อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการของเด็ก ที่ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีรายงานการวิจัยฉบับที่ 9 ผู้วิจัย    ละม้ายมาศ ศรทัตต์               จรรจา สุวรรณทัต ปีที่พิมพ์ 2510 ผู้วิจัยได้เขียนบรรยายรายงานฉบับนี้เป็นหัวข้อพอสรุปได้ดังนี้ บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 การเตรียมตัวรับบทบาทพ่อแม่ บทที่ 3 การปฏิบัติต่อเด็กเมื่อแรกคลอด บทที่ 4 การให้อาหาร บทที่ 5 การฝึกนิสัยเด็กในการรับประทานและการนอน บทที่ 6 เสรีภาพของเด็กในการเคลื่อนไหว บทที่ 7 การฝึกหัดการขับถ่าย บทที่ 8 แหล่งอบรมเด็กให้เป็นสมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคม บทที่ 9 การอบรมปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็ก บทที่ 10 การฝึกอบรมเด็กให้รู้จักช่วยตัวเองและเกิดความรับผิดชอบ บทที่ 11 การอบรมเด็กในเรื่องความเสงี่ยมตนเกี่ยวกับเพศ บทที่ 12 ทัศนคติของพ่อแม่ต่อการศึกษาและอาชีพ บทที่ 13 ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางประการในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก บทที่ 14 ผลจากการอบรมเลี้ยงดูที่มีต่อการปรับตัวของเด็กในปีแรกที่เข้าโรงเรียน   บทที่ 1 บทนำกล่าวถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลตลอดจนสรุปผลที่ได้จากการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาการอบรมเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ในเขตชุมชนตำบลนาป่า 2. เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่แม่ประสบในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก 3. เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็ก วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนไพโรจน์ประชาสรรค์ จำนวน 27 คน เป็นเด็กที่มีความสามารถระดับต่าง ๆคละกันทั้งในด้านการเรียนและการปรับตัว และแม่ของเด็กที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ แบบสัมภาษณ์แม่เกี่ยวกับบุตร สรุปผล จากข้อมูลที่ได้ในการสัมภาษณ์แม่ที่ตำบลนาป่า ปรากฏว่าภายในครอบครัวนาป่ามีการปฏิบัติเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กแตกต่างกันออกไปมากเช่นเดียวกับครอบครัวไทยโดยทั่ว ๆ ไป   บทที่ 2 การเตรียมตัวรับบทบาทพ่อแม่แม่ที่ตำบลนาป่ามีการเตรียมใจที่จะรับบทบาทของการเป็นมารดาอย่างเต็มที่ การตั้งท้องจึงเป็นความสุขของแม่ทุกคนในบรรดาแม่เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยทำสิ่งใดเพื่อให้ได้ลูกเกิดมาเป็นเพศที่ตนต้องการเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่ว่าลูกจะเกิดมาเป็นเพศใดตนก็ต้องให้ความรักและการฟูมฟักทะนุถนอมเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้แม่จะอ้างเหตุผลดังกล่าว แต่เมื่อถามตรง ๆ ว่าต้องการลูกชายหรือลูกสาวมากกว่ากัน แม่ที่ตำบลนาป่า ส่วนมากแสดงความปรารถนาในบุตรชายด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แม่ทุกคนตั้งความหวังไว้คล้ายคลึงกันว่าลูกที่เกิดมานั้นจะเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ บทที่ 3 การปฏิบัติต่อเด็กเมื่อแรกคลอดในการปฏิบัติต่อเด็กเมื่อแรกคลอด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ การตัดสายสะดือ อาบน้ำ ร่อนกระด้งมาจนถึง การเก็บสายสะดือและฝังรกนั้น จะเห็นได้ว่าแม่ส่วนใหญ่มีความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามธรรมเนียมโบราณเท่าที่จะได้รับการแนะนำจากพ่อแม่ทางฝ่ายตน หรือทางฝ่ายสามี ตลอดจนญาติผู้ใหญ่อื่น ๆสิ่งใดที่เคยได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาและเชื่อว่าเป็นสิริมงคลต่อเด็กที่เกิด แม่ก็จะรับไว้ปฏิบัติตามเกือบทั้งสิ้น แม้ว่าบางครั้งแม่จะไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องกระทำก็ตามข้อนี้แสดงให้เห็นความเชื่อของแม่อย่างแน่นแฟ้นที่ว่าการปฏิบัติต่าง ๆ จะมีเหตุผลต่อบุคลิกภาพและอุปนิสัยของเด็กต่าง ๆ กัน บทที่ 4 การให้อาหารแม่ที่ตำบลนาป่าเกือบทุกรายเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองและมีความพอใจให้ลูกดูดนม ระหว่างที่น้ำนมแม่ยังไม่มีนั้นแม่ส่วนมากให้ลูกดูดน้ำผึ้งที่ผสมกับน้ำอุ่นจากสำลีที่ชุบไว้ แม่จะอุ้มกระชับลูกขณะให้นม ตลอดจนให้ลูกดูดนมได้ตามสบายอย่างเปิดเผยในบ้านแม่ไม่ได้กำหนดเวลาที่ให้ลูกดูดนม แต่ปล่อยให้เด็กดูดนานเท่าที่ต้องการ ส่วนมากเมื่อเด็กอายุหลัง 1 เดือนไปแล้วแม่จะให้ข้าวบดกับกล้วยหรืออาหารย่อยง่ายชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมจากนม แม่รายงานว่าไม่มีความยากลำบากอย่างใดในการให้อาหารเด็กเด็กแสดงปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการรับประทานนมแม่และอาหารอื่นได้เป็นอย่างดีและมีความสุข โดยปกติแล้ว แม่ที่ตำบลนาป่าให้ลูกรับประทานนมตนไปจนอายุ1.5 - 2 ขวบ จึงได้หย่านม เหตุผลสำคัญที่ให้ก็คือ แม่ตั้งท้องใหม่ เมื่อถึงเวลาหย่านม แม่ก็ดำเนินการอย่างแน่วแน่และตั้งใจจริงวิธีการหย่านมค่อนข้างจะรุนแรงและเป็นไปอย่างทันทีทันใด กระนั้นก็ตามแม่ส่วนใหญ่รายงานว่าตนสามารถหย่านมลูกได้สำเร็จโดยง่ายภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ บทที่ 5 การฝึกนิสัยเด็กในการรับประทานและการนอนแม่ที่ตำบลนาป่าโดยทั่วไปมีความเอาใจใส่ดูแลว่า ลูกของตนได้รับประทานอาหารเพียงพอหรือไม่แต่มีความสนใจน้อยในเรื่องความสมดุลย์ของอาหารที่ให้เด็กรับประทาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังขาดความรู้ทางโภชนศาสตร์ก็เป็นได้อย่างไรก็ตามแม่เหล่านี้ก็สามารถใช้สามัญสำนึกได้ดีพอควรในเรื่องการจำกัดชนิดอาหารที่ควรให้แก่เด็กเล็กแม่เหล่านี้ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนอย่างใดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของเด็ก แม้แม่จะคิดว่าควรกำหนดเวลาให้เด็กรับประทานกี่ครั้งต่อวันแต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงแม่ก็ไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้ กลับปล่อยตามใจเด็กให้รับประทานตามที่ต้องการอีกประการหนึ่งการฝึกอบรมให้เด็กเกิดนิสัยที่ดีในการรับประทาน เช่น มรรยาทและระเบียบต่าง ๆ ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ใหญ่ก็ดำเนินไปอย่างง่าย