ปัจจัยทางจิตวิทยานิเวศที่เกี่ยวกับการอบรม เลี้ยงดูเด็กของมารดาไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 32 ผู้วิจัย รศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน อ.อรพินทร์ ชูชม อ.งามตา วนินทานนท์ ปีที่พิมพ์ 2528 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยานิเวศและจิตวิทยาพัฒนาการทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กของมารดาไทย จุดมุ่งหมายทางการวิจัยอาจจำแนกเป็น 3 ประการ 1. เพื่อศึกษาว่ามารดาที่อยู่ในครอบครัวที่มีความแออัดของที่พักอาศัยในปริมาณต่างกัน จะมีลักษณะทางจิตใจบางประการแตกต่างกันหรือไม่ 2.เพื่อศึกษาว่าสภาพแออัดทางบ้านและลักษณะทางจิตใจของมารดาจะเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กของมารดาเพียงไร 3. เพื่อศึกษาว่ามารดาที่มีลักษณะทางชีวสังคม ภูมิหลังและจิตลักษณะบางประการต่างกัน จะมีแบบแผนการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่แตกต่างกันอย่างไร วิธีดำเนินการวิจัย ในการวิจัยนี้ได้ศึกษาผู้ปกครองของนักเรียนประถมต้นและมัธยมต้นในกรุงเทพ? จำนวน 662 คน เป็นมารดาของนักเรียน 386 คน บิดา 145 คน และผู้ปกครองประเภทอื่นอีก 130 คน (58% 22% และ 20% ของผู้ตอบทั้งหมดตามลำดับ) ครึ่งหนึ่งมาจากโรงเรียนในถิ่นที่แออัดมาก อีกครึ่งหนึ่งมาจากโรงเรียนในถิ่นที่แออัดน้อย ผู้ปกครองเหล่านี้ได้ตอบแบบวัดและแบบสอบถามที่โรงเรียนภายใต้การอำนวยการของคณะผู้วิจัย ตัวแปรที่ศึกษามี 4 กลุ่มคือ 1. สภาพแออัดของที่พักอาศัย 6 ด้านคือ จำนวนคนต่อพื้นที่ 100 ตารางวา จำนวนคนต่อห้อง ปริมาณการใช้ประโยชน์จากห้องนอน จำนวนบุตร ระยะห่างจากบ้านคนอื่น และจำนวนปัญหาในท้องถิ่น ตัวแปรกลุ่มนี้ผู้ปกครองตอบโดยการเติมคำหรือตัวเลขในที่ ๆ เว้นไว้ให้ 2. จิตลักษณะ 6 ประการคือ ความรู้สึกแออัดทางบ้าน สุขภาพจิต ทัศนคติต่อบุตร ความเชื่ออำนาจภายนอกตนในผลของการเลี้ยงดูเด็ก และการผลักภาระการดูแลเด็กให้ทางโรงเรียน จิตลักษณะเหล่านี้วัดโดยใช้แบบวัดอันประกอบด้วยประโยคประกอบมาตรประเมินค่า 6 หน่วย จำนวน 10 ถึง 15 ข้อ สำหรับแต่ละจิตลักษณะ ส่วนจิตลักษณะสุดท้ายคือความรู้ในการปฎิบัติต่อเด็ก วัดโดยให้ขีดตอบว่าประโยคบอกเล่า 15 ประโยค แต่ละประโยคเป็นข้อความที่ถูกหรือผิด 3. การอบรมเลี้ยงดูเด็ก 5 แบบ อันประกอบด้วยการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน แบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แบบลงโทษทางกายมากกว่าทางจิต และแบบควบคุม วัดโดยใช้ประโยคประกอบมาตรประเมินค่า 6 หน่วย แต่ละแบบวัดมี 10 ข้อ ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบให้เด็กพึ่งตนเอง (ช้า - เร็ว) นั้น ผู้ตอบจะต้องขีดตอบเกี่ยวกับอายุของเด็กขณะที่เริ่มรับการฝึกกระทำ กิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตนเองเป็นจำนวน 10 กิจกรรม 4. ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของผู้ตอบของครอบครัว และของเด็กในปกครอง วัดโดยให้ขีดตอบและเติมคำตอบ รวมตัวแปรที่ศึกษาทั้งสิ้น 30 ตัว การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยนี้ได้กระทำหลายวิธีตั้งแต่การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบแฟคตอเรียลสองและสามทาง การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณเป็นขั้น และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทีละคู่ เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ 6 ข้อ การวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ได้กระทำในกลุ่มรวม และกลุ่มที่แบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของผู้ตอบของครอบครัวและของเด็กในปกครอง ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างบิดาและมารดา