้งกันในเรื่องการมีอำนาจในครอบครัว วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 เด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 100 คน เป็นชาย 52 คน หญิง 48 คน อายุเฉลี่ย 4.5 ปี ซึ่งอยู่ในครอบครัวขยาย 100 ครอบครัว ที่มีปู่หรือย่าหรือตาหรือยาย และบิดามารดาให้การอบรมเลี้ยงดูร่วมกัน กลุ่มที่ 2 คือ ปู่ย่าตายายของเด็ก จำนวน 100 คน อายุเฉลี่ย 60-65 ปี มีอาชีพทำงานในบ้าน 29 คน นอกบ้าน 22 คน และไม่ได้ทำงาน 49 คน ระดับการศึกษาแบ่งเป็น ไม่ได้รับการศึกษา 19 คน ระดับประถมศึกษา 46 คน ระดับมัธยมศึกษา 22 คน และระดับอุดมศึกษา 12 คน กลุ่มที่ 3 คือ พ่อแม่ของเด็ก จำนวน 100 คน อายุเฉลี่ย 32.28 ปี มีอาชีพทำงานในบ้าน 16 คน ทำงานนอกบ้าน 80 คน ไม่ได้ทำงาน 4 คน ระดับการศึกษาแบ่งเป็น ไม่ได้รับการศึกษา 1 คน ระดับประถมศึกษา 32 คน ระดับมัธยมศึกษา 12 คน ระดับอุดมศึกษา 54 คน กลุ่มที่ 4 ครูประจำชั้นของเด็กที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล 1. แบบสอบถาม วัดทัศนคติต่อการอบรมเลี้ยงดูแบบมาตราส่วนประมาณค่าชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 50 ข้อ ซึ่งถามในเรื่อง ก.ความเชื่อ ปรัชญา และวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่สำคัญ ๆ ข. เรื่องการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก ค. กระบวนการอบรมเด็กเพื่อให้เข้ากับสังคมระเบียบวินัย และจริยธรรม และ ง. การส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก 2. แบบสอบถาม วัดลักษณะพฤติกรรมในการเข้าสังคมของเด็ก เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าชนิด 5 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 3. แบบสอบถามวัดความพร้อมในด้านการเรียนของเด็ก จำนวน 64 ข้อ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ปู่ย่าตายาย และบิดามารดาของเด็กในเรื่องการอบรมเลี้ยงดู วัดความพร้อมของเด็กเป็นรายบุคคล และให้ครูประจำชั้นประเมินลักษณะพฤติกรรมในการเข้าสังคมของเด็ก ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ สถิติค่า T วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ในการทดสอบสมมติฐาน สรุปผล 1. ทัศนคติของปู่ย่าตายาย และบิดามารดาในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็ก มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. กลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีปริมาณความขัดแย้งในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูต่างกันของปู่ย่าตายายและบิดามารดา ไม่พบว่าแตกต่างกันในเรื่องต่อไปนี้ 2.1 ลักษณะพฤติกรรมในการเข้าสังคมของเด็กในสภาพการณ์ต่อไปนี้ ก. เวลาเรียน ข. ในสนามเด็กเล่น ค. ในเวลารับประทานอาหาร ง. ในสภาพการณ์รวมทั้งสามสภาพการณ์ 2.2 ความพร้อมในด้าน ก. ความรู้ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ข. ความคล่องแคล่วทางภาษา การคิด และการแสดงออก ค. ความรู้เกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งของสิ่งของ ง. การรับรู้ และความสามารถในการเลียนแบบ จ. ความพร้อมรวมทั้ง 4 ด้าน 3. กลุ่มเด็กที่อยู่กับบิดามารดาและปู่ย่าตายายที่มีระดับการศึกษาไม่ต่างกัน กล่าวคือ มีการศึกษาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จะมีลักษณะพฤติกรรมในการเข้าสังคมรวมทุกสภาพการณ์ดีกว่าเด็กที่อยู่กับบิดามารดา และปู่ย่าตายาย ที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนความพร้อมของเด็กในทุกด้าน ไม่พบความแตกต่าง 4. ในเรื่องการมีอำนาจในครอบครัว ผู้วิจัยใช้ตัวแปรด้านการหารายได้ เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน พบว่าครอบครัวที่รายงานขัดแย้งว่าผู้ใดเป็นคนหารายได้ มีปริมาณความขัดแย้งในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูมากกว่าครอบครัวที่รายงานสอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ --------------------------------------------------------------------------------