ๆไม่เอาจริงเอาจัง การปฏิบัติของแม่ในเรื่องการให้อาหารเด็กนี้จึงนับว่าเป็นตัวอย่างอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของคนไทยในการอบรมเลี้ยงดู ส่วนในด้านการนอนนั้น แม่มักให้ลูกนอนรวมกับพ่อแม่จนโตรู้ความ โดยปกติแล้วแม่จะคอยจัดที่หลับนอนและกางมุ้งไว้ให้พร้อม แล้วพาเด็กมานอนเมื่อถึงเวลาการฝึกให้เด็กนอนแต่ลำพังตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทำให้ลำบาก ทั้งนี้เพราะความคับแคบของสถานที่อยู่และความจำเป็นที่ต้องใช้มุ้งเพราะยุงชุมพ่อแม่จะให้ลูกนอนแยกแต่ลำพังก็ต่อเมื่อลูกใกล้ระยะเป็นหนุ่มสาวแล้วเท่านั้น แม่เกินกว่าครึ่งที่ตำบลนาป่ารายงานว่าเด็กสามารถไปนอนได้โดยลำพังหลังอายุ 7ขวบไปแล้ว แต่แม่ยังต้องจัดเตรียมที่หลับที่นอนให้ แม่ส่วนใหญ่รายงานว่าลูกจะรับผิดชอบในการจัดที่หลับนอนตลอดจนไปนอนเองแต่โดยลำพังได้โดยเรียบร้อยเมื่ออายุ 9 - 10 ขวบขึ้นไปแล้ว บทที่ 6 เสรีภาพของเด็กในการเคลื่อนไหวทั้งในระยะวัยทารก วัยเด็กเล็กจนถึงระยะก่อนเข้าโรงเรียน แม่ที่ตำบลนาป่าจะมีความยืดหยุ่นอย่างยิ่งในการอบรมลูกของตนในด้านต่าง ๆ ก็ตามแต่ก็ยังแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของลูกเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวของเด็กทุกระยะอยู่ในสายตาของแม่เองหรือผู้ใหญ่อื่น หรือพี่ที่โตกว่าเกือบตลอดเวลาผลที่ได้ในเรื่องนี้อาจดูขัดแย้งกับความมุ่งหวังข้อหนึ่งของแม่ซึ่งจะกล่าวในตอนหลังของรายงานนี้ว่าแม่มักแสดงความปรารถนาให้เด็กได้รู้จักช่วยตัวเองได้ตั้งแต่เยาว์ และมักไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงความต้องการพึ่งพาอันเป็นพันธะให้แก่แม่แต่แม่กลับดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวนี้อย่างไรก็ตามก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าการที่แม่ที่ตำบลนาป่าไม่สนับสนุนให้ลูกมีเสรีภาพทางการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่นี้จะเป็นเครื่องกำหนดว่าการฝึกฝนอบรมเด็กในเรื่องการช่วยตัวเองในระยะต่อไปจะหย่อนคลายลงด้วยอีกอย่างก็คือแม้ว่าจำนวนกลุ่มตัวอย่างในการค้นคว้านี้จะมีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะคำนวณหาค่าทางสถิติได้แต่ข้อมูลที่ได้แสดงความโน้มเอียงว่าแม่มีความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยของเด็กและไม่ค่อยยอมให้เด็กมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวนั้นมักเป็นแม่ที่มีความยืดหยุ่นในการอบรมเด็กทางด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย บทที่ 7 การฝึกหัดการขับถ่ายแม่ทั้งหมดที่ตำบลนาป่าสามารถจัดการกับอุจจาระปัสสาวะของลูกได้โดยไม่มีความรู้สึกรังเกียจแต่อย่างใด ในตอนเด็กยังเล็กมากแม่มักปล่อยให้เด็กถ่ายตามพื้นบนเรือนหรือพื้นดินลานบ้านไปก่อน เมื่อเด็กถ่ายเสร็จก็จะชำระให้ด้วยน้ำ เมื่อเด็กโตพอเดินได้ แม่จะเริ่มฝึกให้เด็กไปถ่ายที่ร่องตอนแรกแม่อาจช่วยโดยจับเด็กไปนั่งที่ร่องเมื่อเด็กต้องการถ่าย พอเด็กโตขึ้นอีกหน่อย ก็อาจพาเด็กไปที่ส้วมขุดหลังบ้านหรือถ้าไม่มีก็พาไปตามสวนหรือป่าหรือพุ่มไม้ใกล้ ๆ บ้าน