อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการของเด็ก ที่หมู่บ้านพรานเหมือน ตำบนบ้านขาว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และหมู่บ้านอุเม็ง ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่รายงานการวิจัยฉบับที่ 13ผู้วิจัย จรรจา สุวรรณทัต ลาดทองใบ ภูอภิรมย์ ภัทรา สุคนธทรัพย์ปีที่พิมพ์ 2514รายงานการวิจัยฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาดังต่อไปนี้บทที่ 1 บทนำบทที่ 2 การเตรียมรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวบทที่ 3 การปฏิบัติต่อทารกแรกคลอดและทารกอายุ 1 สัปดาห์ขึ้นไปบทที่ 4 การให้อาหาร การฝึกนิสัยการรับประทานและการนอนบทที่ 5 การหย่านมบทที่ 6 การฝึกอบรมการขับถ่ายบทที่ 7 ขอบเขตพฤติกรรมของเด็กบทที่ 8 พฤติกรรมทางเพศและเพศศึกษาบทที่ 9 การฝึกอบรมให้เด็กเป็นสมาชิกที่สังคมปรารถนาบทที่ 10 การฝึกให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองและรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่บทที่ 11 ปัญหาเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กบทที่ 12 การปรับตัว-ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทัศนคติของพ่อแม่ต่อการศึกษาของเด็กและอาชีพของเด็กบทที่ 13 บทสรุปและคำส่งท้ายบท บทที่ 1 บทนำวัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษาวิธีการเลี้ยงดูและอบรมเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนของชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ เพื่อทราบว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างในหมู่บ้านชนบทดังกล่าวแล้ว เจริญเติบโตขึ้นด้วย การเลี้ยงดูอบรมอย่างไร และการเลี้ยงดูอบรมเช่นนั้นจะเป็นผลต่อความสามารถในการปรับตัวของเด็กวิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเด็กกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนเป็นปีแรกในชั้นประถมปีที่ 1 ผู้วิจัยแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม ตามหมู่บ้านเด็กดังนี้1. เด็กชั้นประถมปีที่ 1 ของโรงเรียนบ้านพรานเหมือน ในหมู่บ้านพรานเหมือน ตำบลบ้านขาว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กกลุ่มตัวอย่างนี้มีจำนวน 47 คน เป็นชาย 23 คน หญิง 24 คน มีอายุระหว่าง 6 ปี 10 เดือนถึง9 ปี 5 เดือน อายุเฉลี่ยเท่ากับ 7 ปี 8 เดือน2. เด็กชั้นประถมปีที่ 1ของโรงเรียนคำวรรณราษฎร์วิทยาทาน ในหมู่บ้านอุเม็ง ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในภาคเหนือ เด็กกลุ่มตัวอย่างนี้มีทั้งหมด 66 คน ชาย 30 คน หญิง 36 คน มีอายุระหว่าง 5 ปี 8 เดือน ถึง 10 ปี 1 เดือน อายุเฉลี่ยเท่ากับ 7 ปี 8 เดือน เช่นเดียวกันพื้นฐานบางประการของพ่อแม่ก. อายุ แม่เด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนมีอายุระหว่าง 23 - 51 ปี อายุเฉลี่ย 36 ปี 10 เดือน แม่ที่บ้านอุเม็งมีอายุระหว่าง 24 - 48 ปี อายุเฉลี่ย 37 ปี แม่ทั้งสองหมู่บ้านส่วนมากมีอายุระหว่าง 30 - 44 ปีข. จำนวนปีที่สมรส แม่ที่บ้านพรานเหมือนมีจำนวนปีสมรส 8 - 35 ปี จำนวนปีสมรสเฉลี่ย 18 ปี แม่ที่บ้านอุเม็งมีจำนวนปีสมรส 8 - 27 ปี จำนวนปีสมรสเฉลี่ย 15 ปี แม่เด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มส่วนมากผ่านชีวิตสมรสมาได้ 10 - 24 ปีค. จำนวนบุตร (ที่มีชีวิตอยู่) แม่ที่บ้านพรานเหมือนมีบุตรจำนวน 1 - 9 คน โดยเฉลี่ย แล้วมารดาคนหนึ่งต่อบุตร 4 คน แม่ที่บ้านอุเม็งมีบุตรจำนวน 1 - 7 คน จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยเท่ากับ 4 คน ต่อแม่ 1 คนเช่นเดียวกัน แม่ทั้งสองหมู่บ้านส่วนมากมีบุตร 2 - 7 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย1. การสัมภาษณ์ คณะผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ คือก. การปรับตัวของเด็กกลุ่มตัวอย่างเมื่ออยู่โรงเรียน โดยสัมภาษณ์เด็กเป็นรายบุคคลตามแบบสัมภาษณ์ซึ่งคณะผู้วิจัยได้กำหนดไว้ แบบสัมภาษณ์ที่ใช้ในเรื่องนี้มี 1 ฉบับข. การเลี้ยงดูและอบรมเด็กกลุ่มตัวอย่างในวัยก่อนเข้าเรียน ด้วยการไปสัมภาษณ์แม่ (หรือพ่อ) ของเด็กแต่ละคนที่บ้าน ตามโอกาสที่ได้ตกลงนัดหมายไว้ระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์ แบบสัมภาษณ์ที่ใช้ในเรื่องนี้มีทั้งหมด 3 ฉบับค. ความคิดเห็นและความมุ่งหวังของพ่อแม่ที่มีต่อโรงเรียน และต่อการศึกษาตลอดถึงอนาคตของบุตร โดยสัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กแต่ละคนโดยตรง2. การใช้แบบสอบถาม โดยให้ครูประจำชั้นของเด็กกลุ่มตัวอย่างกรอกคำตอบลงในแบบสอบถามซึ่งเกี่ยวกับการปรับตัวในโรงเรียนของเด็กแต่ละคน3. การสังเกต โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนที่โรงเรียน ขณะที่เด็กกำลังอยู่ในสถานการณ์เรียน สถานการณ์เล่น ซึ่งรวมทั้งเวลาที่เด็กอยู่ในสนามเล่นในเวลาพลศึกษาและเวลาหยุดพัก4. การเปรียบเทียบและประเมินความสามารถของเด็ก ใช้วิธีการเปรียบเทียบเป็นคู่ (Paired Comparison) ด้วยการให้ครูประจำชั้นเป็นผู้ประเมินความสามารถของเด็กกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนในเรื่องต่อไปนี้ก. ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ทางโรงเรียนข. ความสามารถในการเรียนของเด็ก เท่าที่ผ่านมาตลอดภาคต้น นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้ติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กกลุ่มตัวอย่างจากผลการสอบไล่ปลายปีใน ชั้นประถมปีที่ 1 และในชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการเรียนประโยคประถมศึกษาตอนต้นเพื่อใช้พิจารณาประกอบการวิจัยครั้งนี้ด้วยสรุปผลเด็กกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 มี 2 กลุ่มด้วยกันคือ เป็นเด็กในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเด็กในชนบทภาคเหนือ ซึ่งถ้าพิจารณาตามสายตาและความรู้สึกของคนไทยโดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะเห็นว่าวัฒนธรรมของสังคมชนบทในทั้งสองภาคนี้คล้ายคลึงกันมาก อย่างไรก็ตาม การพิจารณาข้อเท็จจริงจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและอบรมเด็กวัยก่อนเข้าเรียนของแม่ในชนบท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคเหนือครั้งนี้ จะช่วยชี้ให้เห็นแบบฉบับของการอบรมเลี้ยงดูของแม่ในหมู่บ้านชนบททั้งสองภาคได้แน่นอนขึ้นว่า มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในโรงเรียนกับความสามารถในการเรียนของเด็ก ปรากฎว่า ค่าความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทั้งสองอย่างนี้ ทั้งของเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็ง มีค่าสูงพอที่จะกล่าวได้ว่า เด็กที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียนได้ดีมักเรียนได้ดี และเด็กที่ปรับตัวไม่ได้ดีก็มักจะเรียนไม่ได้ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า "ความสามารถของเด็กในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางโรงเรียนจะมีผลต่อความสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กด้วย"การศึกษาอิทธิพลของวิธีการเลี้ยงดูและอบรมของทางบ้านต่อความสามารถในการปรับตัวของเด็กกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะวิธีการเลี้ยงดูและอบรมในวัยก่อนเข้าโรงเรียนปรากฏว่า ตลอดวัยก่อนเข้าเรียนนั้น เด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งที่ปรับตัวได้ดีและปรับตัวไม่ดี ต่างก็ได้รับการเลี้ยงดู และอบรมมาไม่แตกต่างกันพอที่จะกล่าวได้ว่า "เด็กปรับตัวได้ดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเพราะได้รับการเลี้ยงดูและอบรมมาต่างกัน" ฉะนั้นการศึกษาวิจัยในข้อนี้จึงได้เปลี่ยนแนวเป็นมุ่งศึกษาแบบของการเจริญเติบโตในวัยก่อนเข้าเรียนของเด็กกลุ่มตัวอย่างแต่ละหมู่บ้านเป็นส่วนรวมเพื่อให้เห็นชัดว่า เด็กบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งในวัยก่อนเข้าเรียนนั้นได้รับการเลี้ยงดูและอบรมมาอย่างไร และวิธีการเลี้ยงดูและอบรมเช่นนั้นมีผลต่อบุคลิกภาพของเด็กอย่างไรบ้าง บทที่ 2 การเตรียมรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวก. ทัศนคติของพ่อแม่ต่อการมีบุตรเด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งทุกคนต่างก็เป็นที่ปรารถนาของพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กชายเป็นที่ต้องการของพ่อแม่มากกว่าบุตรหญิง ทว่าจุดประสงค์สำคัญที่พ่อแม่ทั้งสองหมู่บ้านต้องการบุตรชายนั้นไม่เหมือนกัน จุดประสงค์ใหญ่ของพ่อแม่บ้านพรานเหมือนคือต้องการบุตรชายเพื่อจะได้ให้บวช เพราะตนจะได้บุญกุศลจากการบวชนั้นประการหนึ่ง และจะได้ชื่อว่ามีบุตรเป็น "คนดี" อีกประการหนึ่ง ทั้งนี้เป็นจุดประสงค์ที่โน้มเอียงไปทางต้องการความยกย่องจากสังคมเป็นสำคัญจุดประสงค์ที่พ่อแม่บ้านอุเม็งต้องการบุตรชายก็คือ หวังให้บุตรเป็นกำลังช่วยทำนาทำไร่ อันเป็นอาชีพหลักของครอบครัวให้ได้ผลิตผลสูงขึ้น อันเป็นจุดประสงค์ซึ่งมุ่งไปทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นสำคัญข. การปฏิบัติตนของแม่ในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอดแม่เด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งบ้านพรานเหมือนและบ้านอุะม็งส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าอันตรายในการคลอดเกิดจากอำนาจภูตผี พิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการคลอดจึงหนักไปในทางป้องกันและขับไล่ผีไม่ให้มารบกวนแม่และเด็กได้ อนึ่งการปฏิบัติตัวของแม่ในระยะก่อนคลอดตลอดถึงภายหลังคลอดก็ยังปฏิบัติตามความเชื่อซึ่งรับทอดมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ปฏิบัติตามข้อห้ามเกี่ยวกับการรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์และขณะ "อยู่กำ" หรือ "อยู่เดือน" การรับประทานยา การเตรียมน้ำสำหรับดื่มและอาบ เป็นต้นแม่บ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาล ทั้งนี้เพราะแม่บ้านพรานเหมือนต้องการความอบอุ่นทางใจในขณะคลอดเป็นสำคัญ กล่าวคือให้ได้อยู่ใกล้ชิดญาติพี่น้องในขณะนั้นด้วย ส่วนแม่บ้านอุเม็งต้องการความสะดวกในการคลอด โดยเฉพาะความสะดวกในการติดต่อกับหมอตำแย แพทย์หรือนางผดุงครรภ์ได้ทันทีที่ถึงเวลาคลอด แต่เมื่อระเบียบของโรงพยาบาลไม่ตรงกับความต้องการของแม่บ้านพรานเหมือน และเพราะโรงพยาบาลอยู่ห่างไกลหมู่บ้านอุเม็งเกินไปอีกด้วย แม่ทั้งสองหมู่บ้านจึงมีทัศนะว่าคลอดที่บ้านดีกว่าไปคลอดที่โรงพยาบาล บทที่ 3 การปฏิบัติต่อทารกแรกคลอดและทารกอายุ 1 สัปดาห์ขึ้นไปการปฏิบัติต่อทารกแรกคลอด โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตัดสายสะดือและการรักษาสะดือเด็กมีความสำคัญต่อชีวิตออย่างมาก ถ้าการตัดและการรักษาสะดือไม่สะอาดพอ เด็กอาจเป็นบาดทะยักตายได้ง่าย เรื่องนี้ทางฝ่ายสาธารณสุขก็พยายามให้ความรู้และอบรมหมอตำแย และมารดาชาวชนบทตลอดมา แม้ว่าในปี พ.ศ. 2505 การปฏิบัติในการทำคลอดของหมอตำแยและแม่ที่บ้านพรานเหมือนจะแสดงให้เห็นว่ายังมิได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขก็ตาม ก็หวังว่าชาวบ้านพรานเหมือนคงจะได้รับความรู้ในด้านนี้เท่า ๆ กับชาวบ้านอุเม็งในไม่ช้าอย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามเคล็ดต่าง ๆ ต่อแม่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองหมู่บ้านนี้ นับแต่แม่ตั้งครรภ์จนกระทั่งการตัดสายสะดือ การเก็บสายสะดือ การฝังรก ตลอดจนเคล็ดในการ "อยู่กำ" หรือ "อยู่เดือน" ล้วนมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ประการเดียวคือ เพื่อให้เด็กของตนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพตามที่สังคมนิยมการปฏิบัติต่อทารกอายุ 1 สัปดาห์ขึ้นไปในเรื่องการอาบน้ำ แม่กลุ่มตัวอย่างที่บ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งให้เด็กนอนอาบน้ำบนหน้าแข้งของแม่จนเด็กแข็งแรงพอที่จะประคองให้ตั้งตัวได้ดีแล้วจึงประคองให้นั่งอาบหรือยืนอาบ ในการอาบน้ำชำระล้างทำความสะอาดให้แก่เด็กนี้ ปรากฏว่าแม่ที่บ้านพรานเหมือนส่วนใหญ่คำนึงถึงความนิยมยกย่องของสังคม แต่แม่ที่บ้านอุเม็งส่วนมากมุ่งถึงสุขนามัยของตัวเด็กเอง ซึ่งแสดงถึงความเหลื่อมล้ำกันในความรู้ด้านสุขภาพและอนามัยระหว่างแม่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มนี้การปฏิบัติต่อทารกในเรื่องการแต่งกาย ปรากฏว่าเมื่อก่อนเด็กเดินได้ แม่ให้เด็กสวมเสื้อผ้าเฉพาะท่อนบนคือจากตอนอกลงมาจนคลุมท้อง แต่เมื่อเด็กเดินได้และสังคมกับเด็ก ๆ เพื่อนบ้านได้แล้ว แม่ให้เด็กนุ่งท่อนล่างด้วย หรือเด็กจะนุ่งเฉพาะท่อนล่างก็ได้ การที่แม่กลุ่มตัวอย่างให้เด็กแต่งกายเช่นนี้มีเหตุผลพอสรุปได้ 3 ประการ ประการแรกเป็นเพราะอากาศในเมืองไทยโดยทั่วไปแล้วจัดว่ามีอุณหภูมิสูง แม้ในฤดูหนาวอากาศในภาคเหนือของประเทศจะเย็นลงกว่าปกติ แต่ในฤดูร้อนก็จะร้อนกว่าปกติเช่นกัน แม่จึงให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดเพียงบางส่วนของร่างกายตามที่ตนเห็นว่าสมควร และปิดบางส่วนเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกร้อนจนเกินไป ประการที่สอง วัฒนธรรมของสังคมบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งก็เช่นเดียวกับสังคมไทยทั่วไป คือเห็นว่าร่างกายครึ่งท่อนล่างเป็นส่วนที่ไม่ควรเปิดเผย โดยเฉพาะเมื่อคนเราเติบโตจนสมาคมกับเพื่อนต่างบ้านได้แล้วนั้น