แบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่กำลังเปลี่ยนแปลง ของครอบครัวรายได้น้อยที่อยู่ในตัวเมือง -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 24 ผู้วิจัย ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต ปีที่พิมพ์ 2524 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในตัวเมือง 2. เพื่อศึกษาความแตกต่างในแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูบุตรระหว่างแม่ที่ทำงานนอกบ้าน และแม่ที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน 3. เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างด้านต่าง ๆ ของพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่ 4. เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความพอใจของแม่ในการทำงานกับพฤติกรรมการ อบรมเลี้ยงดูบุตรบางประการ วิธีดำเนินการวิจัย การศึกษาค้นคว้าได้กระทำขึ้นที่สลัมคลองเตยซึ่งจัดเป็นแหล่งแออัดที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ก่อนการเริ่มการค้นคว้า คณะผู้วิจัยได้ติดต่ออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยผ่านคณะกรรมการศูนย์รวมน้ำใจของแหล่งแออัดคลองเตย การขออนุญาตอย่างเป็นทางการได้ดำเนินไปโดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความร่วมมือและความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ได้มีการสำรวจเบื้องต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นแออัดแห่งนี้และได้มีการศึกษาเอกสารการค้นคว้าที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งในส่วนที่เป็นการอบรมเลี้ยงดูในประเทศและที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของสตรีและการทำงานของสตรีกับตัวแปรต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานของแม่ที่มีผลต่อตัวเด็ก ได้มีการเตรียมสร้างแบบสอบถามเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลพื้นฐาน และได้มีการสุ่มแม่จำนวนหนึ่งเพื่อการสัมภาษณ์ ในที่สุดคณะผู้วิจัยสามารถเลือกกลุ่มตัวอย่างแม่ซึ่งมีลักษณะครบตามเกณฑ์ที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ตกลงกันไว้ในการประชุมที่เมืองมะนิลา เกณฑ์การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ก็คือ (1) เป็นแม่ที่กำลังมีบุตรอย่างน้อย 1 คน ที่อายุไม่เกิน 6 ขวบ (2) อยู่อาศัยกับสามีที่ทำงานมีรายได้ (3) พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จากแม่เหล่านี้ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างแม่ที่ทำงานนอกบ้าน ประมาณ 101 คน และกลุ่มตัวอย่างแม่ที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านอีกประมาณ 99 คน เครื่องมือวิจัยคือ แบบสอบถามการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ประกอบด้วยคำถามข้อมูลส่วนบุคคล และครอบครัว คำถามเกี่ยวกับการทำงานนอกบ้านของแม่ คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูบุตรในด้านต่าง ๆ และทัศนคติของแม่ต่อการอบรมเลี้ยงดูโดยทั่วไป คำถามเกี่ยวกับวิธีปฎิบัติที่แม่ใช้ในการเสริมพฤติกรรมของเด็กที่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม คำถามเกี่ยวกับวิธีปฎิบัติที่แม่ใช้ในการยับยั้งหรือขจัดพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม ลักษณะคำถาม ส่วนใหญ่เป็นไปในรูปของข้อความ โดยมีคำตอบหลายคำตอบให้เลือก และมีคำถามบางข้อเป็นปลายเปิด เพื่อให้ผู้ตอบสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ รวมจำนวนข้อคำถามประมาณ 100 ข้อคำถาม ก่อนการออกปฎิบัติภาคสนามเพื่อการรวบรวมข้อมูล ได้มีการจัดประชุมปฎิบัติการขึ้น 2 วัน เพื่อฝึกอบรมผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสาระสำคัญของเนื้อหาการสัมภาษณ์และกระบวนการในการ สัมภาษณ์และวิธีการบันทึก ตลอดจนให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสทดลองปฎิบัติจริงกับแม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่ในกลุ่มตัวอย่างก่อนการออกภาคสนามด้วย การรวบรวมข้อมูลเริ่มปลายเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมพ.