การสูญเปล่าอันเนื่องมาจากความล้มเหลวทาง การเรียนของนักเรียนในชั้นประถมศึกษา -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 17 ผู้วิจัย นิยม คำนวนมาสก วันเพ็ญ พิศาลพงศ์ เพ็ญแข ประจนปัจจนึก องอาจ จิยะจันทน์ ดวงเดือน ศาสตรภัทร์ ปีที่พิมพ์ 2516 วัตถุประสงค์ 1. ศึกษาคุณลักษณะของเด็กที่ประสบความล้มเหลวในทางการเรียนทุกแง่ทุกมุมเท่าที่จะสามารถทำได้ 2. ศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวของเด็กที่ประสบความล้มเหลวในการเรียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ 3. ศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ทางการเรียนในโรงเรียนของเด็กเหล่านี้ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4. ศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติต่อโรงเรียน และต่อการศึกษาทั่ว ๆไปของบิดามารดาของ เด็กที่ประสบความล้มเหลวในการเรียน 5. ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวในการเรียน 6. พิจารณาเปรียบเทียบเด็กกลุ่มที่ประสบความล้มเหลวกับเด็กกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการเรียน ในด้านปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วโดยละเอียด 7.ทำการศึกษาเด็กบางคนในกลุ่มที่ประสบความล้มเหลวและในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ โดยทำการศึกษาเป็นรายกรณีไป วิธีดำเนินการวิจัย ก. กลุ่มตัวอย่าง ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนเป็นกลุ่มตัวอย่างได้เลือกแต่โรงเรียนเฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานครเท่านั้น ทั้งนี้เพราะได้คำนึงถึงความสะดวกในการไปมาติดต่อเป็นสำคัญ เนื่องจากคณะผู้วิจัยมีกำลังคนจำกัด ไม่สามารถที่จะเดินทางไปยังจังหวัดห่างไกลได้ ถึงแม้ว่าในจังหวัดนั้น ๆ จะมีจำนวนกนักเรียนตกซ้ำชั้นเป็นจำนวนมากก็ตาม โรงเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่าง เป็นโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครและธนบุรีในขณะนั้น กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครกรุงเทพ และธนบุรี มีอยู่ 15 โรงเรียนด้วยกัน ดังนี้ สังกัดองค์การบริหหารส่วนจังหวัดพระนคร 3 โรง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรี 2 โรง สังกัดเทศบาลนครกรุงเทพฯ 6 โรง สังกัดเทศบาลนครธนบุรี 4 โรง ในจำนวนโรงเรียนในกลุ่มตวอย่างทั้ง 15 โรงนี้ ได้เลือกเอาเพียงหนึ่งโรงเรียนแถบชานเมืองเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากทำเลที่ตั้งของโรงเรียนสะดวกในการไปมาติดต่อ ในโรงเรียนมีนักเรียนมากพอสมควร ครูใหญ่ตลอดจนครูในโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงเป็นการเหมาะสมที่จะเลือกโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเป็นระยะยาว ข. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและรวบรวมข้อมูลในโครงการนี้ ได้ใช้แบบสอบถามต่าง ๆ คือ แบบสอบถามเพื่อหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวนักเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2510 ของโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง 15 โรง ดังนี้ 1. แบบสอบถามครูใหญ่เพื่อหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรงเรียนโดยทั่ว ๆ ไป ของโรงเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2. แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวนักเรียน 3. แบบสอบถามครูเพื่อหาข้อมูลด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับครูที่สอนชั้นประถมปีที่หนึ่งในปีการศึกษา 2510 ในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้ง 15 โรง 4. แบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพครอบครัวและทัศนคติที่ผู้ปกครองมีต่อโรงเรียน และต่อการศึกษาโดยทั่วไปของเด็กกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนชานเมืองที่เลือกไว้เพื่อทำการศึกษาวิจัยโดยละเอียด 5. แบบสอบถามครูเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ประสบการณ์ และทัศนคติในการทำงานของครู 6. แบบสอบถามครูใหญ่ เรื่องลักษณะทำเลที่ตั้งของโรงเรียน อาชีพบิดามารดา อาคารเรียน และห้องเรียน ครู และการสอบเลื่อนชั้นของเด็ก การให้คะแนนสอบไล่ในชั้นประถมปีที่หนึ่ง ผลการสอบ บริการเพื่อนักเรียน รายละเอียดเกี่ยวกับการรับเด็กเข้าเรียน 7. แบบสัมภาษณ์เด็กเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของเด็กที่มีต่อโรงเรียน ตลอดจนความสัมพันธ์ของเด็กที่มีต่อครูของเด็กกลุ่มตัวอย่าง 8. แบบสัมภาษณ์ครูเกี่ยวกับเด็กกลุ่มสอบได้และกลุ่มสอบตก 9. แบบสัมภาษณ์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับครอบครัว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือตอนที่ 1 เป็นแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองหรือบิดามารดา และตอนที่ 2 เป็นการสัมภาษณ์ตัวเด็กเอง 10. แบบสัมภาษณ์เด็กเพื่อหาทัศนคติของเด็กที่มีต่อโรงเรียนและครู และหาความ สัมพันธ์ของเด็กที่มีต่อเพื่อนในชั้นเรียนและในโรงเรียน สรุปผล ผลการวิจัยเรื่องนี้ปรากฎว่า การสอบตกของเด็กมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญที่สุดได้แก่ ปัจจัยที่มาจากตัวเด็กเอง จากทางครอบครัว และจากทางโรงเรียนและครู ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องมาจากตัวเด็กเอง จากการสัมภาษณ์ครูในกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กสอบตก ได้รับคำตอบจากครูเรียงลำดับความสำคัญคือ เชาวน์ปัญญาต่ำ ขาดอุปกรณ์การเรียน สุขภาพทางกาย เช่น ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ไม่ปกติ ขาดความพร้อม มีปมด้อย ขาดเรียนบ่อย ๆ ไม่สนใจการเรียน เกียจคร้าน และหนีโรงเรียน นอกจากนี้ครูยังมีความเห็นในเรื่องการเรียนเร็วเรียนช้าว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเด็กนั้น สติปัญญาและความสนใจของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เด็กที่มีความฉลาดอยู่แล้ว ประกอบกับมีความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ย่อมเรียนได้เร็วกว่าเด็กที่ขาดความสนใจและมีความฉลาดน้อยกว่า ความพิการทางหู ตา ร่างกาย หรือมีโรคประจำตัว ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ อีกอย่างหนึ่งซึ่งพบผลจากการวิจัยว่า เด็กในกลุ่มสอบตกประมาณครึ่งหนึ่ง มีความบกพร่องทางประสาทสัมผัส คือทางการได้ยิน การเห็น อีกประการหนึ่งก็คือ ประสบการณ์ของเด็ก เด็กที่อยู่ในท้องถิ่นหรือชุมชนที่เจริญแล้วย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กที่อยู่ในชนบทที่ยังล้าหลัง เพราะมีประสบการณ์มากกว่า ในเรื่องสุขภาพจิตก็เช่นเดียวกัน พบว่าเด็กที่สอบตกมักเป็นคนที่เงียบขรึม มึนซึม และไม่ร่าเริง และบางคนก็มีปฎิกริยาก้าวร้าว ปัจจัยที่เกี่ยวกับครอบครัว ผลของการวิจัยครั้งนี้ปรากฎว่า ครอบครัวเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งประการหนึ่งอย่างแน่นอนที่จะทำให้เด็กสอบได้หรือตก จะเห็นได้ชัดว่าเด็กในกลุ่มสอบได้มีผู้ปกครองที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษามากกว่าผู้ปกครองในกลุ่มสอบตก จึงได้กระตุ้นให้เด็กรักการเรียน และอยากไปโรงเรียนในขณะที่เด็กยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปโรงเรียนมาก่อนเลย เมื่อปลูกฝังความรักการเรียนให้แก่เด็กแล้ว ผลที่ได้รับตามมาก็คือ เด็กจะชอบไปโรงเรียนและสามารถปรับตัวเข้ากับครูและเพื่อนได้ดี ส่วนเด็กในกลุ่มสอบตก มีบางคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นซึ่งเนื่องมาจากขาดการอบรมดูแลและปลูกฝังนิสัยใจคอและทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนของผู้ปกครองนั่นเอง ปัจจัยที่เกี่ยวกับโรงเรียนและครู ก. สิ่งแวดล้อมทางโรงเรียน สิ่งแวดล้อมในด้านนี้ได้แก่ ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน บริเวณโรงเรียน และจำนวนนักเรียนในห้องหนึ่ง ๆ ผลการวิจัยเรื่องนี้ปรากฎว่า โรงเรียนในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีพอสมควร ไม่อยู่ในที่แออัด หรือที่ ๆ มีอันตราย เด็กสามารถเรียนและกลับไปได้โดยปลอดภัยแม้จะมีเสียงรบกวนบ้าง เว้นบางโรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมคลองจะมีเสียงรบกวนจากเรือ หางยาวเป็นอย่างมาก บริเวณโรงเรียนส่วนใหญ่มีสนามเด็กเล่นกว้างขวางพอสมควร แต่ที่ไม่มีสนามเลยก็มี โรงเรียนทั้งหมดมีบริเวณพอที่จะปลูกต้นไม้หรือจัดสวนไม้ประดับ สรุปได้ว่า สำหรับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่โรงเรียน เด็กได้รับดีพอสมควรแทบทุกโรงเรียน ข. อาคารเรียนและห้องเรียนตลอดจนบริการอื่น ๆ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังมีอาคารเรียนไม่พอกับจำนวนนักเรียน จำนวนนักเรียนในห้องเรียนหนึ่งๆ มีพิสัยระหว่าง 31 - 51 คน ซึ่งทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด อุปกรณ์ที่จะช่วยในการเรียนการสอนก็ไม่เพียงพอ ทางด้านแสงสว่างและระบบการถ่ายเทอากาศนั้นส่วนมากอยู่ในสภาพใช้ได้ การบริการต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น น้ำดื่ม ห้องน้ำ ห้องส้วม มีอัตราส่วนระหว่างคำตอบที่ว่าเพียงพอ กับไม่เพียงพอ 9:6 :ซึ่งแสดงว่าความจำเป็นในเรื่องนี้ยังมีอยู่พอสมควร ส่วนทางด้านอาหารนักเรียนจะนำมาจากบ้านมารับประทานหรือซื้อเอาที่โรงเรียนก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ ค. ปัจจัยเกี่ยวกับครู จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า เมื่อเทียบส่วนจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนแล้ว จำนวนครูในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างแต่ละโรงมีเพียงพอกับความต้องการ หน้าที่ของครูนอกจากเป็นครูประจำชั้นทำการสอนในด้านวิชาการแล้วยังทำหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น เป็นครูเวรควบคุมนักเรียนประจำวัน งานด้านลูกเสือ อนุกาชาด และช่วยงานธุรการอื่น ๆ เป็นครั้งคราว รวมทั้งงานรักษาและตกแต่งบริเวณโรงเรียนด้วย ครูส่วนใหญ่ต้องสอนแทบทุกวิชาและส่วนใหญ่ต้องสอนสัปดาห์ละ21 - 25 ชั่วโมง มีอยู่ประมาณร้อยละ 19 ที่ต้องสอนถึง 26 - 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ครูส่วนใหญ่ตอบว่าปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบไม่หนักเกินความสามารถ มีอยู่เพียงร้อยละ 13 ที่บอกว่าหน้าที่การงานหนักเกินความสามารถ ครูส่วนใหญ่กล่าวว่า มีความพอใจในอาชีพของตน แม้จะรู้สึกเบื่อหน่ายอาชีพครูบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากงานหนักและมีเด็กที่ต้องรับผิดชอบในชั้นเรียนมากเกินไป แต่ก็ไม่คิดจะละทิ้งอาชีพครูไปประกอบอาชีพอื่น เกี่ยวกับสถานที่สอนมีครูประมาณร้อยละ 50 ที่อยากขอย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่นโดยมีเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น ต้องเดินทางไกล ครอบครัวแยกกันอยู่ อยากไปสอนในโรงเรียนที่มีจำนวนครูพอเพียง มีอุปกรณ์การสอนอย่างบริบูรณ์ เบื่อการจำเจ อยากเปลี่ยนที่สอนบ้าง เป็นต้น --------------------------------------------------------------------------------