แม้ว่าจะยากจนเพียงไหนหรืออากาศจะร้อนสักปานใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็ต้องนุ่งห่มร่างกายท่อนล่างให้มิดชิดไว้ก่อน จึงไม่เป็นปัญหาว่า ทำไมแม่กลุ่มตัวอย่างจึงให้บุตรในวัยที่เดินได้แล้วนุ่งท่อนล่างก่อนที่จะไปเล่นกับเพื่อน ๆ ประการสุดท้ายอาจเกี่ยวกับเศรษฐกิจของครอบครัวค่อนข้างต่ำ แม่จึงตัดปัญหาเรื่องการซักผ้าที่ลูกอาจทำเปรอะเปื้อนและการซื้อหาผ้าบางชิ้นที่ตนเห็นว่ายังไม่จำเป็น โดยปล่อยให้เด็กเปลือยท่อนล่างในระยะที่ยังเดินไม่ได้หรือเปลือยท่อนบนเมื่อเดินได้แล้ว ซึ่งอาจเป็นเช่นนี้จนกว่าลูกจะเข้าโรงเรียนหรือพ่อแม่มี รายได้พอที่จะซื้อหาให้ลูกได้ครบถ้วน บทที่ 4การให้อาหาร การฝึกนิสัยการรับประทานและการนอนก. อาหารเด็กทุกคนรับประทานนมมารดาเป็นอาหารเริ่มแรกและได้รับประทานเมื่อหิว ระยะครึ่งขวบแรกเป็นระยะที่เด็กกลุ่มตัวอย่างได้อาหารที่มีปริมาณและมีคุณค่าทางอาหารอย่างเพียงพอ คือได้ทั้งนมมารดาและอาหารประเภทเหลวกึ่งแข็งเพิ่มจากนมเด็กบ้านพรานเหมือนได้อาหารเพิ่มประเภทเหลวกึ่งแข็งตั้งแต่อายุยังไม่เกิน 1 เดือน ส่วนมากในระยะ 2-7 วัน เนื่องจากแม่เกรงว่าถ้าเด็กรับประทานแต่นมอย่างเดียวจะไม่อยู่ท้องเด็กบ้านอุเม็งได้อาหารเพิ่มประเภทเหลวกึ่งแข็งเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปเมื่อหย่านมแล้ว เด็กทั้งสองหมู่บ้านได้อาหารแข็งคือข้าวเหนียวเม็ดกับกล้วยสุก และกับข้าวประเภทเนื้อสัตว์และผัก พ่อแม่มิได้มีความรู้ในเรื่องคุณค่าของอาหารซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเด็ก นอกจากมีจุดประสงค์ให้เด็กได้รับประทานจนอิ่มเท่านั้นข. การฝึกนิสัยการรับประทานการฝึกนิสัยการรับประทานของเด็กเป็นไปโดยแม่ไม่ได้ตั้งใจ เช่นเมื่อเด็กร้องหิวก็ให้รับประทาน ซึ่งกลายเป็นการให้ตามจังหวะความหิวของเด็กโดยปริยาย หรือเมื่อเวลาให้นม แม่ก็อุ้มช้อนให้ได้รับประทานตามถนัดซึ่งทำให้เด็กได้ใกล้ชิดแม่ และเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยให้แก่เด็กเป็นเบื้องต้นภายหลังเด็กหย่านมแล้ว การกำหนดเวลารับประทานของเด็กเป็นไปอย่างกว้าง ๆ คือ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น วันละ 2, 3 หรือ 4 มื้อ แล้วแต่แม่จะเห็นสมควรซึ่งก็เป็นไปตามความสะดวกของแม่คือกำหนดเวลาให้อาหารเด็กให้ตรงกับเวลาที่ตนหยุดพักทำงานประจำวันด้วย ทำให้เด็กได้รับประทานอาหารเป็นเวลาไปเองโดยที่ผู้ใหญ่มิได้ตั้งใจเช่นเดียวกันค. การฝึกมารยาทในการร่วมวงอาหารพร้อมผู้ใหญ่ เด็กเข้าร่วมวงอาหารพร้อมผู้ใหญ่เมื่อสามารถป้อนอาหารตนเองได้ดีแล้ว และปั้นข้าวรับประทานเองได้โดยเรียบร้อยด้วย ขณะร่วมวงอาหารแม่จะสั่งสอนแนะนำมารยาทในการรับประทานไปด้วยตามโอกาสอันควรและคอยเตือนซ้ำเมื่อเด็กทำผิด ถ้าเด็กดื้อไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำตักเตือนแม่ก็จะยับยั้งการกระทำผิดของเด็กโดยวิธีขู่บ้าง ใช้มือตีขาหรือหยิกพอเจ็บเป็นเชิงบังคับให้ทำตามคำแนะนำสั่งสอนบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษรุนแรงจนเด็กมีปฏิกิริยาต่อการรับประทานอาหารร่วมวงกับผู้ใหญ่แต่อย่างใดง. การฝึกนิสัยการนอน เด็กบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งมิได้รับการฝึกนิสัยการนอน หากแม่เด็กทั้งสองหมู่บ้านปล่อยให้เด็กไปตามธรรมชาติของเด็กเอง กล่าวคือ เด็กง่วงเมื่อใดก็จัดที่นอนหรือพาไปนอนเมื่อนั้น ถ้าเด็กยังไม่ง่วงก็ปล่อยให้เล่นจนกว่าเด็กจะง่วง เมื่อเด็กสามารถเข้านอนตามลำพังได้แล้วเด็กก็ไปนอนเอง และแม่ก็มิได้กำหนดเวลาการนอนของเด็ก ไม่มีการบังคับหรือขัดขวางการนอนของเด็กเพื่อจะฝึกนิสัยในเรื่องนี้ บทที่ 5 การหย่านมแม่กลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งก็รอเวลาที่บุตรจะหย่านมได้เช่นเดียวกับ แม่ทั้งหลาย และระหว่างระยะเวลาของการรอนี้ แม่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองหมู่บ้านได้ฝึกให้เด็กรับประทานอาหารอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอาหารที่เด็กจะรับประทานเป็นอาหารหลักแทนนมต่อไปคือ"ข้าว" เมื่อแม่เห็นว่าเด็กโตพอและสามารถรับประทานข้าวตลอดจนขนมบางอย่างได้ดีพอสมควรแล้ว จึงได้ให้เด็กหย่านมซึ่งตามความหมายของแม่ก็คือให้เด็กเลิกรับประทานนมแม่โดยเด็ดขาด ดังนั้นวิธีการหย่านมบุตรของแม่ทั้งสองหมู่บ้านจึงเป็นแบบ "ทันทีทันใด" โดยแม่ส่วนใหญ่อาศัยวิธีทาหัวนมด้วยสิ่งที่มีรส กลิ่น หรือสี ที่เด็กไม่ชอบและไม่เป็นพิษแก่เด็ก