ผลสัมฤทธิ์ในวิชาภาษาอังกฤษของเด็กไทย ในระดับชั้นต่าง ๆ -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัย ฉบับที่ 19 ผู้วิจัย จรรจา สุวรรณทัต ระวิพันธ์ โสมนะพันธุ์ สมนึก คำอุไร ดวงเดือน ศาสตรภัทร์ ประไพศรี อยู่ทวี ปีที่พิมพ์ 2519 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจผลการเรียนในวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ 2. เพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในวิชานั้น 3. เพื่อนำผลการวิจัยมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ วิธีดำเนินการวิจัย ประชากรเป้ากำหนดและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ก. นิยามของประชากรเป้ากำหนด (Target Population) ประชากรเป้ากำหนดได้แก่ นักเรียนไทยทุกคนใน 56 จังหวัด โดยคัดนักเรียนใน 14 จังหวัดออก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นจังหวัดที่เข้าถึงลำบากโดยทางคมนาคม เป็นแหล่งที่อยู่ในเขตอันตรายจากภัยการเมือง หรือมีประชากรน้อย ตลอดจนได้คัดนักเรียนที่มีลักษณะต่อไปนี้ออกด้วย 1. อ่านเขียนไม่ได้ขณะที่ทำการทดสอบ 2. นักเรียนที่ไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แก่ 2.1 อยู่ในโรงเรียนที่มีชั้นสูงสุดแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 2.2 อยู่ชั้นต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 5 สำหรับโรงเรียนที่มีชั้นสูงกว่า ประถมศึกษาปีที่ 4 รวมโรงเรียนที่อยู่ในข่ายการวิจัย 1289 โรงเรียน ในทั้ง 56 จังหวัด ประชากรที่อยู่ในเป้ากำหนดแบ่งออก ได้เป็น 3 ประชากร ประชากร 1 ไม่มี เพราะนักเรียนส่วนมากยังไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษ ประชากร 2 คือ นักเรียนที่อายุระหว่าง 14 ปี - 14 ปี 11 เดือน ประชากร 3 คือ นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประชากร 4 คือ นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในการนับอายุของนักเรียนในประชากร 2 3 และ 4 ให้นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2514 ซึ่งเป็นวันเริ่มทดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ข. การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้การสุ่มเป็นกลุ่มตามพื้นที่ (Stratified cluster sampling by area) โดยแบ่งชนิดของโรงเรียนเป็นชั้น (Strata) ซึ่งมี 2 ชั้นคือ โรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฏร์ และใช้โรงเรียนเป็นหน่วยของตัวอย่าง (Sampling unit) การกะจำนวนของโรงเรียนเพื่อให้ได้ตัวอย่างมาพอประมาณกับความต้องการ กล่าวคือ ในการวิจัยนี้ต้องการกลุ่มตัวอย่างในประชากร 2 ประมาณ 2000 คน มีวิธีดำเนินการดังนี้ เมื่อ พิจารณาถึงจำนวนนักเรียนโดยเฉลี่ย (40.5 คน ต่อหนึ่งโรงเรียน) และนักเรียนที่ถูกขจัดออก จากประชากรตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2.2 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5% แล้ว จะได้จำนวนโรงเรียนที่ต้องการทั้งหมด 52 โรงเรียน โดยคิดจาก (2000/40.5) 100/(100-5) = 51.98 หรือ 52 ค. ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล แบบสอบถาม ข้อคำถามต่าง ๆ ในการทดสอบภาษาอังกฤษประกอบด้วย เนื้อหา 6 อย่างด้วยกัน คือ 1. ศัพท์ (Recognition of antonyms) 2. ตัวอักษรที่ออกเสียงเหมือนกัน (Sound-letter correspondence) 3. ลักษณะโครงสร้าง (Recognition of structural featuress) 4. ศัพท์ (Vocabulary - determination by definition grammatical context and paraphrase) 5. ความเข้าใจ - ประโยคสั้น ๆ (Comprehension of inferences conclusions and paraphrase - in short sentences) และ 6. ความเข้าใจ - ประโยคในข้อความต่อเนื่อง (Comprehension- eliciting information from long passages) แบบสอบถาม ข้อคำถามต่าง