ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกับสุขภาพจิตและ จริยธรรมของนักเรียนวัยรุ่นไทย รายงานการวิจัยฉบับที่ 26 ผู้วิจัย รศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน อ.ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก ปีที่พิมพ์ 2524 วัตถุประสงค์ การวิจัยเรื่อง"ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกับสุขภาพจิตและจริยธรรมของนักเรียน วัยรุ่นไทย" นี้ มีจุดประสงค์ที่สำคัญ 4 ประการ ประการแรก คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง สุขภาพกายและสุขภาพจิตในวัยรุ่นประเภทต่าง ๆ ประการที่สองคือ การศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของผู้ที่มีระดับสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน ประการที่สามคือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับจริยธรรมของวัยรุ่น ประการที่สี่ คือ การศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของผู้ที่มีจริยธรรมในระดับต่างกัน วิธีดำเนินการวิจัย ในการวิจตัยภาคสนามนี้ กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชายหญิงในชั้น ม.ศ.1 และ ม.ศ.3 ในกรุงเทพ? และที่จังหวัดสงขลาผู้มีอายุระหว่าง 13 - 17 ปี จำนวน 917 คน เมื่อสุ่มเลือกโรงเรียนและชั้นเรียนแล้วก็ได้ขอให้นักเรียนในชั้นนั้น ๆ ตอบแบบวัดและแบบสอบถามพร้อมกันในชั้นเรียน แบบสอบถามซึ่งพิมพ์รวมกันเป็นฉบับนี้ประกอบด้วย แบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรมตามทฤษฏีของโคลเบอร์ก ซึ่งมีลักษณะเป็นปรนัย 6 ตัวเลือก จำนวน 15 ข้อ แบบวัดสุขภาพจิตซึ่งมีลักษณะเป็นประโยคประกอบมาตราส่วน 6 หน่วย จำนวน 20 ข้อ แบบวัดสุขภาพกายซึ่งมีลักษณะเหมือนกับแบบวัดสุขภาพจิต จำนวน 20 ข้อ แบบวัดการถูกอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน ซึ่งมีลักษณะเป็นประโยคประกอบมาตราส่วน 6 หน่วย จำนวน 10 ข้อ และแบบวัดการถูกอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ มีลักษณะเดียวกัน จำนวน 5 ข้อ แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งมี เนื้อหาเหมือนกับแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรมส่วนแรกของนักเรียน จำนวน 5 ข้อ แบบวัดทัศนคติต่อบิดา จำนวน 20 ข้อ แบบวัดทัศนคติต่อมารดา ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับแบบวัดทัศนคติต่อบิดา จำนวน 20 ข้อ และแบบสอบถามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัวอีกส่วนหนึ่ง มีลักษณะให้เติมคำและเลือกขีดตอบ ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยนี้ ได้แบ่งตัวแปรที่ศึกษาเป็น 4 ระดับ คือ ระดับแรก ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของผู้ตอบ จำนวน 8 ตัวแปร เป็นตัวแปรอิสระ ระดับที่สองคือ ตัวแปรความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมี 5 ตัวคือ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ปริมาณความขัดแย้งในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (ซึ่งมาจากคะแนนความแตกต่างระหว่างคะแนนเหตุผลเชิงจริยธรรมของเด็ก และคะแนนการรับรู้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเด็ก และคะแนนการรับรู้เหตุผลเชิงจริยธรรมของผู้ปกครองซึ่งเด็กรายงานในเหตุการณ์เดียวกัน 5 เรื่อง ทัศนคติต่อบิดา และทัศนคติต่อมารดา ระดับที่สาม คือ คะแนนสุขภาพกาย และคะแนนสุขภาพจิต ระดับที่สี่คือ คะแนนแสดงระดับเหตุผลเชิงจริยธรรมของผู้ตอบ ตัวแปรในระดับที่สองและระดับที่สามใช้เป็นทั้งตัวแปรอิสระและตัวแปรตามในการวิเคราะห์ทางสถิติต่าง ๆ ส่วนตัวแปรในระดับที่สี่ใช้เป็นตัวแปรตามอย่างเดียว ได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ แฟคตอเรียล โดยใช้ตัวแปรอิสระทีละ 3 ตัว และการวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณชนิดสเตปไวส์เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ 7 ข้อ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลนอกเหนือจากสมมติฐานทางการวิจัยที่ตั้งไว้ด้วย สรุปผล ผลการวิจัยที่สำคัญมี 4 ประการ ประการแรกคือ วัยรุ่นที่มีสุขภาพกายในระดับสูงมากเพียงใด ก็มีสุขภาพจิตในระดับที่สูงขึ้นด้วย ผลนี้พบแต่เฉพาะในวัยรุ่นชาย วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นในชนบท วัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีระดับเศรษฐกิจสูงและต่ำ ผลประการที่สอง การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมาก การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทัศนคติที่ดีต่อบิดาและต่อมารดาสูง เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพจิตที่ดีในระดับสูงของวัยรุ่นหลายประเภท โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่แยกอยู่ต่างหากจากบิดามารดา ส่วนวัยรุ่นที่บิดามีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิต คือ วัยรุ่นในชนบทและ วัยรุ่นที่มารดาทำงานอาชีพ ส่วนวัยรุ่นจากระดับเศรษฐกิจและสังคมสูง มีปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าวัยรุ่นจากระดับต่ำกว่า ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการมีทัศนคติที่ดีต่อมารดาในระดับต่ำ ผลประการที่สาม คือ ผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีในระดับสูงเท่าใดก็มีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูงตามไปด้วยนั้น พบแต่ในวัยรุ่นหญิงจากครอบครัวที่มีระดับเศรษฐกิจและสังคมสูง (ค่าสัมประสิทธิ์ สหสัมพันธ์ในกลุ่มนี้คือ .60) เท่านั้น ผลประการที่สี่คือ ลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 3 ตัวแปรคือ ปริมาณความขัดแย้งในการใช้เหตุผลระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและทัศนคติที่ดีต่อบิดาเกี่ยวข้องกับระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของวัยรุ่นหลายประเภท โดยเฉพาะวัยรุ่นในชนบท สรุปได้ว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ศึกษา 5 ด้านเกี่ยวข้องกับ สุขภาพจิตของวัยรุ่นในปริมาณที่สูงกว่าที่เกี่ยวข้องกับระดับจริยธรรมของวัยรุ่น ส่วนบิดามีความสำคัญต่อจิตใจของบุตรวัยรุ่นมากกว่าที่ได้คาดไว้ --------------------------------------------------------------------------------