และแม่ส่วนน้อยที่ใช้วิธีแยกเด็กไปนอนกับบุคคลในบ้านที่ไม่ใช่แม่ หรือวิธีให้อาหารอื่นแทนนมเมื่อถึงเวลารับประทานของเด็กเด็กกลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีปฏิกริยาต่อการหย่านมอยู่ในระดับ "รุนแรง" คือ อาเจียน ร้องไห้หรือผละหนีไป ซึ่งแม่จะตอบสนองด้วยการลดความเครียดของเด็กโดยการปลอบโยนล่อหลอกให้เด็กเพลิดเพลินสนุกสนานกับสภาพแวดล้อม และรับประทานอาหารที่แม่ป้อนให้จนอิ่มทุกมื้อและเลิกรับประทานนมแม่ได้ในที่สุด ปรากฏว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่าครึ่งหย่านมได้เรียบร้อยภายใน 3 วัน นอกนั้นหย่านมได้เรียบร้อยภายใน 7 วัน 2 สัปดาห์ และภายใน 2 เดือน ตามลำดับ บทที่ 6 การฝึกอบรมการขับถ่ายสำหรับระยะเวลาที่เริ่มต้นฝึกอบรมการขับถ่าย แม่ใน 2 หมู่บ้านส่วนใหญ่เริ่มฝึกเด็กเมื่ออายุ 1 ปีลงมา ในการเริ่มฝึกเด็กเมื่อใดนั้นแม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับลักษณะความเจริญเติบโตของเด็กเป็นสำคัญ แม่ส่วนใหญ่ของทั้ง 2 หมู่บ้านเริ่มฝึกเด็กในเรื่องควบคุมปัสสาวะและอุจจาระในอายุขนาดเดียวกันสำหรับวิธีฝึกอบรมการขับถ่ายนั้น แม่ของ2 หมู่บ้านใช้วิธีฝึกอยู่ 2 วิธี คือ การสังเกตอาการที่เด็กแสดงให้ทราบว่าต้องการขับถ่ายกับวิธีฝึกให้เด็กขับถ่ายเป็นเวลา ซึ่งปรากฏว่า แม่ใน 2 หมู่บ้านส่วนมากใช้วิธีฝึกโดยสังเกตอาการมากกว่าใช้วิธีฝึกเป็นเวลา และก็ปรากฏว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนส่วนมากบังคับการขับถ่ายได้เรียบร้อย เมื่ออายุ 2 ปี นอกจากแม่บางรายที่มีความเข้มงวดในการฝึกการขับถ่ายมากเกินไป จึงต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายของลูกในภายหลัง บทที่ 7 ขอบเขตของพฤติกรรมของเด็กแม่ในหมู่บ้านพรานเหมือนและหมู่บ้านอุเม็ง มีความห่วงใยในความปลอดภัยของลูกเป็นอย่างมาก และขณะเดียวกันก็ต้องคอยระมัดระวังการเล่นของลูกซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิ่งของอีกด้วย ฉะนั้นการเคลื่อนไหวของลูกทุกระยะจึงต้องอยู่ในสายตาของแม่ ญาติผู้ใหญ่หรือพี่ ๆ ตลอดเวลา นับตั้งแต่วัยทารกขึ้นไปจนถึงวัยก่อนเข้าเรียนในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกโดยเฉพาะในวัยเข้าเรียนแล้ว ปรากฏว่าแม่บ้านอุเม็งให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของลูกน้อยกว่าแม่บ้านพรานเหมือน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านอุเม็งมีอันตรายมากกว่านั่นเองอนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแม่ใน 2 หมู่บ้านที่วางกฎเกณฑ์ห้ามลูกเล่นสิ่งของบางอย่างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิ่งของและบ้านเรือนนั้น ปรากฏว่าแม่บางรายกลับใช้ให้ลูกรับผิดชอบหน้าที่การงานบางอย่างซึ่งขัดกับกฎเกณฑ์ที่ตนวางไว้ เช่น ห้ามลูกเล่นไฟ แม่ใช้ให้ลูกช่วยทำงานเกี่ยวกับไฟ ฯลฯ ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นความไม่คงเส้นคงวาของแม่ ในการฝึกอบรมลูกในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี บทที่ 8 พฤติกรรมทางเพศและเพศศึกษาในการฝึกอบรมเด็กเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้น แม่กลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกให้เด็กรู้จักยับยั้งการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งได้แก่การลูบคลำอวัยวะ สืบพันธุ์และการเล่นเพศกับเด็กอื่น ๆ นอกจากนี้แม่ยังฝึกอบรมให้ลูกรู้จักอายด้วยการสอนให้สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิดส่วนเรื่องการยับยั้งการเล่นอวัยวะเพศของลูก ปรากฏว่าแม่ใน 2 หมู่บ้านเข้มงวดกับลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง และแม่กลุ่มอายุน้อย มีความเข้มงวดกับลูกมากกว่าแม่กลุ่มอายุปานกลางและกลุ่มอายุมากสำหรับการซักถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า "น้องมาจากไหน?" แม่ส่วนมากให้คำตอบใกล้เคียงความจริง นอกจากแม่บางรายที่ให้คำตอบผิด ๆ เพราะเห็นว่าเด็กยังเล็กเกินไปไม่สมควรจะรู้ และยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศของคนด้วยแล้ว แม่ของทั้ง 2 หมู่บ้านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่สมควรจะให้เด็กทราบเลย เพราะเป็นเรื่องน่าอาย แม่เชื่อว่า เมื่อเด็กเติบโตจนถึงรุ่นหนุ่ม รุ่นสาวแล้วย่อมจะทราบความจริงได้เอง ดังนั้นตนจึงเพียงแต่อบรมสั่งสอนลูกให้รู้จักควบคุมความประพฤติทางเพศ โดยเฉพาะสำหรับลูกผู้หญิง