ศ. 2522 คณะผู้ทำงานได้ทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาชิกของคณะศูนย์รวมน้ำใจตั้งแต่เริ่มต้นงานจนแล้วเสร็จ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ได้ใช้การวิเคราะห์ทางคอมพิวเตอร์ ใช้การทดสอบไคสแคว์ ทดสอบความเป็นอิสระระหว่างสถานภาพการทำงานของแม่กับรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กทดสอบความเป็นอิสระระหว่างตัวแปรคู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูและทดสอบความเป็นอิสระระหว่างความพอใจในการทำงานนอกบ้านของแม่กับพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูเด็กของแม่ที่ทำงาน สรุปผล แบ่งออกเป็น 4 ตอนคือ ตอนที่1 เกี่ยวกับลักษณะของแม่ในกลุ่มตัวอย่างและครอบครัว กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย แม่ที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านและแม่ที่ทำงานนอกบ้าน อายุของแม่ที่ไม่ทำงานนอกบ้านต่ำกว่าของแม่ที่ทำงาน และจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของแม่ไม่ทำงานก็ต่ำกว่าของแม่ที่ทำงาน แม่ทั้งสองกลุ่มอาศัยอยู่ในครอบครัวเดี่ยวและขยายในสัดส่วนพอ ๆ กัน ระดับการศึกษาวัฒนธรรมของแม่ทั้งสองกลุ่มคือ ประถมศึกษา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อาชีพส่วนใหญ่ของสามีเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะรายได้ของครอบครัวกลุ่มแม่ที่ทำงานนอกบ้านสูงกว่าของครอบครัวแม่ที่ไม่ได้ทำงานเล็กน้อย เวลาที่อยู่ในเมืองหลวงมีแตกต่างกันออกไปมาก แม่ทั้งที่ทำงานและไม่ทำงานรายงานว่าตนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลลูก การดูแลลูกและครอบครัวเป็นงานหนักสำหรับแม่ทั้งสองกลุ่ม แม่จึงขาดโอกาสและความกระตือรือร้นเท่าที่ควรในการติดต่อข่าวความก้าวหน้าและแสวงหาความรู้ต่าง ๆ จากทางสื่อสารมวลชนเพื่อการพัฒนาตนเองและเด็ก ทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าบทบาทของสตรีไม่อาจจะพัฒนาไปไกลได้เท่าที่ควร เนื่องจากสังคมยังไม่อาจตอบสนองความต้องการของแม่ในการที่จะได้รับสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องและเพียงพอในภาวะปัจจุบัน ตอนที่ 2 เกี่ยวกับสถานภาพการทำงานของแม่และแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดู ผลการค้นคว้าพบว่า ส่วนใหญ่ของแม่ที่ทำงานนอกบ้านและแม่ไม่ทำงานนอกบ้าน จะมีความคล้ายคลึงกันในพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เช่น เริ่มตั้งแต่แม่ทั้งสองกลุ่มรายงานว่าตนมีความต้องการบุตรและมีการเตรียมตัวทางจิตใจในการรับสภาพความเป็นแม่ และเมื่อลูกเกิดแล้วตนเป็นผู้ดูแลเด็กที่สำคัญที่สุด ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าใดแม่จะใช้เวลาในการดูแลเด็กมากขึ้นเท่านั้น แม่เกินกว่าครึ่งในทั้งสองกลุ่มให้นมบุตรด้วยนมของแม่เอง และจะให้อาหารลูกเป็นกำหนดเวลา ช่วงเวลาที่ให้ลูกหย่านมสำหรับแม่ทั้งสองกลุ่มคือ ช่วงที่เด็กมีอายุประมาณ 6 เดือน ต่อมาคือ 1- ปี โดยส่วนรวมแม่ที่ทำงานจำนวนมากกว่าที่จะให้ลูกหย่านมในเวลาที่เร็วกว่าแม่ที่ไม่ทำงาน แม่ทั้งสองกลุ่มฝึกลูกเรื่องการขับถ่ายในช่วงอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี และมีความอะลุ้มอล่วยในการฝึก เด็กแสดงการตอบสนองการฝึกด้านต่าง ๆ ด้วยดี แต่ถ้าเด็กตอบสนองการฝึกในด้านที่ไม่ดี แม่ส่วนใหญ่จะใช้การลงโทษเด็กทางกาย สำหรับการฝึกเด็กให้รู้จักพึ่งตนเอง แม่ทั้งสองกลุ่มจะฝึกเด็กให้ช่วยตนเองตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน คือในช่วง 0-2 ปี และ 3-4 ปี ในการฝึกเด็กด้านนี้ พบว่าแม่ที่ไม่ได้ทำงานมีการดูแลควบคุมเด็กมากกว่าแม่ที่ทำงาน ส่วนในการฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ แม่ไม่ทำงานฝึกเมื่อเด็กอายุราว 5-6 ปี ส่วนแม่ที่ทำงานฝึกเมื่ออายุเด็ก 3-6 ปี แต่ใช้วิธีคล้าย ๆ กันในการฝึกด้วย การสอนและแนะนำโดยตรง และมีข้อน่าสังเกตจากการค้นพบอีกว่าแม่ทำงานจะปล่อยให้เด็กดูแลสิ่งต่าง ๆ มากกว่าแม่ที่ไม่ทำงานและแม่ที่ทำงานจะใช้วิธีการสอนโดยตรงและใช้แรงเสริมในการฝึกเด็กมากกว่า ในการปฎิบัติของแม่ที่มีต่อพฤติกรรมของลูกซึ่งแสดงออกในด้านที่พึงปรารถนาก็ดีและไม่พึงปรารถนาก็ดี จะพบว่าแม่ทั้งสองกลุ่มปฎิบัติตัวคล้าย ๆ กันคือ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนา แม่จะใช้วิธีเสริมแรงพฤติกรรมด้วยการชมเชยหรือให้รางวัล และการแสดงอาการเฉย ๆ ทั้งยังพบว่าการส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลนอกบ้านให้ดียิ่งขึ้นนั้นมีน้อยที่สุด ส่วนเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาแม่จะปฎิบัติต่อลูกอย่างรุนแรงด้วยการดุว่าและลงโทษทางกาย และใช้การพิจารณาไต่ถามถึงเหตุผลน้อยที่สุด ในด้านการคาดหวังเรื่องการศึกษาและอาชีพของบุตรต่อไปในอนาคต แม่ทั้งสองกลุ่มให้การคาดหวังที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยเฉพาะในด้านสถานะทางการเงินของครอบครัว แม่ทั้งสองกลุ่มประเมินลักษณะการเป็นผู้เรียนดี ว่าสำคัญที่สุด ด้วยเหตุที่แม่เห็นว่าจากการศึกษาเท่านั้น เด็กของตนจึงจะสามารถมีทุกสิ่งเทียมหน้าเทียมตากับคนอื่นในสังคมได้ ลักษณะสำคัญอันดับสองและสามในความคิดเห็นของแม่ก็คือ การที่เด็กให้ความเอาใจใส่สนใจต่อพ่อแม่และการที่เด็กแสดงความเป็นอิสระและพึ่งตนเองได้ ในการอบรมเลี้ยงดูลูก แม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา ต่อมาคือพัฒนาการทางกาย และเน้นความสำคัญน้อยที่สุด ในการพัฒนาเด็กด้านอารมณ์-สังคม และจริยธรรม สะท้อนให้เห็นว่าแม่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยในถิ่นแออัดตัวเมืองยังขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างกันของพัฒนาการเด็กในแต่ละด้าน แม่ทั้งที่ทำงานและไม่ทำงานได้รายงานว่า ผู้เป็นสามีได้แสดงความสนใจต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กทั้งในด้านจิตใจและร่างกาย แต่การรายงานเช่นนี้ไม่มีข้อยืนยันว่าในการปฎิบัติจริงนั้นผู้เป็นบิดาของเด็กจะมีส่วนร่วมในการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างจริงจังหรือไม่ ตอนที่ 3 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรบางคู่ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติของแม่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ผลการค้นคว้าแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรบางคู่ทางพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูเด็กคือ ระหว่างตัวแปรที่เกี่ยวกับแหล่งที่แม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กกับตัวแปรทางผู้ให้การอบรมเลี้ยงดู ระหว่างตัวแปรความคาดหวังทางด้านการศึกษาสำหรับลูกชายและลูกสาวกับสถานะทางการเงินในปัจจุบันของครอบครัว ตัวแปรทางความคิดเห็นที่แม่มีต่อความสนใจของมารดาโดยทั่วไปที่มีต่อการดูแลเด็ก กับตัวแปรที่เป็นความคิดเห็นของแม่เองในการดูแลเด็ก ระหว่างตัวแปรด้านความสนใจของสามีในการเลี้ยงดูเด็กกับตัวแปรด้านปัญหาการเลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่ปรึกษาหารือกัน ตัวแปรทางคุณลักษณะต่าง ๆ ของเด็กที่แม่รายงานกับตัวแปรในการประเมินพฤติกรรมของเด็ก ตัวแปรที่เกี่ยวกับการปฎิบัติของแม่ในสถานการณ์บางอย่างกับตัวแปรที่เป็นประสบการณ์ของแม่ในการอบรมเลี้ยงดูด้านที่สัมพันธ์กัน และตัวแปรที่เป็นคุณลักษณะของเด็กที่แม่ต้องการ กับตัวแปรทางด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่แม่ให้ความสำคัญ ในบรรดาความสัมพันธ์ระหหว่างตัวแปรคู่ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นที่น่าสนใจจะได้ย้ำผลสำคัญบางประการ กล่าวคือ พฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และทัศนคติต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กของแม่ทั้งสองกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับจำนวนเวลาและการที่แม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อมวลชนชนิด ต่าง ๆ โดยเฉพาะวิทยุ หนังสือพิมพ์ หนังสือที่เกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงดูเด็ก และโทรทัศน์ การพบเช่นนี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบในด้าน สื่อมวลชนต่าง ๆ ได้มีความระมัดระวังมากขึ้นในการแพร่ความรู้ต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้ได้มีสาระเนื้อหา และสิ่งจูงใจต่อการสร้างทัศนคติที่ถูกที่ควรต่อการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยเฉพาะต่อผู้ที่เป็นมารดาหรือกำลังจะเป็นมารดาในอนาคตด้วย ส่วนที่พบว่าความถี่บ่อยของเวลาที่แม่ (กลุ่มผู้ทำงานนอกบ้าน) จะปรึกษาหารือกับพ่อในปัญหาเรื่องการอบรมเลี้ยงดูนั้น