จริยธรรมของเยาวชนไทย -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 21 ผู้วิจัย ผศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวิน อ.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก ปีที่พิมพ์ 2520 โครงการวิจัย จริยธรรมของเยาวชนไทย เริ่มจากการที่ผู้วิจัยตระหนักในภารกิจของนักวิชาการ ที่จะต้องค้นหาความจริงตามธรรมชาติ เพื่อที่จะนำมาช่วยในการพัฒนาบุคคล อันจะเป็นทางให้เกิดการพัฒนาประเทศไปในวิถีทางของประชาธิปไตย การพัฒนาบุคคลในด้านที่สำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังให้คนเป็นพลเมืองดีของชาติ มีคุณธรรมต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม และการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ก็ด้วยการที่พลเมืองของประเทศเป็นผู้ที่มีจริยธรรมสูง รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แต่การปลูกฝังจริยธรรมให้แก่ประชากรของชาติ หรือการปรับปรุงระดับจริยธรรมของพลเมืองบางประเภทนั้น จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงก็ต่อเมื่อ มีข้อมูลที่เที่ยงตรงเกี่ยวกับธรรมชาติของคนไทยในหลายด้านหลายประเภท ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น ประเทศไทยยังขาดข้อมูลอันเกิดจากการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์อยู่มากหัวหน้าโครงการ จึงได้เสนอโครงการวิจัยนี้แก่คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา และได้รับการสนับสนุนด้าน กำลังใจและการสนับสนุนทางการเงินอย่างดียิ่ง ทำให้สามารถดำเนินการวิจัยมหภาค อันประกอบด้วยการวิจัยสองประเภทคือ การศึกษาภาคสนาม และการวิจัยเชิงทดลองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ได้ผลการวิจัยซึ่งมีทั้งความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติทางจริยธรรมของเยาวชนไทย และความรู้ที่ชี้แนวปฎิบัติในการยกระดับจิตใจของเยาวชนไทยด้วย โครงการวิจัยมหภาคประเภทนี้ ซึ่งสามารถให้ทั้งความรู้พื้นฐานและแนวปฎิบัติไปพร้อมกันนั้นเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย นอกจากนี้โครงการวิจัยนี้ยังได้ประมวลแนวความคิด ทฤษฏี และผลงานวิจัยในต่างประเทศอย่างละเอียดและกว้างขวาง รวมทั้งสำรวจผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในประเทศไทยด้วย โครงการวิจัยนี้ใช้ทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg) เป็นหลัก ทั้งในการศึกษาพัฒนาการทางจริยธรรมของเยาวชนไทยในการศึกษาภาคสนามและในการยกระดับจิตใจของวัยรุ่นในการวิจัยเชิงทดลองด้วย นอกจากนี้คณะผู้วิจัยในโครงการวิจัยจริยธรรมของเยาวชนไทย ยังได้สร้างแบบวัดและแบบสอบถามขึ้นหลายชิ้นที่สำคัญคือ แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดลักษณะมุ่งอนาคต และแบบสอบถามการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย รวมทั้งเครื่องเล่นเกมไฟฟ้าอัตโนมัติ ซึ่งวัดพฤติกรรมซื่อสัตย์หรือพฤติกรรมโกงได้อย่างแนบเนียน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย วัตถุประสงค์ เนื่องด้วยโครงการวิจัยจริยธรรมของเยาวชนไทย มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาบ่อเกิด และพัฒนาการทางจริยธรรมของเยาวชนไทยประเภทต่าง ๆ โดยแบ่งผู้ถูกศึกษาตามลักษณะทางสังคมและวิธีการถูกอบรมเลี้ยงดูมากมายหลายประการ ซึ่งจะเป็นข้อความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับลักษณะทางจิตใจของเยาวชนไทยในกรุงเทพ? ผู้มีอายุตั้งแต่ 11 ปี ถึง 