แม่เข้มงวดในการบังคับให้รู้จักประพฤติตัวเป็นลูกผู้หญิง รู้จักรักนวลสงวนตัวและรักษาชื่อเสียงของตนและวงศ์ตระกูลไว้ บทที่ 9 การฝึกอบรมให้เด็กเป็นสมาชิกที่สังคมปรารถนาแม่กลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็ง มุ่งอบรมให้เด็กรู้จักควบคุมความก้าวร้าวรุกรานและให้รู้จักมีความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่สำหรับการก้าวร้าวของเด็กในวัยก่อนเข้าเรียนนั้นปรากฏว่าเด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวทางกายมากกว่าทางอื่น และแม่ใช้วิธีแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวของลูกด้วยการดุห้ามปรามและชี้แจง ด้วยเห็นว่าลูกยังเล็กอยู่ ส่วนการแสดงกิริยาก้าวร้าวของเด็กตั้งแต่วัยเข้าเรียนขึ้นไปนั้น เนื่องจากเด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวในรูปต่าง ๆ กัน แม่จึงต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ชอบด้วยสังคมนิยมนี้ ด้วยวิธีการซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 5 ประการดังต่อไปนี้1. ความรุนแรงของกิริยาก้าวร้าวที่เด็กแสดง ถ้าเด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวรุนแรงมาก ก็จะถูกลงโทษรุนแรงด้วย2. สิ่งที่เด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อ ซึ่งอาจเป็นบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของ ถ้าเด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อบุคคลย่อมได้รับโทษรุนแรงกว่า เมื่อเด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อสัตว์หรือสิ่งของ3. ชนิดของความก้าวร้าวที่เด็กแสดงออก กล่าวคือแม่เห็นว่าการที่เด็กแสดงกิริยาก้าวร้าวทางกายเป็นเรื่องที่ควรได้รับโทษรุนแรงกว่าการแสดงกิริยาก้าวร้าวทางวาจา4. เด็กเป็นต้นเหตุแห่งความก้าวร้าวนั้นเอง กล่าวคือถ้าแม่พบว่าผู้ก่อการทะเลาะวิวาทขึ้นก่อนเป็นลูกของตนเอง แม่จะใช้การลงโทษอย่างหนัก5. อารมณ์ของแม่ในขณะนั้น ถ้าในขณะเด็กกระทำผิด แม่อยู่ในอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิด เด็กอาจจะถูกลงโทษรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ถ้าพิจารณาดูพฤติกรรมที่เด็กกระทำจริง ๆ แล้วจะไม่รุนแรงถึงขั้นได้รับการลงโทษเช่นนั้น บทที่ 10 การฝึกให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองและรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่แม่กลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือน และบ้านอุเม็งส่วนใหญ่มีความอะลุ้มอล่วยต่อการพึ่งพาของเด็กนับตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยเริ่มเข้าเรียน โดยเฉพาะในวัยทารก จะยอมให้ลูกพึ่งพาแม่ได้มากกว่าวัยอื่น ๆ แต่เมื่อลูกมีอายุย่างเข้าปีที่ 3 แล้ว แม่จึงจะเริ่มฝึกให้ลูกรู้จักช่วยตัวเอง เพื่อให้ลดการพึ่งพาผู้ใหญ่ในครอบครัวน้อยลงแม่ของทั้ง 2 หมู่บ้านเล็งเห็นคุณค่าของการฝึกเด็กให้รู้จักช่วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเด็กหลายด้านคือ ฝึกให้รู้จักรักษาสุขภาพ อนามัยของเด็ก ปลูกฝังความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ และช่วยส่งเสริมเด็กให้รู้จักขวนขวายช่วยตัวเองในวันข้างหน้า นอกจากนี้แม่ยังเห็นความจำเป็นในการฝึกเรื่องนี้ในแง่ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่และเพื่อเป็นการเตรียมตัวเด็กให้รู้จักช่วยตัวเองเมื่อถึงวัยเข้าเรียนเรื่องสำคัญที่แม่ของ 2 หมู่บ้าน เห็นสมควรจะฝึกให้ลูกช่วยตัวเองได้คือ กิจวัตรประจำวัน ซึ่งได้แก่ การรับประทานอาหาร การอาบน้ำและแต่งตัว สำหรับแม่บ้านพรานเหมือนเห็นความจำเป็นในการรักษาสุขภาพอนามัยเป็นสำคัญจึงเริ่มฝึกให้ลูกอาบน้ำก่อนเรื่องอื่น และฝึกการแต่งตัวเป็นเรื่องสุดท้าย ส่วนแม่บ้านอุเม็งเริ่มฝึกให้ลูกช่วยตัวเองในเรื่องรับประทานอาหารก่อนเรื่องอื่น โดยให้เหตุผลว่าฝึกได้ง่ายและเด็กต้องรับประทานบ่อย ๆ ส่วนการฝึกเรื่องแต่งตัวนั้น แม่มีความคิดเห็นว่าฝึกได้ยาก จึงเลือกฝึกเรื่องนี้หลังสุดครั้นเมื่อถึงวัยที่เด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ซึ่งมีอายุระหว่าง 7 - 8 ปี แม่ของทั้ง 2 หมู่บ้านมีความมุ่งหวังที่จะให้ลูกช่วยตัวเองได้มากขึ้น นั่นก็คือเด็กวัยนี้จะต้องหาอาหารรับประทาน แต่งตัวและ ไปนอนได้เอง ยิ่งกว่านั้นแม่ส่วนใหญ่ของทั้ง 2 หมู่บ้านยังหวังที่จะให้ลูกรู้จักรักษาความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรียนและเสื้อผ้าของเด็กเองได้ด้วยการฝึกให้ลูกซักเสื้อผ้าเอง