การทดลองสอนสังกัปวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์แก่เด็กไทย ระดับ 7-8 ขวบ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 20 ผู้วิจัย ศ.ดร.จรรจา สุวรรณทัต และคณะ ปีที่พิมพ์ 2519 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมของเด็กไทยในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งมีต่อการสอนสังกัปบางประการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 2. เพื่อกำหนดขอบข่ายความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางการคิดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3. เพื่อศึกษาผลของการสอนสังกัปที่มีต่อเด็ ซึ่งมาจากภูมิหลังทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กัน วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุระหว่าง 7-8 ขวบ ซึ่งไม่มีสังกัปทางวิทยาศาสตร์ (จากผลการทดสอบชุดแรกของเปียเจท์) จำนวน 180 คน ประเภทของเด็กมี 3 ประเภทคือ เด็กที่อยู่ในตัวเมืองไม่ใช่สลัม เด็กที่อยู่ในสลัมและเด็กที่อยู่ในชนบท ในแต่ละประเภทแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน เป็น 6 กลุ่ม (แผนการวิจัยเป็น 2 3) กลุ่มทดลองใช้บทเรียนที่ช่วยเตรียมให้เด็กเกิดความพร้อมในการเรียนสังกัป บทเรียนนี้มีอยู่ 3 ตอน และมีบทเรียนอีก 8 บทเรียน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ บทเรียนเหล่านี้ได้แก่ บทเรียนเตรียมความพร้อม ตอนที่ 1-3 บทเรียนการอนุรักษ์จำนวน บทเรียนการอนุรักษ์ความยาว บทเรียนการจัดลำดับ บทเรียนภาพการคิดในสมอง (แบบนิ่ง) บทเรียนการอนุรักษ์ปริมาณ บทเรียนการอนุรักษ์มวลสาร บทเรียนการอนุรักษ์น้ำหนัก บทเรียนการจำแนกประเภท กลุ่มควบคุม ใช้บทเรียนประกอบด้วยกิจกรรม 7 ประเภท โดยพยายามที่จะไม่ให้เกี่ยวข้องกับการช่วยให้เด็กเกิดสังกัปทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ การร้องรำทำเพลง การสวดมนต์ไหว้พระและกราบพระ การฟังนิทาน การเขียนภาพและการระบายภาพ การปั้นดินน้ำมัน และการต่อเกมปริศนา เมื่อสิ้นสุดการทดลองสอนแล้ว ใช้แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางคณิตศาสตร์ 38 ข้อ และแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ 44 ข้อ ซึ่งเป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบใช้รูปภาพแทนการเขียนคำ และแบบทดสอบสังกัปทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเปียเจท์ ทดสอบเด็กทั้งหมด สถิติที่ใช้ คือ t - test F - tests HSD (Tukey) และ Correlation technique สรุปผล 1. เด็กที่ได้รับการสอนสังกัป? ได้คะแนนชุดแบบทดสอบของเปียเจท์สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการสอนสังกัป? 2. เด็กในเมืองที่ไม่ใช่สลัมได้คะแนนแบบทดสอบของเปียเจท์สูงกว่าเด็กในสลัม และเด็กในชนบท ในเรื่องการอนุรักษ์ของเหลว การอนุรักษ์สสาร การอนุรักษ์น้ำหนัก ส่วนเด็กในสลัมและเด็กในชนบท ได้คะแนนไม่แตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว ส่วนในเรื่องการอนุรักษ์ความยาว การจัดรวมประเภท (ดอกไม้) และภาพการคิดในสมอง เด็กจากสภาพแวดล้อมต่างกันได้คะแนนไม่แตกต่างกัน การจัดรวมประเภท (สัตว์) เด็กในชนบทได้คะแนนน้อยกว่าเด็กในตัวเมืองที่ไม่ใช่สลัม และเด็กในสลัม ซึ่งเด็กในตัวเมืองและเด็กในสลัมมีคะแนนไม่แตกต่างกัน 3. เด็กที่ได้รับการสอนสังกัป?และไม่ได้รับการสอนสังกัป? ได้คะแนนแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ไม่แตกต่างกัน 4. เด็กที่อยู่ในเมืองไม่ใช่สลัมและเด็กในสลัมได้คะแนนผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์ และคะแนนผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ไม่แตกต่างกัน และสูงกว่าเด็กที่อยู่ในชนบท 5. เด็กที่อยู่ในเมืองไม่ใช่สลัมได้คะแนนผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์สูงกว่าเด็กที่อยู่ในสลัม และในชนบท ซึ่งเด็กในสลัมและในชนบทได้คะแนนไม่แตกต่างกัน 6. ผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงในเชิงนิมานกับการจัดรวมประเภท (ดอกไม้) และการจัดรวมประเภท (สัตว์) ส่วนผลสัมฤทธิ์ในวิชาวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงในเชิงนิมานกับทุกแบบทดสอบยกเว้นแบบทดสอบการอนุรักษ์น้ำหนักและภาพการคิดในสมองและเมื่อนำแบบทดสอบสังกัปทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามวิธีการทดลองของเปียเจท์ทั้งหมดรวมกัน ปรากฎว่าสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ --------------------------------------------------------------------------------