พฤติกรรมของเด็กไทยวัยรุ่นที่ขัดกับสังคม -------------------------------------------------------------------------------- รายงานการวิจัยฉบับที่ 15 ผู้วิจัย ปรีชา ธรรมา ถาวร เกิดเกียรติพงศ์ ปีที่พิมพ์ 2516 ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยแยกย่อยเป็น 3 โครงการคือ 1. ความเห็นของนักเรียนวัยรุ่นและของครูในเรื่องพฤติกรรมที่ขัดกับสังคม 2. ความคิดสร้างสรรค์ ความเกรงใจ และลักษณะความเป็นผู้นำของนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม 3. มโนภาพแห่งตน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผลของนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม ดังรายละเอียดต่อไปนี้ โครงการแรก ความเห็นของนักเรียนวัยรุ่นและของครูในเรื่องพฤติกรรมที่ ขัดกับสังคม วัตถุประสงค์ ก. เพื่อสำรวจและรวบรวมลักษณะของพฤติกรรมที่ขัดกับสังคมในทัศนของครู และของนักเรียนวัยรุ่น ข.เพื่อทราบว่านักเรียนวัยรุ่นและครูผู้สอนนักเรียนเหล่านั้นมีความเห็นสอดคล้องหรือขัดแย้งกันเพียงใด ในเรื่องพฤติกรรมแต่ละลักษณะที่ขัดกับสังคม วิธีดำเนินการวิจัย การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเลือกกลุ่มตัวอย่างถือเกณฑ์ว่า จำนวนโรงเรียนที่เลือกมาต้องเป็นสัดส่วนกันจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ในแต่ละอำเภอกล่าวคือ โรงเรียนรัฐบาล ได้รับเลือกมาในจำนวนที่เป็นสัดส่วนกับจำนวนโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมด และโรงเรียนราษฏร์ ก็ได้รับเลือกมาในทำนองเดียวกันนั้น อำเภอใดที่มีโรงเรียนจำนวนน้อยจะได้รับเลือกเพียงแห่งเดียว หรือไม่ได้รับเลือกเลย ส่วนอำเภอที่มีโรงเรียนจำนวนมาก จะได้รับเลือกมากขึ้นตามส่วน โดยวิธีนี้โรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฏร์ ได้รับเลือกจากอำเภอต่าง ๆ เป็นจำนวนทั้งหมด 30 โรง มีนักเรียนทั้งหมด 1 003 คน และมีครูทั้งหมด 998 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของพฤติกรรมที่ขัดกับสังคม ผู้วิจัยได้รวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับนักเรียนในชีวิตประจำวันแยกเป็น 3 ด้านคือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู ด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ๆ สรุปผล 1. โดยทั่วไปในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่กำหนดให้ ครูกับนักเรียนมีความเห็นสอดคล้องกัน แต่ถ้าพิจารณาเหตุการณ์เหล่านั้นทีละด้าน พบว่า ครูกับนักเรียนยังมีความเห็นขัดแย้งกันบางเรื่อง กล่าวคือในด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง มีความเห็นขัดแย้งกันด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับโรงเรียน และในด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู มีความเห็นขัดแย้งกันด้วยเรื่องระเบียบวินัย 2. ครูชายกับครูหญิงมีความเห็นสอดคล้องกัน ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ทุกด้าน 3. ครูโรงเรียนรัฐบาลกับครูโรงเรียนราษฏร์ มีความเห็นไม่แตกต่างกันในเรื่องพฤติกรรมตอบสนองที่ขัดกับสังคม 4. ครูที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกับครูที่สอนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือครูที่สอนชั้น มัธยมศึกษาตอนต้นหรือตอนปลายกับครูที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกับตอนปลายมีความเห็นสอดคล้อง กัน แต่อย่างไรก็ตามครูสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือตอนปลายที่ต้องสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาด้วย มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวแตกต่างออกไปจากครูที่มิได้สอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา 5. ครูที่ทำการสอนมาแล้วในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน (ไม่นับกลุ่มที่ทำการสอนมาแล้วนานกว่า 30 ปี) มีความเห็นไม่แตกต่างกันในเรื่องพฤติกรรมที่ขัดกับสังคม แต่ถ้าเปรียบเทียบครูดังกล่าวแต่ละกลุ่มกับครูที่ทำการสอนมาแล้วนานกว่า 30 ปี พบว่ามีความเห็นเป็นอิสระจากกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อน ๆ 6.ไม่พบความแตกต่างในความเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมตอบสนองที่ขัดกับสังคม ไม่ว่าจะแยกเปรียบเทียบตาม อายุ เพศ หรือประเภทของโรงเรียน โครงการที่ 2 ความคิดสร้างสรรค์ ความเกรงใจ และลักษณะความเป็นผู้นำของ นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม วัตถุประสงค์ ในการวิจัยเรื่องนี้ ผู้วิจัยมีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้ 1. เปรียบเทียบนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมกับนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคมว่า มีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกันหรือไม่ 2. เปรียบเทียบนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมกับนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคมว่า มีความเกรงใจแตกต่างกันหรือไม่ 3. เปรียบเทียบนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมกับนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคมว่า มีลักษณะความเป็นผู้นำแตกต่างกันหรือไม่ 4. หาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์ ความเกรงใจ และลักษณะความเป็นผู้นำของนักเรียนในกลุ่มที่ประพฤติคล้อยตามสังคมและที่ประพฤติขัดกับสังคม วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 200 คน ของโรงเรียนรัฐบาล 6 โรงเรียน ในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี นักเรียนจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคม 100 คน ชาย 53 คน หญิง 47 คน และเป็นนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม 100 คน ชาย 53 คน หญิง 47 คน ซึ่งครูประจำชั้นและครูแนะแนวได้คัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดให้ เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล 1. แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบ 4 ฉบับ คือ ประโยชน์ของสิ่งของ ความเหมือนกัน ความหมายของภาพ และความหมายของเส้น 2. แบบสอบถามความเกรงใจ 3. แบบสอบถามลักษณะความเป็นผู้นำ 4. แบบสอบถามครูเกี่ยวกับนักเรียนที่มีพฤติกรรมขัดกับสังคม 5. แบบสอบถามภูมิหลังนักเรียน สรุปผล 1. ผลการศึกษาความแตกต่าง 1.1นักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ประพฤติขัดกับสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 1.2 นักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความเกรงใจและลักษณะความเป็นผู้นำแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติขัดกับสังคม 1.3 นักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความคิดสร้างสรรค์ต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม 1.4 นักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และสูงกว่านักเรียนชายและหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 .001 และ .01 ตามลำดับ 1.5 นักเรียนชายที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่านักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 1.6 นักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 1.7 นักเรียนชายที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความเกรงใจสูงกว่านักเรียนชายและหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และสูงกว่านักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 1.8นักเรียนชายและหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคมและนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคมมีความเกรงใจ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 1.9 นักเรียนชายและนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคมมีลักษณะความเป็นผู้นำแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 1.10 นักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีลักษณะความเป็นผู้นำสูงกว่านักเรียนชายที่ประพฤติขัดกับสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 1.11 นักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และนักเรียนชายที่ประพฤติขัดกับสังคม มีลักษณะความเป็นผู้นำแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ผลการศึกษาความสัมพันธ์ 2.1ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติคล้อยตามสังคมมีความสัมพันธ์ เชิงนิเสธกับความเกรงใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.2 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความสัมพันธ์เชิงนิมานกับลักษณะความเป็นผู้นำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.3 ความเกรงใจของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ที่ประพฤติคล้อยตามสังคม ไม่มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับลักษณะความเป็นผู้นำ 2.4 ความคิดสร้างสรรค์ ความเกรงใจ และลักษณะความเป็นผู้นำ ของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ประพฤติขัดกับสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กันแบบเส้นตรง 2.5 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม ไม่มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับความเกรงใจ 2.6 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงเชิงนิมานกับลักษณะความเป็นผู้นำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.7 ความเกรงใจของนักเรียนชายที่ประพฤติคล้อยตามสังคม ไม่มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับลักษณะความเป็นผู้นำ 2.8 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงเชิงนิเสธกับความเกรงใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.9 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม ไม่มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับลักษณะความเป็นผู้นำ 2.10 ความเกรงใจของนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความสัมพันธ์ แบบเส้นตรงเชิงนิมานกับลักษณะความเป็นผู้นำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.11 ความคิดสร้างสรรค์กับความเกรงใจ และความเกรงใจกับลักษณะความเป็นผู้นำของนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กันแบบเส้นตรง 2.12 ความคิดสร้างสรรค์ ความเกรงใจ และลักษณะความเป็นผู้นำของนักเรียนชายที่ประพฤติขัดกับสังคมไม่มีความสัมพันธ์กันแบบเส้นตรง 2.13 ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความสัมพนธ์เป็นเส้นตรงเชิงนิมานกับลักษณะความเป็นผู้นำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โครงการที่ 3 มโนภาพแห่งตน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผล ของนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมโนภาพแห่งตน(Self- Concept) ความวิตกกังวล (Anxiety) และความต้องการสัมฤทธิ์ผล (Need for Achievement) ของนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อทราบว่า 1.นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคมมีมโนภาพแห่งตนแตกต่างกันหรือไม่เพียงไร 2. นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม มีความวิตกกังวลแตกต่างกันหรือไม่เพียงไร 3. นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามและที่ขัดกับสังคม มีความต้องการสัมฤทธิ์ผลแตกต่างกันหรือไม่เพียงไร 4. นักเรียนหญิงกับนักเรียนชายมีมโนภาพแห่งตน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผล ต่างกันหรือไม่เพียงไร 5. มโนภาพแห่งตน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผล มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3จำนวน 210 คน ของโรงเรียนราษฏร์ 5 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคม 105 คน ชาย 70 คน หญิง 35 คน และเป็นนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม 105 คน ชาย 70 คน หญิง 35 คน ครูประจำชั้นเป็นผู้เลือกนักเรียนเหล่านี้ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล 1. แบบทดสอบตนตามอัตภาพ 2. แบบทดสอบตนตามปณิธาน 3. แบบทดสอบความวิตกกังวล 4. แบบทดสอบความต้องการสัมฤทธิ์ผล 5. แบบสอบถามภูมิหลังนักเรียน 6. แบบสอบถามครูเกี่ยวกับนักเรียนที่ประพฤติที่ขัดกับสังคม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 1. การหาสถิติมูลฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าคะแนนเฉลี่ย (Mean) ค่าความแปรปรวน (Variance) และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) 2. ใช้ Z - test ทดสอบความแตกต่างระหว่างคะแนนเฉลี่ยของคะแนนจากแบบทดสอบตนตามอัตภาพ ตนตามปณิธาน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผลระหว่าง นักเรียนกลุ่มต่าง ๆ 3. หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยใช้ Product Moment Correlation สรุปผล 1. ผลการศึกษาความแตกต่าง 1.1 นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมมีมโนภาพแห่งตน (ทั้งตนตามอัตภาพและตนตามปณิธาน) และความต้องการสัมฤทธิ์ผลสูงกว่านักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม (p < .005) เมื่อเปรียบเทียบโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามเพศแล้วพบว่ากลุ่มนักเรียนชายและกลุ่มนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคมมีตนตามอัตภาพ ตนตามปณิธาน และความต้องการสัมฤทธิ์ผลสูงกว่ากลุ่มนักเรียนชาย และกลุ่มนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคมกลุ่มต่อกลุ่ม ตามลำดับ (p < .05) 1.2 นักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคมมีความวิตกกังวลสูงกว่านักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคม (p < .005) เมื่อเปรียบเทียบโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามเพศ แล้วพบว่ากลุ่มนักเรียนชายและกลุ่มนักเรียนหญิงที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความวิตกกังวลสูงกว่ากลุ่มนักเรียนชาย และกลุ่มนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคมกลุ่มต่อกลุ่ม ตามลำดับ (p < .05) 1.3 นักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมและนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความแตกต่างระหว่างตนไม่แตกต่างกัน 1.4 ระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงในแต่ละกลุ่ม (ที่ประพฤติคล้อยตามสังคมและที่ประพฤติขัดกับสังคม) มีตนตามอัตภาพ ตนตามปณิธาน ความแตกต่างระหว่างตน ความวิตกกังวล และความต้องการสัมฤทธิ์ผล ไม่แตกต่างกัน 2. ผลการศึกษาความสัมพันธ์ 2.1ตนตามอัตภาพกับความวิตกกังวลของนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคมและของนักเรียน ที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความสัมพันธ์กันเชิงนิเสธ (p < .05) 2.2 ตนตามปณิธานกับความวิตกกังวลของนักเรียนกลุ่มทั้งหมดและของกลุ่มชายที่ ประพฤติคล้อยตามสังคม และที่ประพฤติขัดกับสังคม มีความสัมพันธ์กันในเชิงนิมาน (p < .05) 2.3 ตนตามปณิธานกับความวิตกกังวลของนักเรียนหญิงที่ประพฤติคล้อยตามสังคม มีความสัมพันธ์กันในเชิงนิเสธ (p < .05) ส่วนในกลุ่มที่ประพฤติขัดกับสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กันในแบบเส้นตรง 2.4 ความวิตกกังวลกับความต้องการสัมฤทธิ์ผลในกลุ่มนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และในกลุ่มนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กันในแบบเส้นตรง 2.5 มโนภาพแห่งตน (ทั้งตนตามอัตภาพ และตนตามปณิธาน) กับความต้องการสัมฤทธิ์ผล ทั้งในกลุ่มนักเรียนที่ประพฤติคล้อยตามสังคม และในกลุ่มนักเรียนที่ประพฤติขัดกับสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กันในแบบเส้นตรง --------------------------------------------------------------------------------