25 ปี นอกจากนี้โครงการวิจัยนี้ยังมีจุดประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการศึกษาสาเหตุและผลของพฤติกรรมซึ่งแสดงความซื่อสัตย์ โดยมุ่งจะพิจารณาลักษณะของสถานการณ์ยั่วยุ และลักษณะทางจริยธรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลร่วมกันต่อพฤติกรรมโกงของบุคคล วิธีดำเนินการวิจัย การที่จะทำให้บรรลุจุดประสงค์ประการแรก คือการศึกษาบ่อเกิดและพัฒนาการทางจริยธรรมของเยาวชนไทยนั้น ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยประเภทการศึกษาภาคสนาม โดยสร้างเครื่องมือวัดลักษณะการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และลักษณะมุ่งอนาคตเพื่อใช้วัดนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.6 ถึงนิสิตนักศึกษาในชั้นปีที่ 2 มีจำนวนทั้งหมดกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยคน พร้อมกันนั้นได้สอบถามภูมิหลังต่าง ๆ ของผู้ตอบและวิธีการที่ถูกอบรมเลี้ยงดูแบบรัก แบบควบคุม แบบใช้เหตุผล และแบบใช้การลงโทษทางกายหรือจิต ซึ่งรวมแล้วเป็นการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย แล้วนำคะแนนต่าง ๆ จากแบบสอบถามเหล่านี้มา วิเคราะห์ความแปรปรวนและหาความสัมพันธ์กันในลักษณะต่าง ๆ ได้ผลที่น่าสนใจหลายประการ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ ส่วนการศึกษาสาเหตุและผลของพฤติกรรมซื่อสัตย์ในสถานการณ์ยั่วยุนั้น ผู้วิจัยได้ศึกษาในสภาพของการทดลองในห้องปฎิบัติการ โดยจัดให้วัยรุ่นชายอายุระหว่าง 13 ปีถึง 15 ปี เล่นเกมเสี่ยงโชคเพื่อชิงรางวัลในสถานการณ์ ซึ่งผู้เล่นอาจโกงคะแนนได้โดยไม่คาดว่าจะมีผู้รู้เห็น ในภาพเช่นนี้วัยรุ่นชายเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าเล่นทั้งหมดจะโกง ผู้วิจัยต้องศึกษาว่าควรใช้วิธีการยับยั้งพฤติกรรมโกงและส่งเสริมพฤติกรรมซื่อสัตย์อย่างไร จึงจะทำให้วัยรุ่นชายเหล่านี้โกงน้อยลง โดยไม่ต้องใช้วิธีการตรวจตราหรือลงโทษ เนื่องด้วยวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเลียนแบบผู้ที่อายุมากกว่าตนเล็กน้อย ผู้วิจัยจึงจัดให้วัยรุ่นที่จะเข้าเล่นเกมได้พบกับตัวแบบซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ ตัวแบบประเภทอับอายผู้อื่นและดีใจที่ตนได้โกง ตัวแบบประเภทละอายใจตนเองและดีใจที่ตนไม่ได้โกง ตัวแบบอับอายผู้อื่นและเสียใจที่ตนไม่ได้โกง และตัวแบบประเภทละอายใจตนเองและเสียใจที่ตนไม่ได้โกง วัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งไม่มีตัวแบบ การใช้ตัวแบบสี่ลักษณะนี้มีพื้นฐานจากทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรมของ โคลเบอร์ก ที่ว่าการส่งเสริมจริยธรรมของบุคคลนั้นทำได้โดยการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นได้สัมผัสกับจริยธรรมที่สูงกว่า ในการทดลองนี้ตัวแบบประเภทละอายใจตนเองได้แสดงเหตุผลเชิงจริยธรรมที่สูงกว่าตัวแบบประเภทอับอายผู้อื่น ส่วนตัวแบบที่แสดงความดีใจที่ตนเองไม่ได้โกง มีทัศนคติเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมกว่าตัวแบบที่แสดงความเสียใจที่ตนเองไม่ได้โกง ในการวิจัยเชิงทดลองนี้ ได้จัดสถานการณ์ยั่วยุในสองลักษณะคือ สถานการณ์ที่ผู้เล่นเกมจะได้รับรางวัลในทันทีถ้าได้คะแนนสูงตามเกณฑ์ กับอีกสถานการณ์หนึ่งซึ่งผู้เล่นเกมจะต้องรอรับรางวัลถึงสองอาทิตย์ ผลปรากฎว่าสภาวะรับรางวัลทันทีนั้นยั่วยุใจให้วัยรุ่นที่เข้าเล่นเกมโกงคะแนนเป็นจำนวนมากกว่าปกติมากแต่การได้พบตัวแบบที่กระทำความดีและการเป็นผู้ที่มีจริยธรรมสูง หรือมุ่งอนาคตสูงด้วยนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยับยั้งพฤติกรรมโกงมาก ดังจะได้กล่าวต่อไป การวิจัยเชิงทดลองนี้ ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนชาย ชั้น ม.