ๆ ในแบบสอบถามมีเนื้อหาเกี่ยวกับทัศนคติทั่วไปต่อการเรียน ทัศนคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ความเข้าใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ทัศนคติของนักเรียนต่อโรงเรียนและครูการสอนของครู และแนวการบริหารของโรงเรียนและทัศนคติของครูต่อการสอนภาษาอังกฤษ สรุปผล ผลจากการศึกษาสัมฤทธิ์ผลของเด็กไทยในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษแสดงให้เห็นว่าเราอาจใช้ข้อมูลจากสภาพแวดล้อมทางบ้าน และภูมิหลังทางครอบครัวของเด็กเป็นตัวทำนาย (predictor) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชานี้ได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะสำหรับเด็กกลุ่มตัวอย่างที่มาจากประชากร 2 (คือที่มีระดับอายุ 14 ปี ถึง 14 ปี 11 เดือน) และจะเห็นได้ว่า ตัวแปรทางบ้าน เช่น การศึกษาของบิดามารดา และการให้ความสนับสนุนของบิดามารดาทางด้านการศึกษา จะมีความสำคัญต่อการช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะของเด็กที่เอื้อต่อการเรียนวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียน ไม่เพียงแต่ในวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนในด้านตัวแปรทางโรงเรียน มีข้อน่าสังเกตที่ว่า แม้องค์ประกอบทางโรงเรียนโดยส่วนรวมจะมีความสำคัญยิ่งต่อผลสัมฤทธิ์ของเด็กเมื่อใกล้เวลาที่จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา แต่ความสำคัญขององค์ประกอบนี้ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างคงเส้นคงวาในข้อมูลของประเทศที่เข้าร่วมการค้นคว้าทั้งหมด อย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลที่ได้จากประเทศไทย ตัวแปรทางโรงเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนของเด็กไทยกลุ่มตัวอย่างที่มาจากประชากร 4 ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลที่ได้ในการศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ในระดับชั้นต่าง ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับตัวแปรทางโรงเรียนที่สำคัญอันควรนำมากล่าวได้แก่ นโยบายของโรงเรียนในการที่จะสนับสนุนให้เด็กเรียนภาษา และที่สำคัญที่สุดก็คือองค์ประกอบทางด้านแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ในชั้นเรียนซึ่งรวมถึงการปฎิบัติและการสอนของครู กิจกรรมในชั้นเรียนทางด้านภาษาและความสะดวกและความพร้อมในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียน เหล่านี้ล้วนแต่พบว่ามีความสำคัญต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กทั้งสิ้น ที่สัมพันธ์กับตัวแปรทางโรงเรียนก็คือ ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของครู ผลการศึกษาพบว่าคุณลักษณะสำคัญยิ่งสองอย่างของครูที่มีผลต่อการเรียนภาษาอังกฤษของเด็ก คือ การที่ครูสามารถมองเห็นความสามารถของตนในภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง และการที่ครูใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อการสอนเป็นอย่างดี ทั้งสองลักษณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อเรื่องการเลือกและฝึกอบรมครู ซึ่งน่าจะต้องมีการปรับปรุงกันต่อไปด้วย ตัวแปรชุดสุดท้ายก็คือ ตัวแปรที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของตัวเด็ก ปรากฎผลจากการค้นคว้าว่าคุณลักษณะของเด็กในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อผลการเรียนของเด็กที่มีอายุสูงมากกว่าเด็กอายุต่ำ ลักษณะสำคัญด้านตัวเด็กที่มีผลต่อการเรียนภาษาอังกฤษก็ได้แก่ ความสามารถของเด็กที่จะประเมินความยากง่ายของภาษาอังกฤษได้ตรงกับความเป็นจริง ความขยันเอาจริงเอาจังต่อวิชาที่เรียน ตลอดจนทัศนคติที่ถูกต้องและความสนใจต่อการเรียนภาษา --------------------------------------------------------------------------------