ส่วนวิธีการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยตัวเอง แม่ส่วนใหญ่ของ 2 หมู่บ้านใช้การฝึกให้เด็กเลียนแบบ จากการปฏิบัติของผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างให้ดู การฝึกด้วยวิธีดังกล่าวนี้ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าเด็กจะช่วยตัวเองได้อย่างดีเมื่อเด็กได้รับการฝึกให้ช่วยตัวเองได้เรียบร้อยแล้ว แม่ของ 2 หมู่บ้านเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบทางงานบ้านบ้าง ทั้งนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแม่และสมาชิกอื่นในครอบครัว กับทั้งเป็นการเพาะนิสัยให้เด็กรู้จักทำงานตั้งแต่เล็กอีกด้วย ดังนั้นงานบ้านที่แม่มอบหมายให้เด็กรับผิดชอบจึงมักเป็นงานที่แม่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับวัยและเพศของเด็ก นอกจากบางครอบครัวที่ไม่มีลูกผู้หญิง แต่จำเป็นจะต้องมอบหมายให้ทำงานในหน้าที่ของลูกผู้ชาย หรือให้ลูกผู้ชายทำงานแทนลูกผู้หญิง ก็เนื่องด้วยความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบงานบ้าน แม่ทั้ง 2 หมู่บ้านใช้วิธีการเช่นเดียวกับการฝึกให้เด็กรู้จักช่วยตัวเอง กล่าวคือ ทำให้ดูเป็นตัวอย่างและหมั่นสอนอยู่เสมอ จนกว่าเด็กจะรับผิดชอบงานนั้นได้ตามลำพัง ซึ่งในบางครั้งแม่ใช้การชมเชยหรือให้รางวัลเป็นสิ่งของบ้าง เพื่อส่งเสริมกำลังใจแก่เด็ก อย่างไรก็ดีวิธีนี้แม่สงวนไว้ใช้ในกรณีที่เด็กทำงานได้รับมอบหมายได้ดีเป็นพิเศษเท่านั้น ไม่ใช้โดยพร่ำเพรื่อเกินไป มิฉะนั้นแม่เชื่อว่าจะทำให้เด็กเคยตัว ในทางตรงกันข้ามหากเด็กไม่ยอมปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย แม่ของทั้ง 2 หมู่บ้านก็จะใช้การลงโทษ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เพื่อแก้ไขและควบคุมความประพฤติของเด็ก บทที่ 11 ปัญหาเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กปัญหาสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งแม่บ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งให้ความคิดเห็นไว้ก็คือ ความเจ็บไข้ของลูก ซึ่งมีส่วนกระทบกระเทือนเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ส่วนปัญหาอื่นๆ ได้แก่ภาระที่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ลูกเกิด เป็นเหตุให้แม่ทำงานไม่สะดวก และปัญหาเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนเด็ก แม่ของทั้งสองหมู่บ้านพบว่าลูกผู้ชายในวัยเด็ก มักแสดงกิริยาดื้อดึงต่อพ่อแม่มากกว่าลูกผู้หญิงทำให้ยากแก่การอบรมสั่งสอน ส่วนในวัยรุ่นแม่ประสบปัญหาในการควบคุมความประพฤติทางเพศของเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย ในด้านการฝึกอบรมเด็ก ขณะปัจจุบันแม่ของทั้งสองหมู่บ้านมีความอะลุ้มอล่วยต่อลูกมากขึ้นโดยการลงโทษทางกายน้อยลง และใช้หลักทางจิตวิทยามากขึ้น เช่น ได้แก่ การชมเชย หรือการให้รางวัลเป็นสิ่งของสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางสังคมซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยนั้น แม่ของทั้งสองหมู่บ้านเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางดีโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา บทที่ 12 การปรับตัว-ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทัศนคติของพ่อแม่ต่อ การศึกษาของเด็กและอาชีพของเด็กการปรับตัวและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งส่วนใหญ่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสถานการณ์ต่าง ๆ ทางโรงเรียนได้เร็ว เพราะเด็กเคยเห็นกันรู้จักกัน และคุ้นกับโรงเรียนมาก่อน ฉะนั้นในวันแรกเข้าโรงเรียนและตลอดปีแรกนั้น เด็กส่วนมากจึงไม่ใคร่มีปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวจำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนที่สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ 1 มีอัตราสูงกว่าของบ้านอุเม็ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะปริมาณของเด็กมากน้อยกว่ากัน อายุหรือสติปัญญาของเด็กสองกลุ่มนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ครูใช้มาตรฐานในการตัดสินผลสัมฤทธิ์ของเด็กแตกต่างกัน หรือมีนโยบายในการพิจารณาความสามารถของเด็กไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือน 96 เปอร์เซ็นต์ และเด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านอุเม็ง 