ศ.1 และ ม.ศ.2 ในกรุงเทพ? ผู้มาจากครอบครัวฐานะปานกลางและต่ำจำนวนกว่าสามร้อยคนเมื่อได้ข้อมูลจากการทดลองแล้ว ก็ได้ทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติชั้นสูงมากกว่าหลายประการ ซึ่งสำเร็จลงด้วยการใช้บริการคอมพิวเตอร์ สรุป ผลการวิจัยจริยธรรมของเยาวชนไทยนั้นมีรายละเอียดที่สำคัญ เฉพาะเรื่องเฉพาะตอนมากมาย แต่จะขอยกการสรุปผลที่เด่นชัดที่สุดมากล่าวในที่นี้ ดังนี้คือ เกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมนั้น ผลการวิจัยนี้แสดงว่าลักษณะการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมและมุ่งอนาคตนั้น ควรปลูกฝังก่อนที่บุคคลจะมีอายุ 10 ปี ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มวัยรุ่นลักษณะทาง จริยธรรม ทั้งสองประการนี้จะเริ่มคงที่ ผู้ที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนมีการพัฒนาทางจริยธรรมช้ากว่ากลุ่มอื่นในช่วงวัยรุ่นตอนต้น แต่จะก้าวทันกลุ่มอื่นเมื่อถึงวัยรุ่นตอนปลายหรือเมื่อเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ส่วนลักษณะมุ่งอนาคตนั้น กลุ่มวัยรุ่นตอนต้นมีลักษณะนี้สูง และจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าวัยรุ่นตอนปลายมีนิสัยการบังคับใจตนเอง และความสามารถในการอดได้รอได้ต่ำกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่าตน ผลการวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการที่จะต้องทำการศึกษาลักษณะมุ่งอนาคตของเด็กที่อายุน้อยกว่า 11 ปี และผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 20 ปี เพราะลักษณะมุ่งอนาคตเป็นลักษณะที่สำคัญมากทางจริยธรรม และความเป็นประชาธิปไตยของชุมชน ผู้ใหญ่จะต้องมีลักษณะมุ่งอนาคตสูงกว่าวัยรุ่นและเด็ก สังคมนั้นจึงจะพัฒนาไปได้ด้วยดี ส่วนการถูกอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมของบุคคลเป็นอย่างมาก และอิทธิพลของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางจริยธรรมของบุคคลนี้ มีความคงทนไปถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย การถูกอบรมเลี้ยงดูแบบรักมากและใช้เหตุผลมากมีความสัมพันธ์กับการมีเหตุผลเชิงจริยธรรมสูงของผู้ถูกศึกษาทุกระดับอายุ ส่วนการถูกอบรมเลี้ยงดูแบบรักมาก ใช้เหตุผลมาก และลงโทษทางจิตมากกว่าทางกายนั้น สัมพันธ์กับการมีลักษณะมุ่งอนาคตสูงอย่างเห็นได้ชัดการอบรมเลี้ยงดูทั้งสามแบบนี้เป็นลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ซึ่งในการศึกษาภาคสนามพบว่า ถ้าบิดามารดาในครอบครัวฐานะยากจนมีการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย แล้วจะช่วยให้ลูกมีจริยธรรมสูงอย่างแน่นอน ส่วนการเลี้ยงดูแบบควบคุมนั้น ก็จำเป็นสำหรับครอบครัวประเภทนี้มากกว่าการปล่อยปละละเลยลูกของตน ส่วนการทดลองในห้องปฎิบัติการนั้น ได้ศึกษาพฤติกรรมโกงของผู้ที่มีระดับจริยธรรมและลักษณะมุ่งอนาคตต่าง ๆ กัน โดยได้พิจารณาเปรียบเทียบว่า ลักษณะของสถานการณ์ยั่วยุจะมีอิทธิพลทำให้ผู้ที่มีจริยธรรมสูงและมุ่งอนาคตสูงโกงแตกต่างจากผู้ที่มีลักษณะทั้งสองนี้ต่ำมากน้อย เพียงไร ผลปรากฎว่า ลักษณะต่าง ๆ ของสถานการณ์ เช่น การตกรางวัล และการมีหรือไม่มี ตัวแบบที่กระทำความดีนั้น มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นมากกว่าลักษณะทางจริยธรรมในตัวของเขาเองอย่างมาก กล่าวคือ ในสภาวะตกรางวัลทันที และในสภาวะที่ไม่มีตัวแบบ วัยรุ่นได้โกงคะแนนเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถูกศึกษาทั้งหมด โดยผู้ที่โกงคะแนนในสภาพที่ยั่วยุใจสูงนี้มีทั้งผู้ที่มีจริยธรรมสูงและต่ำ และผู้ที่มุ่งอนาคตทั้งสูงและต่ำด้วยเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงว่าลักษณะทางจริยธรรมไม่สามารถหักห้ามใจวัยรุ่นที่อยู่ในสภาวะยั่วยุใจสูงให้งดการโกงได้ แต่วัยรุ่นที่อยู่ในสภาวะชลอรางวัลถ้ามีจริยธรรมสูง จะซื่อสัตย์มากกว่าผู้ที่มีจริยธรรมต่ำ ส่วนในสภาวะที่มีตัวแบบซึ่งกระทำความดีนั้น วัยรุ่นที่มีจริยธรรมสูงจะโกงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ที่มีจริยธรรมต่ำไม่สู้จะยอมรับอิทธิพลของตัวแบบมากนัก ในการศึกษาเปรียบเทียบอิทธิพลของตัวแบบประเภทละอายใจตนเองกับตัวแบบประเภท อับอายผู้อื่น ผลปรากฎว่า ตัวแบบประเภทละอายใจตนเองสามารถทำให้วัยรุ่นมีความซื่อสัตย์ตามอย่างตนได้มากกว่า โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่มีระดับจริยธรรมและลักษณะมุ่งอนาคตในปริมาณที่กลับกัน ส่วนตัวแบบประเภทอับอายผู้อื่นนั้น ในบางครั้งก็ไร้ประสิทธิภาพในการชักจูงใจโดยสิ้นเชิงเพราะไม่สามารถทำให้มีผู้โกงได้น้อยกว่าในสภาวะไม่มีตัวแบบ ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางจริยธรรมทั้งสองประการกับพฤติกรรมโกงนั้น ปรากฎอย่างเด่นชัดว่าผู้ที่มีจริยธรรมต่ำ และในขณะเดียวกันก็มีลักษณะมุ่งอนาคตต่ำนั้น มีความซื่อสัตย์มากกว่าผู้ที่มีจริยธรรมในระดับเดียวกันแต่มุ่งอนาคตสูง ส่วนผู้ที่มีจริยธรรมสูงนั้น ถ้าในขณะเดียวกันมีลักษณะมุ่งอนาคตสูงด้วย จะมีความซื่อสัตย์มากกว่าผู้ที่มีจริยธรรมในระดับเดียวกันแต่มุ่งอนาคตต่ำ ผลการวิจัยส่วนนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยในเรื่องที่ใกล้เคียงกันนี้ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ตระหนักว่า การทราบลักษณะทางจริยธรรมของบุคคลได้มากกว่าหนึ่งลักษณะ จะช่วยให้การทำนายพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของเขาทำได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฎในผลข้างบนนี้ว่า ผู้ที่มีจริยธรรมสูงอาจโกงมากกว่าผู้มีจริยธรรมต่ำ ถ้าผู้ที่มีจริยธรรมสูงนั้นมีลักษณะมุ่งอนาคตต่ำ แต่ผู้ที่มีจริยธรรมต่ำนั้นมีลักษณะมุ่งอนาคตต่ำด้วย ส่วนผู้ที่โกงมากนั้นคือผู้ที่มีจริยธรรมและความมุ่งอนาคตในปริมาณที่กลับกัน ส่วนการจะช่วยให้บุคคลประเภทนี้มีความซื่อสัตย์มากขึ้นนั้น ทำได้โดยใช้ตัวแบบประเภทละอายในตนเอง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ในการวิจัยเชิงทดลองนี้ได้พบความสัมพันธ์ทางลบระหว่างทัศนคติเชิงจริยธรรมกับพฤติกรรม โกงและความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างทัศนคติเชิงจริยธรรมกับลักษณะมุ่งอนาคตด้วย ซึ่งแสดงว่าผู้ที่มุ่งอนาคตสูงนั้นมีความพอใจในการกระทำที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ต่าง ๆ มากกว่าผู้ที่มุ่งอนาคตต่ำ และผู้ที่พอใจในคุณธรรมต่าง ๆ นี้เป็นผู้ที่แสดงความซื่อสัตย์ในการเล่นเกมด้วย ผลส่วนนี้จึงชี้ให้เห็นความสำคัญของทัศนคติเชิงจริยธรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้เข้าใจและสามารถใช้ประกอบในการทำนายพฤติกรรมโกงของบุคคลได้อีกส่วนหนึ่งด้วย --------------------------------------------------------------------------------