การศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดู พัฒนาการทางร่างกาย และความพร้อมทางการเรียนของเด็กก่อนวัยเรียนในกรุงเทพ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 29 ผู้วิจัย ผศ.วันเพ็ญ พิศาลพงศ์ อ.งามตา วนินทานนท์ อ.อรพินทร์ ชูชม ผศ.อัจฉรา สุขารมณ์ ปีที่พิมพ์ 2526 วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการวิจัยมี 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยก่อนเรียนในกลุ่มตัวอย่าง โดยพิจารณาที่ภาวะโภชนาการ ประการที่สอง เพื่อศึกษาวิธีอบรมเลี้ยงดูบุตรที่เน้นการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยพิจารณาตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัว และ ประการที่สาม เพื่อศึกษาความพร้อมทางการเรียนด้านต่าง ๆ ของเด็ก โดยพิจารณาตามลักษณะทางชีวสังคม ภูมิหลังของครอบครัว และวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตร วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มประชากร ได้แก่ เด็กที่มาสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในชั้นเด็กเล็ก โรงเรียนประถมสาธิต มศว ประสานมิตร จำนวน 310 คน และบิดามารดาของเด็กทั้งหมดนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ แบบสอบถามบิดามารดาเกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัวเด็ก แบบสัมภาษณ์บิดามารดาเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร แบบวัดความพร้อมทางการเรียนของเด็ก และเครื่องชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งแบบบันทึกน้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติพื้นฐานเพื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่าง การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ 2 ทาง และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ โดยวิธีการของนิวแมน คูลส์ สรุปผล 1. เมื่อพิจารณาจากน้ำหนักและส่วนสูงเป็นเกณฑ์ เด็กก่อนวัยเรียนกลุ่มนี้มีภาวะโภชนาการอยู่ในระดับปกติเป็นส่วนใหญ่ สำหรับภาวะทุพโภชนาการที่พบเป็นส่วนน้อยนั้นก็อยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์แต่เมื่อใช้ส่วนสูงเป็นเกณฑ์ ก็พบภาวะทุพโภชนาการบ้างในระดับเริ่มต้น และในระดับปานกลางเป็นส่วนน้อย และเมื่อแยกตามเพศ เด็กหญิงมีภาวะทุพโภชนาการมากกว่าเด็กชาย ไม่ว่าจะใช้น้ำหนักหรือส่วนสูงเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็ตาม 2. เมื่อพิจารณาวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่เน้นการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตามลักษณะภูมิหลังของครอบครัว พบว่า เด็กที่บิดามีการศึกษาระดับสูงได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาแบบรวมกันทั้ง 4 ด้าน และที่เน้นการพัฒนาเฉพาะด้านจริยธรรมอย่างเหมาะสมกว่าเด็กที่บิดามีการศึกษาระดับต่ำ 3. เมื่อพิจารณาความพร้อมทางการเรียนด้านต่าง ๆ โดยแยกตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัว พบว่า 3.1 เด็กที่มารดามีการศึกษาระดับสูงและได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์สังคมน้อย มีความพร้อมด้านความคล่องแคล่วทางภาษา การคิดและการแสดงออกมากกว่าเด็กที่มารดามีการศึกษาระดับปานกลางและต่ำซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์สังคมน้อยเช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมารดาที่มีการศึกษาระดับสูง สามารถเป็นตัวแบบที่ดีให้เด็กในด้านความคล่องแคล่วทางภาษา การคิด และการแสดงออกได้มากกว่ามารดาที่มีระดับการศึกษาปานกลางหรือต่ำ 3.2 เด็กที่มารดามีการศึกษาระดับสูงและระดับปานกลาง ซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านจริยธรรมในระดับปานกลาง มีความพร้อมรวม และความพร้อมด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและความสามารถในการเลียนแบบมากกว่าเด็กที่มารดามีการศึกษาระดับต่ำ และได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาทางจริยธรรมอย่างเหมาะสมปานกลาง จากข้อค้นพบนี้แสดงว่าระดับการศึกษาของมารดามีผลที่เอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมทางการเรียนของบุตร ทั้งในด้านความพร้อมรวมและความพร้อมด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและความสามารถในการเลียนแบบ 3.3 เด็กที่มารดามีการศึกษาระดับสูง และบิดามารดามีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดูบุตรมาก มีความพร้อมด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเด็กที่มารดามีการศึกษาระดับต่ำและบิดามารดามีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดูบุตรมาก การค้นพบนี้แสดงว่าระดับการศึกษาของมารดามีผลที่เอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของเด็ก 3.4 เด็กซึ่งเป็นบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 ซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์สังคมมาก มีความพร้อมแบบรวม ความพร้อมด้านความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งแหล่งที่ของสิ่งของ และความพร้อมด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและความสามารถในการเลียนแบบ มากกว่าเด็กที่เป็นบุตรคนที่ 3 หรือถัดไป ซึ่งได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านอารมณ์สังคมมาก การค้นพบนี้แสดงว่าลำดับการเกิดของบุตรก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและความสามารถในการเลียนแบบ 3.5 เด็กที่บิดามีการศึกษาระดับสูง มีความพร้อมแบบรวมมากกว่าเด็กที่บิดามีการศึกษาระดับต่ำ แต่เด็กที่มารดามีการศึกษาระดับสูงมีความพร้อมแบบรวม ความพร้อมด้านความรู้ และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ด้านความรู้เกี่ยวกับจำนวนและตำแหน่งแหล่งที่ของสิ่งของ และด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัส การคิดและการแสดงออกมากกว่าเด็กที่มารดามีการศึกษาระดับต่ำ แสดงว่าระดับการศึกษาของมารดาเอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ ของบุตรอย่างเห็นได้ชัด 3.6 ในด้านการประกอบอาชีพของมารดา เด็กที่มารดาประกอบอาชีพมีความพร้อมด้านความคล่องแคล่วทางภาษาการคิดและการแสดงออกมากกว่าเด็กที่มารดาไม่ประกอบอาชีพ ซึ่งอาจเป็นเพราะมารดาที่ประกอบอาชีพน่าจะมีความคล่องแคล่วทางภาษา การคิดและการแสดงออกมากกว่ามารดาที่ไม่ประกอบอาชีพ จึงมีผลให้เด็กได้รับอิทธิพลด้านนี้จากมารดา 3.7 ด้านจำนวนบุตรในครอบครัว เด็กในครอบครัวที่มีบุตรจำนวน 1 ถึง 2 คน มีความพร้อมแบบรวม ความพร้อมด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และความพร้อมด้านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการเลียนแบบมากกว่าเด็กในครอบครัวที่มีจำนวนบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แสดงว่าในครอบครัวที่มีบุตรน้อย มีสถานการณ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมมากกว่าในครอบครัวที่มีบุตรมาก 3.8 ด้านการอบรมเลี้ยงดู พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาด้านจริยธรรมมากและปานกลาง มีความพร้อมด้านความคล่องแคล่วทางภาษา การคิดและการแสดงออกมากกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่เน้นการพัฒนาทางจริยธรรมน้อย ข้อค้นพบนี้จึงแสดงให้เห็นความสำคัญของการฝึกอบรมเด็กทางด้านจริยธรรมแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาความพร้อมของเด็กด้านความคล่องแคล่วทางภาษาการคิดและการแสดงออก 3.9 เมื่อพิจารณาตามลักษณะทางชีวสังคมของเด็ก พบว่า เด็กชายมีความพร้อมด้านความคล่องแคล่วทางภาษา การคิด และการแสดงออกมากกว่าเด็กหญิง และเด็กที่เป็นบุตรคนที่ 2 มีความพร้อมด้านความรู้และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเด็กที่เป็นบุตรคนที่ 1 และคนที่ 3 หรือถัดไป จึงสรุปได้ว่า ระดับการศึกษาของบิดามารดามีความสำคัญ่อย่างยิ่งต่อการมีความรู้ความ เข้าใจในการพัฒนาบุตรของตน บิดามารดาที่มีการศึกษาดีสามารถนำวิธีการที่จะช่วยพัฒนาบุตรทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์สังคม และจริยธรรมมาใช้ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรในวัยก่อนเรียนของตนอย่างเหมาะสมและได้ผลดี กล่าวคือ ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามแก่บุตรทั้งทางด้านร่างกาย ซึ่งจะเห็นได้จากการมีภาวะโภชนาการที่ดีและทางด้านจิตลักษณะ ซึ่งในการวิจัยนี้มุ่งดูที่พัฒนาการด้านความพร้อมทางการเรียนของเด็กในลักษณะต่าง ๆ ผลการวิจัยนี้จึงยืนยันความสำคัญของครอบครัวที่จะต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนที่จะต้องอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนอย่างมีหลักการที่ดี เพื่อจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาอย่างถูกทิศทางและอย่างเต็มที่ตามศักยภาพ เป็นการสนับสนุนแนวคิด การพัฒนาเด็กที่เน้นความสำคัญของวิธีการในบ้านหรือครอบครัวเป็นหลัก (Home - based approach) --------------------------------------------------------------------------------