แม่ส่วนใหญ่เริ่มฝึกเด็กเรื่องนี้เมื่ออายุประมาณ 1 - 2 ขวบ เมื่อถามแม่เกี่ยวกับเหตุผลที่ว่าควรฝึกเมื่ออายุเท่าใดนั้นแม่ทุกคนได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับลักษณะการเจริญเติบโตของเด็กทั้งสิ้น แม่รายงานว่าเด็กจะบังคับการขับถ่ายได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออายุเกิน 1 ขวบขึ้นไปแล้วนอกจากนี้แม่รายงานว่าตนไม่มีความลำบากอย่างใดในการฝึกเด็ก ไม่มีแม่คนใดเลยที่กล่าวว่าตนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ของเด็กขณะฝึกหัด อนึ่งแม้ว่าแม่ทั้งหมดจะรายงานว่าตนเห็นเป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกเด็ก ให้รู้จักบังคับการขับถ่ายแต่เมื่อแม่ลงมือฝึกเด็กในเรื่องนี้ แม่กลับปล่อยลูกของตนและไม่เอาจริงจังในการฝึกแต่อย่างใดข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นความอะลุ้มอล่วยของแม่คนไทยในการฝึกหัดลูกอีกด้านหนึ่งเป็นอย่างดี บทที่ 8 แหล่งอบรมเด็กให้เป็นสมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคมแหล่งอบรมที่สำคัญที่สุดในตำบลนาป่า คือ ครอบครัว โรงเรียน และวัด ภายในครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ของเด็ก ๆ และญาติมีบทบาทและหน้าที่ลดหลั่นกันตามลำดับ กล่าวคือ พ่อแม่ทำหน้าที่สำคัญในการฝึกอบรมเด็กทุกด้าน ส่วนย่ายายทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแม่ในการช่วยดูแลเด็กปู่และตามักรับหน้าที่ฝึกสอนเด็กให้เกิดความชำนาญในงานที่ต้องการทักษะต่าง ๆ พี่ ๆของเด็กจะทำหน้าที่ว่ากล่าวสั่งสอนน้องตามแบบอย่างที่พ่อแม่หรือญาติอื่นๆได้สั่งสอน ตนมา ส่วนญาติผู้ใหญ่อื่น ๆ ก็จะทำหน้าที่สอดส่องดูแลตักเตือนเด็กในทางอ้อม ที่โรงเรียน ครูที่ตำบลนาป่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสังคมให้ความยกย่องอย่างสูงตลอดจนมอบสิทธิและความไว้วางใจแก่ครูอย่างเต็มที่ในการอบรมสั่งสอนเด็ก ทั้งในด้านวิชาการและศีลธรรมจรรยา ส่วนเพื่อน ๆของเด็กทางโรงเรียนก็จัดได้ว่าเป็นผู้ช่วยวางระเบียบวินัยให้แก่เด็กโดยทางอ้อม บทที่ 9 การอบรมปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็กคุณธรรมสำคัญซึ่งแม่ที่ตำบลนาป่ามุ่งอบรมปลูกฝังให้แก่เด็กมีอยู่ 4 อย่างคือ ความเป็นผู้ไม่ก้าวร้าวรุกราน ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความกตัญญูรู้คุณและความมีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ แม่มีความคิดเห็นว่า ความก้าวร้าวไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด เป็นสิ่งที่ไม่ดีและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมเด็กให้เป็นผู้รู้จักยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวเสียตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ อยู่แม่สั่งสอนอบรมไม่ให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวใด ๆ ต่อใครทั้งสิ้น แม้แต่ในกรณีที่เด็กอาจเกิดความจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองแม่ก็ยังนิยมที่จะให้เด็กหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์นั้นเสีย