และระหว่างมารดาประเภทต่าง ๆ ด้วย สรุปผล 1. พบว่าดัชนีสภาพแออัดทางกายภาพของที่พักอาศัย 4 ตัวร่วมกัน สามารถทำนายปริมาณความแปรปรวนของความรู้สึกแออัดทางบ้านของผู้ปกครองได้มากที่สุด (โดยเฉลี่ย 16.89%) รองลงมาคือสามารถทำนายปริมาณสุขภาพจิตที่ดี และความเชื่ออำนาจนอกตน (ทำนายได้โดยเฉลี่ย 8.47% และ 6.26% ตามลำดับ) ส่วนจิตลักษณะอีก 3 ด้านนั้นดัชนีสภาพแออัดของที่พักอาศัยทำนายได้ต่ำมาก สภาพแออัดของที่พักอาศัยที่พบว่ามีความสำคัญต่อจิตลักษณะ 3 ประการ ที่กล่าวไปแล้วคือ จำนวนคนต่อห้อง ปริมาณการใช้ประโยชน์จากห้องนอน และจำนวนคนต่อพื้นที่ 100 ตารางวา ในการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างประเภทต่าง ๆ พบว่า ดัชนีสภาพแออัดของ ที่พักอาศัยสามารถทำนายปริมาณของจิตลักษณะต่าง ๆ ของบิดาโดยเฉลี่ยได้สูงกว่าทำนายจิตลักษณะของมารดา (9.17% และ 6.83% ตามลำดับ) ส่วนในหมู่มารดาประเภทต่าง ๆ นั้น มารดาที่มีการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษานั้น ดัชนีสภาพแออัดทางบ้านทำนายจิตลักษณะของมารดาประเภทนี้ได้มากที่สุด (โดยเฉลี่ย 17.33%) และทำนายจิตลักษณะของมารดาที่มีการศึกษาต่ำ และมารดาที่ไม่มีงานอาชีพได้ต่ำที่สุด (โดยเฉลี่ย 3.5% และ 4.5% ตามลำดับ) 2. พบว่าจิตลักษณะ 6 ประการของผู้ปกครองสามารถทำนายการอบรมเลี้ยงดูทุกแบบที่ศึกษา ได้โดยเฉลี่ยมากกว่าดัชนีสภาพแออัดทางกายภาพ 6 ด้าน (ทำนายได้โดยเฉลี่ย 15.83% และ 1.9% ตามลำดับ) จิตลักษณะ 6 ตัวนี้สามารถร่วมกันทำนายปริมาณการอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ได้สูงสุด (39.46%)ทำนายปริมาณการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนได้เป็นรองลงมา (17.69%) และทำนายปริมาณการควบคุมเด็ก การลงโทษทางกายมากกว่าทางจิต และการฝึกเด็กให้พึ่งตนเองได้น้อย (9.92% 7.83% และ 2.54% ตามลำดับ) จิตลักษณะที่มีบทบาทสำคัญในการทำนายนี้มี 3 ตัวคือ ทัศนคติต่อบุตร สุขภาพจิต และความรู้ในการปฎิบัติต่อเด็ก การวิเคราะห์ในกลุ่มย่อยพบว่า จิตลักษณะเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กในหมู่มารดามากกว่าในหมู่บิดา ส่วนในหมู่มารดาด้วยกันนั้น จิตลักษณะสามารถทำนายการอบรมเลี้ยงดูของมารดาที่มีการศึกษาสูงได้มากที่สุด (โดยเฉลี่ย 23.60%) ทำนายการอบรมเลี้ยงดูในหมู่มารดาที่มีงาน อาชีพ มารดาที่ไม่มีงานอาชีพ และมารดาที่มีการศึกษาต่ำได้น้อยลงเป็นลำดับ (17.60% 15.00% และ 13.80% ตามลำดับ) 3. พบว่าผู้ปกครองนักเรียนประถมต้น มีแบบแผนการอบรมเลี้ยงดูเด็ก 5 ด้านที่เหมาะสมน้อยกว่า ผู้ปกครองนักเรียนมัธยมต้น กล่าวคือผู้ปกครองนักเรียนประถมต้น ถ้าเลี้ยงดูเด็กแบบรักสนับสนุนมาก และใช้เหตุผลมาก มักจะมีการควบคุมเด็กน้อยลง ส่วนในผู้ปกครองนักเรียนมัธยมต้นก็มีแบบแผนการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้างคือ ถ้ามารดารักสนับสนุนวัยรุ่นมากเท่าใดก็จะลงโทษทางกายมากด้วย ซึ่งปรากฎบ่อยครั้งในมารดาที่มีการศึกษาต่ำและรู้สึกแออัดทางบ้านมาก จากผลการวิจัยเรื่องนี้ มีข้อเสนอแนะที่สำคัญสองประการคือ 1. ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุและปัญหาทางด้านอื่น ๆ ของการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะในมารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ 2. ควรมีโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของครอบครัวและพัฒนามารดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กของมารดาเหล่านี้ โดยการวิจัยนี้ได้ให้ข้อมูลที่อาจนำไปใช้ในการกำหนดจุดมุ่งหมาย แนวทางและเนื้อหาในโครงการพัฒนาเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของเยาวชนไทยต่อไป --------------------------------------------------------------------------------