ปัจจัยทางจิตสังคมกับความสันทัดภาษาไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 23 ผู้วิจัย ผศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน ปีที่พิมพ์ 2521 วัตถุประสงค์ การวิจัยเรื่อง ปัจจัยทางจิตสังคม กับความสันทัดภาษาไทย นี้ มีจุดประสงค์สำคัญสามประการคือประการแรก คือการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางภาษาของเยาวชนไทย และประการที่สอง คือ การศึกษาความสำคัญของความสันทัดภาษาที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางจิตของ เยาวชนไทย ประการสุดท้ายคือ การเปรียบเทียบบทบาทของปัจจัยทั้งทางสังคม และทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางความรู้ความสามารถ และพัฒนาการทางจริยธรรมของเยาวชนไทย วิธีดำเนินการวิจัย ในการวิจัยประเภทการศึกษาภาคสนามนี้ กลุ่มตัวอย่างคือ เยาวชนไทยทั้งชายและหญิงในกรุงเทพ? อายุตั้งแต่ 11 ถึง 25 ปี ผู้กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ป.6 ม.ศ.1 ม.ศ.3 ม.ศ.5 และอุดมศึกษาปีที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 1 400 คน โดยผู้ถูกศึกษาได้ตอบแบบสอบถามพร้อมกันในชั้นเรียน แบบสอบถามซึ่งพิมพ์รวมกันเป็นฉบับนี้ ประกอบด้วย แบบวัดความสันทัดภาษาไทย ซึ่งเป็นปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นปรนัย 6 ตัวเลือก จำนวน 10 ข้อ แบบวัดลักษณะมุ่งอนาคต จำนวน 20 ข้อ แบบวัดการถูกอบรมเลี้ยงดู 4 แบบคือ แบบรักสนับสนุน แบบใช้เหตุผล แบบควบคุม และแบบลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย รวมทั้งสิ้น30 ข้อ แบบวัดสองชุดนี้มีมาตราส่วนประเมินค่า 11 หน่วย ประกอบทุกข้อ ส่วนแบบสอบถามภูมิหลัง เป็นแบบให้เลือกขีดตอบหน้าคำตอบ เนื่องจากข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะของคะแนนรวมของผู้ตอบแต่ละคน ในแต่ละเรื่องที่สอบถาม จึงสามารถใช้สถิติประเภทพาราเมตริซ์กขั้นสูงเพื่อการวิเคราะห์ได้ โดยได้ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนของคะแนนจิตลักษณะต่าง ๆ ในแบบตัวแปรอิสระทีละ 3 ตัว ทั้งตัวแปรที่เป็นการ อบรมเลี้ยงดูและตัวแปรประเภทภูมิหลังของครอบครัว การทดสอบรูปแบบความโน้มน้าวเชิงเส้นตรงและที่ไม่ใช่เส้นตรง เพื่อศึกษาพัฒนาการของจิตลักษณะต่าง ๆ ตามระดับการศึกษา นอกจากนั้นยังได้หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเป็นคู่ หรือเป็นหมู่ของผู้ถูกศึกษาซึ่งแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วย สรุปผล ในการวิจัยนี้ ได้ให้ผลที่สนับสนุนสมมติฐาน 3 ข้อ จากสมมติฐานทั้งหมด 5 ข้อ สมมติฐานแรกซึ่งได้รับการสนับสนุนคือ ระดับการศึกษา กับความสันทัดภาษาไทย มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบเส้นตรงมากกว่ารูปแบบอื่น และยังพบว่าผู้ตอบตั้งแต่ชั้น ป.6 ถึง ม.ศ.5 มีความสันทัดภาษาไทยแตกต่างกันตามลำดับชั้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ตอบในชั้น ม.ศ.5 และนิสิตปีที่ 2 มีความสันทัดภาษาไทยไม่แตกต่างกัน สมมติฐานที่สองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลคือ การอบรมเลี้ยงดูสี่แบบที่ศึกษาร่วมกัน มีความสัมพันธ์กับความสันทัดภาษาไทยมากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีความสัมพันธ์กับความสันทัดภาษาไทย ได้พบผลเช่นเดียวกันนี้ที่เกี่ยวกับลักษณะมุ่งอนาคตด้วย ส่วนการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับการอบรมเลี้ยงดูสี่แบบพร้อมกันเฉพาะในกลุ่มชายล้วน กลุ่มผู้ตอบฐานะต่ำและสูงเท่านั้น จากการวิเคราะห์ในรายละเอียดปรากฎว่าการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม มีความสำคัญมากต่อความสันทัดภาษาไทย รองลงมาคือการเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล และแบบลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย ส่วนการเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และแบบใช้เหตุผลมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางจริยธรรมมาก นอกจากนั้นยังพบตามการคาดหวังว่า ผู้ที่มีเหตุผลเชิงจริยธรรมสูงและมุ่งอนาคตสูงไปพร้อมกันนี้มีความสันทัดภาษาไทยมากกว่าผู้ที่มีลักษณะทั้งสองนี้ในส่วนผสมอื่น ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสันทัดภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางจริยธรรมด้วย ผลจากการวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในการศึกษาขั้นสูงในกรุงเทพ? ซึ่งมีปัญหาทางภาษาไทยนั้นคือ ผู้ตอบหญิง ผู้ที่บิดามีอาชีพในระดับสูง ผู้ที่มารดามีการศึกษาสูง และไม่ ได้ทำงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปพบว่า ผู้ตอบที่มีลักษณะภูมิหลังดังกล่าวเป็นผู้ที่รายงานว่าตนถูกเลี้ยงดูแบบควบคุมมากทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่าผู้ปกครองควรทำให้เด็กรู้สึกว่าตนถูกควบคุมน้อยลงโดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเด็กให้มากยิ่งขึ้น และผู้ปกครองควรให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาที่ดีเมื่อเด็กต้องการ นอกจากนี้ถ้าต้องการให้เยาวชนไทยมีความสามารถทางภาษาสูงและมีจริยธรรมสูงไปด้วยพร้อมกันนั้นผู้ปกครองควรใช้วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับความรักสนับสนุนมาก ผู้ปกครองของตนใช้เหตุผลกับตนมาก ตนถูกลงโทษทางจิตมากกว่าทางกาย นอกนั้นควรมีการควบคุมเด็กค่อนข้างมากในครอบครัวฐานะต่ำและฐานะปานกลาง กับควบคุมปานกลางในครอบครัวฐานะสูง --------------------------------------------------------------------------------