ทั้งแม่ยังสั่งสอนให้เด็กละเว้นจากการแสดงความโหดร้ายทารุณต่อสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายอีกด้วย ในด้านการปลูกฝังให้เด็กมีความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่นั้น แม่คิดว่าการอบรมดังกล่าวจะช่วยให้พ่อแม่ได้รับความสะดวกในการปกครองเด็กโดยเฉพาะทางด้านระเบียบวินัย ทั้งตนยังจะได้รับคำสรรเสริญจากครอบครัวอื่น ๆ ด้วย ถ้ามีเด็กเป็นผู้อยู่ในถ้อยคำและโอวาทของผู้ใหญ่ภายในครอบครัวเด็กได้รับการอบรมให้แสดงความยกย่อง เคารพเชื่อฟัง ปู่ยา ตายาย พ่อแม่ ตลอดจนญาติผู้อาวุโสทั้งหลายเมื่อเข้าโรงเรียนก็ได้รับคำสั่งสอนอบรมให้มีความคารวะยกย่องครูอย่างสูงสุด ส่วนคุณธรรมในด้านความกตัญญูรู้คุณนั้น แม่ชาวนาป่ายึดมั่นว่า ผู้ใดที่มีคุณธรรมนี้ย่อมเป็นคนดีและเห็นความสำคัญที่จะต้องถ่ายทอดคุณธรรมนี้ให้เป็นหลักแก่เด็กในการดำเนินชีวิตของตนต่อไปในอนาคต แม่สอนให้เด็กมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ที่มีอุปการคุณทั้งหลาย ทั้งยังสอนให้เด็กรู้จักกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นยิ่งต่อชีวิตอีกด้วย ในด้านความมีจิตใจเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละนั้น แม่ก็ตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตแม่สอนให้เด็กมีน้ำใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ทั้งกาย วาจา และจิตใจ ทั้งยังให้เผื่อแผ่ความมีจิตใจเมตตานี้ต่อสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย ในการอบรมปลูกฝังคุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ส่วนใหญ่แม่ใช้วิธีการตักเตือนสั่งสอนและแสดงตัวอย่างให้เด็กกระทำตาม หรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติแต่ในกรณีที่เด็กแสดงความดื้อรั้น ไม่ยอมกระทำตาม แม่อาจใช้วิธีการลงโทษทั้งทางกายและวาจาอย่างไรก็ดีแม่จะมีความเข้มงวดกวดขันหรือความคงเส้นคงวาในการอบรมปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกหลายประการที่สำคัญได้แก่สภาวะทางอารมณ์ของแม่ เป็นต้น บทที่ 10 การฝึกอบรมเด็กให้รู้จักช่วยตัวเองและเกิดความรับผิดชอบแม่ชาวนาป่าเกือบทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง แสดงทัศนคติที่อะลุ้มอล่วยต่อการพึ่งพาของเด็กโดยเฉพาะในวัยทารกและวัยเด็กเล็กแม่ไม่ได้ให้ความเป็นอิสระเสรีแก่เด็กมากนัก เฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยตัวเองตอนสมัยเล็ก ๆแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กแสดงการพึ่งพาแม่อย่างชัดแจ้ง แม่เล็งเห็นความสำคัญ ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมให้เด็กรู้จักพึ่งตนเองมากขึ้นในวัยที่เด็กย่างเข้าเกณฑ์ที่ต้องไปโรงเรียนแล้วทัศนคติของแม่มีต่อการพึ่งพาของเด็กในวัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิมกล่าวคือ แม่มีความอดทนต่อการพึ่งพาของเด็กในระยะนี้น้อยลงและตั้งความมุ่งหวังให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองสูงขึ้นในวัยเด็กเล็กแม่ส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กทั้งชายหญิงควรได้รับการฝึกหัดให้สามารถช่วยตัวเองได้ในเรื่องรับประทานก่อน