ครอบครัวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจของไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 25 ผู้วิจัย อ.ลัดดาวัลย์ พรศรีสมุทร (เกษมเนตร) อ.วิลาสลักษณ์ ชัววัลลี ปีที่พิมพ์ 2524 วัตถุประสงค์ ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาวัฒนธรรมทางจิตใจของไทย 5 ด้านคือ ความซื่อสัตย์ การมีสัมมาคารวะต่อบิดามารดาและผู้อาวุโส ความเอื้อเฟื้อ ความกตัญญูกตเวที และการยึดบาปบุญ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ (1) เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางจิตใจของไทย 5 ด้าน ระหว่างนักเรียนที่มีภูมิหลังทางครอบครัวแตกต่างกัน (2) เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจของไทย 5 ด้าน ระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง นักเรียนที่มีภูมิหลังทางครอบครัวแตกต่างกัน นักเรียนที่ได้รับปริมาณการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางจิตใจมากน้อยแตกต่างกัน และนักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกัน วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 ปีการศึกษา 2522 ของโรงเรียนรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร จำนวน 979 คน เป็นชาย 523 คน หญิง 456 คน เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าจำนวน 12 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าที และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้วิจัยใช้วิธีทดสอบของเชฟเฟ หรือ ดันแคน ในการหาความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยเป็นรายคู่ สรุปผล สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1. นักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้านมาก มีการอนุรักษ์มากกว่านักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดน้อย 2. นักเรียนที่มาจากครอบครัวเดี่ยวได้รับการถ่ายทอดและมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้าน ไม่แตกต่างจากนักเรียนที่มาจากครอบครัวขยาย 3. นักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกันได้รับการถ่ายทอดและมีการอนุรักษ์เรื่องความซื่อสัตย์ การมีสัมมาคารวะ ความเอื้อเฟื้อไม่แตกต่างกัน แต่นักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่ต่ำ ได้รับการถ่ายทอดเรื่องความกตัญญูกตเวทีมากกว่านักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่สูง ส่วนในเรื่องการอนุรักษ์พบว่า นักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกัน มีการอนุรักษ์ไม่แตกต่างกัน ในด้านการยึดบาปบุญ พบว่านักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกัน ได้รับการถ่ายทอดไม่แตกต่างกัน แต่นักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่ต่ำมีการอนุรักษ์มากกว่านักเรียนที่มีฐานะความเป็นอยู่ปานกลาง 4. นักเรียนที่บิดามารดามีระดับการศึกษาสูง ได้รับการถ่ายทอดและมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้าน มากกว่านักเรียนที่บิดามารดามีระดับการศึกษาต่ำ 5. นักเรียนหญิงมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้าน มากกว่านักเรียนชาย 6. นักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักมาก มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้าน มากกว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักน้อย 7. นักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุมมาก มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางจิตใจทั้ง 5 ด้าน มากกว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุมน้อย 8. ไม่พบปฎิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษา --------------------------------------------------------------------------------