92 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ไปในที่สุด จำนวนที่ขาดหายไปนั้นเนื่องจากเด็กลาออกกลางคัน เพราะอพยพติดตามผู้ปกครอง เพราะอายุพ้นเกณฑ์แล้วไม่สมัครใจเรียน และเพราะเด็กถึงแก่กรรมปรากฏว่าเด็กที่ปรับตัวได้ดีส่วนมากมีสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนสูงด้วย และเด็กที่มีสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนสูงในชั้นประถมปีที่ 1 ก็มักจะยังคงมีสัมฤทธิ์ผลสูงจนจบชั้นประถมปีที่ 4 เพียงแต่ลำดับที่ของการสอบไล่ในแต่ละปีอาจเลื่อนสูงขึ้นหรือลดต่ำลงบ้างตามสภาพทางพัฒนาการของเด็กแต่ละคนในปีนั้น ๆทัศนคติของพ่อแม่ต่อการศึกษาและอาชีพของบุตรพ่อแม่เด็กกลุ่มตัวอย่างทั้งสองหมู่บ้านต่างตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาว่า มีผลต่ออนาคตของเด็ก โดยเฉพาะในการประกอบอาชีพเมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ส่วนน้อยที่มองเห็นผลการศึกษาในแง่เสริมสร้างพัฒนาการและบุคลิกภาพที่ดีแก่ตัวเด็กเองอีกส่วนหนึ่งด้วยพ่อแม่เด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนส่วนมากยังไม่ได้คำนึงถึงอาชีพของบุตร เพราะหมกหมุ่นอยู่กับการครองชีพในปัจจุบันจนเห็นว่าเรื่องการศึกษาต่อและอาชีพของบุตรนั้นเป็นปัญหาที่ยังไม่ถึงเวลานำมาขบคิด ส่วนพ่อแม่ซึ่งคำนึงถึงอนาคตของบุตร ส่วนมากคิดจะส่งเด็กให้เรียนต่อในอาชีพครู เพราะเป็นงานมีเกียรติและสังคมให้ความยกย่องนับถืออย่างสูง ส่วนน้อยกำหนดแน่นอนว่าจะให้เด็กทำนา ทำไร่ เพราะไม่มีเงินส่งให้เรียนพ่อแม่เด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านอุเม็งส่วนใหญ่นึกถึงการศึกษาต่อและอาชีพของบุตร และหวังให้เด็กเป็นข้าราชการมากกว่าอาชีพอิสระอื่นๆ ในจำนวนนี้ส่วนน้อยต้องการให้บุตรมีอาชีพทางเกษตรกรรม เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ดี และตนมีหลักฐานมั่นคงพอพร้อมที่จะให้บุตรได้มีอาชีพนี้อยู่แล้วจากความมุ่งหวังในอาชีพของบุตร จะเห็นได้ว่าพ่อแม่เด็กกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติต่ออาชีพการทำไร่ทำนาอันเป็นอาชีพหลักของตนเองในทางไม่ดี แต่นิยมงานข้าราชการทุกระดับว่าเป็นอาชีพดีกว่าเกษตรกรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมด้วยประการทั้งปวง บทที่ 13 บทสรุปจากผลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดสรุปได้ว่า เด็กกลุ่มตัวอย่างบ้านพรานเหมือนและบ้านอุเม็งต่างได้รับความเอาใจใส่เลี้ยงดูมาจากทางบ้านอย่างอบอุ่นยิ่งตลอดวัยก่อนเรียน และแม้ว่าเด็กบางรายจะอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำก็ตาม ทว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเด็กกับพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวก็มิได้พลอยกระทบกระเทือนไปด้วยประการใดส่วนใหญ่แล้วแม่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองหมู่บ้านฝึกอบรมบุตรด้วยวิธีที่อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในลักษณะที่ไม่เข้มงวดกวดขัน ขณะเดียวกันก็ไม่ประคับประคองจนเกินไป เด็กได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักช่วยตนเองเกี่ยวกับกิจวัตรง่าย ๆ ส่วนตัว รู้จักเล่นร่วมกับเด็กวัยเดียวกัน และรู้จักสังคมนอกบ้านตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ตลอดจนได้เรียนรู้คุณธรรมต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดได้แก่การเคารพนับถือเชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่อื่นๆ ทั้งโดยการสอนของพ่อแม่และการได้ปฏิบัติตามขนบ ประเพณีและความเชื่อของบรรพบุรุษในปีแรกเข้าโรงเรียน เด็กกลุ่มตัวอย่างที่หมู่บ้านพรานเหมือนและหมู่บ้านอุเม็งสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ และสถานการณ์ทางโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วเด็กก็สามารถเรียนจบการศึกษาภาคบังคับได้ภายในเวลาอันควร ทั้งสองประการนี้แสดงว่า ทางครอบครัวได้วางรากฐานพัฒนาการแก่เด็กไว้ดีพอที่จะช่วยให้เด็กบรรลุวุฒิภาวะในด้านต่าง ๆ สมตามระดับวัยของตนแล้ว และถ้าหากสถาบันอื่น ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะโรงเรียนช่วยส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามของเด็กให้เจริญถาวรต่อไปด้วยแล้ว ก็ย่อมหวังได้ว่าเด็กจะเติบโตในบุคลิกภาพอันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น