รองลงมาก็คือ อาบน้ำ แต่งตัวและการไปนอนแต่โดยลำพังแม่พิจารณาว่าการที่ต้องให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองในเรื่องการกินนั้นเป็นเรื่องสำคัญก่อนเรื่องอื่นทั้งนี้เพราะแม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ห่างจากเด็กในเวลากลางวันอยู่มากอีกอย่างหนึ่งเด็กกำลังอยู่ในระยะเติบโต ย่อมมีความต้องการในการรับประทานอยู่มาก เด็กจะได้ช่วยตัวเองได้ขณะที่แม่ไม่อยู่ เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียนแม่มีความมุ่งหวังสูงขึ้นที่จะฝึกเด็กให้รู้จักพึ่งตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ในด้านการฝึกอบรมให้เด็กรู้จักรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแม่ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและตั้งความมุ่งหวังให้เด็กรู้จักพึ่งตนเองได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในการรักษาความสะอาดทางร่างกายแต่มองข้ามความสำคัญในการรักษาความสะอาดฟันไปเสีย ส่วนในด้านการรักษาความสะอาดเครื่องใช้ของตนเองนั้นไม่มุ่งหวังว่าเด็กควรทำได้หลังจากที่รู้จักทำความสะอาดทางร่างกายของตนเองแล้ว แม่ส่วนใหญ่มุ่งหวังให้เด็กรู้จักพี่งตนเองใน เรื่องนี้มากขึ้นเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วส่วนวิธีการฝึกที่แม่คิดว่าดีที่สุดนั้น คือค่อย ๆ สอนเด็กไปจนกว่าจะทำได้ ในการสอนเด็กแม่ก็มักนิยมใช้วิธีทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อม ๆ กันไปด้วย แม้แม่ในกลุ่มตัวอย่างทุกคน จะเข้มงวดต่อการฝึกเด็กให้รู้จักพึ่งตนเองเมื่อย่างเข้าโรงเรียนแล้วก็จริงแต่การฝึกดังกล่าวมักเป็นไปในรูปที่แม่ไม่ได้มีความตั้งใจฝึกเพื่อหวังผลให้เกิดความเจริญทางบุคลิกภาพของเด็กโดยตรงนักหากเป็นการฝึกเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแม่มากกว่าประการหนึ่งและทั้งยังเป็นเครื่องแสดงให้สังคมส่วนรวมเห็นว่าตนได้พยายามฝึกเด็กตามความมุ่งหวังอย่างหนึ่งของสังคมนั้นด้วย แม่ชาวนาป่าเล็งเห็นความสำคัญในการอบรมเด็กให้เกิดความรับผิดชอบตั้งแต่ยังอยู่ในระยะเยาว์วัยด้วยเหตุนี้แม่จึงได้มอบหมายการงานและความรับผิดชอบทางด้านต่าง ๆ ซึ่งตนเห็นว่าสมควรให้แก่เด็กแม่แสดงความนิยมชมชื่นเมื่อเห็นเด็กแสดงความสนใจเอาใจใส่ต่องานที่แม่มอบหมายให้มากกว่าที่จะหวังผลสำเร็จจากงานที่เด็กถูกมอบหมายให้ทำนั้น เมื่อเปรียบเทียบงานที่แม่มอบหมายให้เด็กทั้งชายหญิงทำ จะเห็นได้ว่าเด็กชายหญิงที่นาป่าได้รับการฝึกอบรมให้รับผิดชอบต่องานต่าง ๆ คล้ายคลึงกันการฝึกซึ่งย้ำให้เพศใดเพศหนึ่งมีความชำนาญในเรื่องใดโดยเฉพาะนั้นยังไม่มี และยังมีความโน้มเอียงอีกว่าแม่มักมอบหมายความรับผิดชอบให้แก่เด็กหญิงในอายุที่น้อยกว่าเด็กชาย งานบ้านสำคัญที่แม่ชาวนาป่ามอบหมายให้เด็กทำเพื่อฝึกให้เกิดความรับผิดชอบ ได้แก่ (1) หยิบของมาให้ตามผู้ใหญ่สั่ง (2) ถูบ้าน กวาดบ้าน (3)เลี้ยงน้อง (4) ช่วยจัดสำรับ หรือตั้งสำรับกับข้าว ในทำนองเดียวกับการฝึกให้เด็กรู้จักพึ่งตนเอง ในการฝึกให้เด็กเกิดความรับผิดชอบ แม่ส่วนใหญ่นิยมการฝึกชนิดที่ค่อยทำค่อยไป