การอบรมเลี้ยงดูกับพัฒนาการทางสติปัญญา ด้านเหตุผลของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 31 ผู้วิจัย รศ.อัจฉรา สุขารมณ์ ผศ.วันเพ็ญ พิศาลพงศ์ อ.งามตา วนินทานนท์ อ.อรพินทร์ ชูชม ปีที่พิมพ์ 2528 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาแต่ละด้าน (ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์สังคม ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรม) กับพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลเฉพาะเรื่อง การอนุรักษ์ความยาว การอนุรักษ์จำนวน และการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) และเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลของนักเรียนที่มีเพศต่างกัน และได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านสติปัญญามากน้อยต่างกัน วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เด็กที่มาสอบเข้าโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อปีการศึกษา 2522 โดยได้ศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาที่ใช้กับเด็กกลุ่มนี้ในช่วงระยะเวลานั้น และต่อมาในปีการศึกษา 2524 ได้ทำการศึกษาเด็กกลุ่มเดียวกันนี้ เมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ของ โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จำนวน 107 คน เป็นชาย 57 คน หญิง 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1. แบบสอบถามบิดามารดาเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตร 2. แบบทดสอบแบบการคิดให้เหตุผลตามหลักการอนุรักษ์ของเพียเจท์ 3. แบบทดสอบการจัดรวมประเภท (Class inclusion) ดอกไม้ของเพียเจท์ การวิเคราะห์ข้อมูล 1. ตรวจให้คะแนนการอนุรักษ์ความยาว การอนุรักษ์จำนวนและการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) ตามเกณฑ์ของเพียเจท์ 2.หาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูในแต่ละด้านกับการอนุรักษ์ความยาว การอนุรักษ์จำนวน และการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเฟียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) 3.เปรียบเทียบพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลของนักเรียนที่มีเพศต่างกันและได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านสติปัญญา มากน้อยต่างกัน โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง (Two-way analysis of variance) แล้วทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ตามวิธีของ นิวแมนคูลส์ (Newman - Keuls) สรุปผล 1. ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาที่เน้นการพัฒนาแต่ละด้าน 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์สังคม ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรม กับพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลเฉพาะเรื่อง การอนุรักษ์ความยาว การอนุรักษ์จำนวน และการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาในแต่ละด้านกับพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผล 2.จากการเปรียบเทียบพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลของนักเรียนที่มีเพศต่างกันและได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนา ด้านสติปัญญามากน้อยต่างกัน ปรากฎผลดังนี้คือ 2.1 การอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านสติปัญญามากน้อยต่างกันในบุตรที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผล เฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ความยาว 2.2 การอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านสติปัญญามากน้อยต่างกันในบุตรที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผลเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์จำนวน 2.3 การอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านสติปัญญามากน้อยต่างกันในบุตรที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาด้านเหตุผล เฉพาะเรื่องการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) --------------------------------------------------------------------------------