ความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดู ความพร้อม ทางการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 30 ผู้วิจัย อ.อรพินทร์ ชูชม ผศ.วันเพ็ญ พิศาลพงศ์ ผศ.อัจฉรา สุขารมณ์ อ.งามตา วนินทานนท์ ปีที่พิมพ์ 2527 วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการคือ 1. เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีภูมิหลังต่างกัน 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดู ความพร้อมทางการเรียน และภูมิหลังของนักเรียนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระยะต่อมา 3. เพื่อค้นหากลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จำนวน 115 คน ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลบางส่วนตั้งแต่เมื่อมาสมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้นเด็กเล็กในโรงเรียนนี้ เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามวิธีการอบรมเลี้ยงดู แบบวัดความพร้อมทางการเรียนและแบบบันทึกคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การทดสอบด้วยค่าสถิติที การวิเคราะห์ความแปรปรวน และการ วิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณชนิดสเตปไวส์ และเอ็นเทอร์ สรุปผล 1. นักเรียนที่มีภูมิหลังต่างกันในเรื่องเพศ ระดับการศึกษาของบิดา อาชีพของบิดา และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมต่างกัน ส่วนนักเรียนที่มีภูมิหลังต่างกันในเรื่องลำดับการเกิดจำนวนพี่น้อง การทำงานของมารดา บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูและความมุ่งหวังของบิดามารดาที่จะให้บุตรเลือกประกอบอาชีพใดในอนาคต มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมไม่ต่างกัน 2. ความพร้อมทางการเรียนที่แยกเฉพาะแต่ละด้านซึ่งมี 4 ด้าน (ความพร้อมด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ความพร้อมด้านความคล่องแคล่วทางภาษาการคิดและการแสดงออก ความพร้อมด้านความรู้เกี่ยวกับจำนวน ตำแหน่งแหล่งที่ของสิ่งของ และความพร้อมด้านการรับรู้ประสาทสัมผัสและการเลียนแบบ) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และระดับการศึกษาของมารดา ต่างก็มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวม ส่วนการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาเฉพาะแต่ละด้านซึ่งมี 4 ด้าน (การอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-สังคม ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรม) ตลอดจนรายได้ของบิดามารดา ลำดับการเกิดของบุตร และระดับการศึกษาของบิดา ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวม 3. เมื่อใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมเป็นตัวเกณฑ์ในการพยากรณ์ พบว่า กลุ่มตัวพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเรียงตามลำดับความสำคัญได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ความพร้อมทางการเรียนด้านการรับรู้ประสาทสัมผัสและการเลียนแบบ และ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสังคมศึกษาโดยทั้ง 5ตัวพยากรณ์นี้มีอำนาจในการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมถึงร้อยละ 88.50 แต่เมื่อใช้ตัวเกณฑ์ต่างกันดังนี้ คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา โดยไม่นำตัวพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการพยากรณ์ครั้งนี้พบว่า มีตัวพยากรณ์เพียงตัวเดียวคือ ความพร้อมทางการเรียนด้านการรับรู้ประสาทสัมผัส และการเลียนแบบเป็นตัวร่วมเพียงตัวเดียวที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 4 วิชานี้ สำหรับวิชาภาษาไทยนั้น พบว่าความพร้อมทางการเรียนด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสูงสุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ส่วนความพร้อมด้านการรับรู้ประสาทสัมผัสและการเลียนแบบนั้นพบว่าเป็นตัวพยากรณ์ที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา --------------------------------------------------------------------------------