ความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 22 ผู้วิจัย ดร.สวนา พรพัฒน์กุล ปีที่พิมพ์ 2520 วัตถุประสงค์ การศึกษาเรื่องนี้มุ่งที่จะ 1. ศึกษาแนวโน้มของความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างว่าอยู่ในระดับใด 2. เปรียบเทียบความแตกต่างของความสำนึก ในหน้าที่พลเมืองของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและนอกเมือง 3. ศึกษาเปรียบเทียบความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างแยกตามเพศ อายุ ระดับชั้นเรียน และระดับการศึกษาของผู้ปกครอง วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาใช้วิธีสุ่มแบ่งตามชั้น(Stratified random sampling)จากโรงเรียนทั้งหมดในกรุงเทพมหานครโดยแยกออกเป็นโรงเรียนในเขตตัวเมือง และนอกเขตตัวเมืองโรงเรียนที่มีชายล้วน หญิงล้วน และสหศึกษา กับโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในระดับประถมต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนที่มีเฉพาะมัธยมศึกษา และประถมศึกษาทั้งหมดนี้เลือกเอาแต่โรงเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลางเท่านั้น ได้กลุ่มตัวอย่างมาทั้งหมด 1 511 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความสำนึกในหน้าที่พลเมืองที่สร้างขึ้นตามแนวของ ชาลส์ เอฟ. แอนเดรน (Charles F. Andrain) และจากคำถามปลายเปิดที่สอบถามเด็กที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 77 คน แบบทดสอบนี้มีอำนาจจำแนกสูง ความยากง่ายในเกณฑ์ปานกลางและเหมาะสมกับเด็กในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.676 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ 1. วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ดัชนีข้อมูล (Formative of Indices) ข้อมูลเหล่านี้จะออกมาในลักษณะของการประเมินค่า สูง กลาง ต่ำ ของความสำนึกในหน้าที่พลเมืองในแต่ละด้าน 2. ทดสอบความแตกต่างของตัวแปรอิสระแต่ละตัวโดยใช้ค่าไคสแคว ( c 2 ) 3. หาค่าความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระและตัวแปรตามโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แกมมา (Goodman & Kruskal. 1954) สำหรับตัวแปรที่เป็น Ordinal scale 2 ตัว และตัวแปร 1 ตัวที่เป็น Ordinal scale กับตัวแปรที่เป็น Dichotomous category สรุปผล ผลของการศึกษาพอสรุปได้ดังนี้ 1. โดยทั่วไปแล้วความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จะมีสูงเกินร้อยละ 50ของความสำนึกเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ส่วนความสำนึกทางด้านคุณธรรม ทิศทางการเมืองของรัฐบาล อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 2. มีความแตกต่างในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่างเมื่อแยกตามเพศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทางด้านที่เกี่ยวกับอำนาจ กล่าวคือ พบว่าหญิงมีความสำนึกในระดับสูงกว่าชาย (p > .01) แต่ในด้านการกินดีอยู่ดี ชายมีระดับความสำนึกสูงกว่าหญิง (p > .01) 3. มีความแตกต่างในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่างเมื่อแยกตามชั้นเรียน ทางด้านความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ผู้มีอำนาจหน้าที่ อำนาจ เศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดีและความสงบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และมีความแตกต่างกันในเรื่องการบริหารการปกครองที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 4. มีความแตกต่างในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่างเมื่อแยกตามประเภทของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนชายล้วนหญิงล้วน และสหศึกษา ทางด้านความรู้ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง อำนาจ เศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดี และคุณธรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 5. มีความแตกต่างในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่าง ระหว่างเด็กที่อยู่อาศัยในตัวเมืองของกรุงเทพมหานคร กับเด็กที่อยู่นอกตัวเมืองในด้านความรู้ที่เกี่ยวกับการบริหารการปกครอง เศรษฐกิจ ทิศทางทางการเมือง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และแตกต่างกันในด้านความรู้เกี่ยวกับแหล่งของข้อมูลที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 6. มีความแตกต่างในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่างเมื่อแยกตามอายุ ทางด้านความรู้ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ผู้มีอำนาจหน้าที่ อำนาจเศรษฐกิจ และความสงบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และแตกต่างกันทางด้านที่เกี่ยวกับการกินดีอยู่ดีและทิศทางทางการเมืองที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 7. มีความแตกต่างกันในความสำนึกในหน้าที่พลเมืองของเด็กกลุ่มตัวอย่าง เมื่อแยกตามระดับการศึกษาของผู้ปกครอง ทางด้านที่เกี่ยวกับความรู้ในเรื่องอำนาจที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 และทางด้านที่เกี่ยวกับคุณธรรมที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 8. ร้อยละแปดสิบของเด็กไทยในกลุ่มตัวอย่างเข้าใจว่า ประชาธิปไตยคือ ความมีอิสระเสรีที่บุคคลจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ได้กล่าวถึงขอบเขตจำกัดแต่อย่างใด และมีเพียงร้อยละยี่สิบที่แสดงความเข้าใจประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้อง กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไปเข้าใจคำว่า ประชาธิปไตยได้ถูกต้องมากที่สุด 9. ร้อยละสี่สิบของเด็กชายและร้อยละสิบของเด็กหญิงในกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การใช้อำนาจหมู่ยังจำเป็นสำหรับประเทศ 10. เด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดแสดงความคิดเห็นที่จะให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลในขณะนั้นรองลงมาคือ การปราบโจรผู้ร้าย ปราบคอรัปชั่น และให้คนไทยมีการกินดีอยู่ดีตามลำดับ --------------------------------------------------------------------------------