มีความสัมพันธ์กับการแสดงออกของพ่อว่าตนสนใจต่อเรื่องนี้ ข้อพบนี้มีความสำคัญต่อการชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้เป็นบิดาได้แสดงความเอาใจใส่สนใจให้ผู้เป็นมารดาได้ทราบว่า ตนมีความสนใจเอาใจใส่ต่อการอบรมเลี้ยงดูลูกร่วมกันแล้ว ก็จะยังให้ผู้เป็นแม่พร้อมที่จะปรึกษาหารือกับสามีในปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น เป็นสื่อนำให้เกิดความร่วมมือกันในบทบาทร่วมของการเป็นผู้ให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กสอดคล้องกับที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ตอนที่ 4 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานนอกบ้านของแม่กับพฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูบางประการ ผลการค้นคว้าพบว่า แม่ที่มีความพอใจในการทำงานนอกบ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ที่ไม่มีความพอใจในการทำงาน จะมีจำนวนมากกว่าที่ฝึกให้เด็กกินนมแม่ตามเวลา และมีการฝึกเด็กในเรื่องการขับถ่ายในเวลาที่เร็วกว่า และมีเหตุผลกว้างขวางกว่า โดยเฉพาะในด้านทางสังคมและจิตใจในการเลือกคุณสมบัติที่จะปลูกฝังอบรมในตัวเด็ก ตลอดจนมีการวางกฏเกณฑ์ ใช้วิธีการสอนโดยตรง ให้แรงเสริมต่อพฤติกรรมที่พึงปรารถนา และมีความยืดหยุ่นกว่าในการฝึกและพัฒนาลักษณะนิสัยบางอย่างในตัวเด็ก นอกจากนั้นพบว่าแม่ที่พอใจในการทำงานและไม่พอใจในการทำงาน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างไรในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว และมีแม่ที่ทำงานส่วนใหญ่รายงานว่าตนมักจะระบายอารมณ์โกรธลงที่ลูก ซึ่งแม่ยอมรับว่าไม่เป็นการสมควร และยังพบอีกว่าแม่ได้พยายามใช้ประสบการณ์จากการทำงาน จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและแม่เหล่านี้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่เด็กจะได้รับกับการพัฒนาทางสถิติปัญญา อย่างไรก็ดีเนื่องจากการศึกษาเรื่องความพอใจของแม่ในการทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งและเกี่ยวโยงกับ ตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมายหลายประการ ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยเอกสารการค้นคว้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องการทำงานของสตรีกับตัวแปรต่าง ๆ ทั้งยังมีผลกระทบกระเทือนต่อการอบรมเลี้ยงดูบุตรด้วยอย่างสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจเอาใจใส่ที่จะให้มีการค้นคว้าต่อไปด้วยความระมัดระวัง และลึกซึ้งกว้างขวางมากกว่าที่ได้กระทำในครั้งนี้ สรุปสุดท้ายได้ว่า แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันบ้างในวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่ในอดีต (ดังแสดงไว้ในหลักฐานการค้นคว้าวิจัยในรายงานการวิจัยฉบับเต็ม) กับการอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่รายได้น้อยในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่มีลักษณะความอะลุ้มอล่วยในเกือบทุกด้านของการอบรมที่เคยเป็นมาในอดีต จนปัจจุบันนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้อาจถือได้ว่าเป็นลักษณะสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูในสังคมไทยของเราอย่างไรก็ตามข้อสังเกตจากการศึกษาในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ว่า แบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูกำลังเริ่มที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการให้เด็กเป็นอิสระและพึ่งตนเองเร็วขึ้น ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคม การอบรมลูกชายหญิงเป็นไปในลักษณะเดียวกันมากขึ้น มีการพยายามตอบสนองความต้องการของเด็กทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ผู้อบรมรู้จักใช้ประโยชน์จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนาเด็กมากขึ้น ทั้งยังตระหนักในบทบาทร่วมระหว่างพ่อและแม่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนอกบ้านของแม่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นแออัดของตัวเมือง --------------------------------------------------------------------------------