กล่าวคือใช้วิธีอบรมสั่งสอนเด็กแต่โดยดี แม่อาจทำตัวอย่างให้เด็กดูบ้างหรือว่ากล่าวตักเตือน ตลอดจนใช้เหตุผลกับเด็ก ในกรณีที่เด็กกระทำผิดแม่มักใช้วิธีการลงโทษทางจิตใจกับเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย และใช้วิธีการลงโทษทางร่างกายกับเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เฉพาะในกรณีพิเศษเท่านั้นแม่จะใช้วิธีการให้รางวัลแก่เด็กเพื่อสนับสนุนด้านน้ำใจ เช่นได้แก่ การชมเชย หรือการให้สิ่งของเป็นรางวัล ในเรื่องวิธีการให้รางวัลด้วยการชมเชยนี้แม่ส่วนใหญ่เกรงว่าจะทำให้เด็กได้ใจ จึงมักใช้วิธีชมเด็กกับบุคคลอื่น ๆ โดยไม่ให้เด็กรู้โดยตรง ในกรณีที่เด็กไม่เกรงพ่อแม่เท่าที่ควร แม่มักใช้ผู้ใหญ่อื่นเป็นเครื่องมือการลงโทษเด็กทางจิตใจที่ผู้ใหญ่อื่นแสดงนี้ช่วยพ่อแม่ได้ทางอ้อมในการค่อยบังคับให้เด็กรู้จักปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตนให้รู้จักรับผิดชอบมากขึ้น บทที่ 11 การอบรมเด็กในเรื่องความเสงี่ยมตนเกี่ยวกับเพศโดยทั่วไปแล้ว แม่ที่ตำบลนาป่ามีทัศนคติเชิงนิเสธต่อเรื่องเพศ การซักถามเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเพศ สังคมนาป่าถือว่าไม่ใช่เรื่องของเด็กแม่ทุกรายจะไม่ยอมบอกเด็กถึงเรื่องการสืบพันธุ์ เฉพาะอย่างยิ่งจะไม่เปิดโอกาสให้เด็กเล็ก ๆได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศแต่อย่างใดระหว่างพ่อและแม่โดยเด็ดขาดด้วย แม่เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องให้การฝึกฝนอบรมเด็กเสียแต่ยังเล็ก ๆ ในเรื่อง (1) การสอนให้เด็กรู้จักเสงี่ยมตน และ (2)การสอนให้เด็กรู้จักยับยั้งแรงกระตุ้นทางเพศ ซึ่งได้แก่การแสดงออกด้วยการเล่นอวัยวะสืบพันธุ์ของตนเอง และการเล่นเพศกับเด็กอื่น แม่ที่ตำบลนาป่าส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ค่อนข้างอะลุ้มอล่วยเฉพาะแต่การอบรมให้เด็กมีความ สงวนเนื้อตัวโดยรู้จักสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายเท่านั้นส่วนการอบรมสั่งสอนให้เด็กรู้จักยับยั้งแรงกระตุ้นทางเพศ แม่มีความเข้มงวดอย่างมาก แม่มีความคิดเห็นว่าการเล่นเพศเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรมากที่สุดและพยายามเข้มงวดกวดขันในการป้องกันทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เด็กเล่นเพศ แม่มีความมุ่งหวังให้เด็กสามารถควบคุมการประพฤติปฏิบัติทางเพศตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยทารกและเด็กเล็กแล้วอย่างไรก็ดีในการปฏิบัติแม่ยังมีความอะลุ้มอล่วยอยู่มากในเรื่องนี้ ด้วยถือว่าเด็กยังไร้เดียงสา แต่แม่จะทวีความเข้มงวดกวดขันขึ้นเมื่อเด็กพ้นวัยเด็กเล็กแล้วแม้แม่จะตั้งความมุ่งหวังให้เด็กทั้งหญิงชายได้เข้าใจเรื่องเพศ เพื่อรู้จักระมัดระวังความประพฤติของตนแต่มีความโน้มเอียงที่จะตั้งความมุ่งหวังให้เด็กหญิงมีการควบคุมการประพฤติปฏิบัติทางเรื่องนี้มากกว่าเด็กชาย แม่ส่วนใหญ่กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเด็กโดยตรงในเรื่องกระบวนการสืบพันธุ์ แต่ควรให้คำตักเตือนสั่งสอนแก่เด็กเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยทั่วไปไว้บ้างโดยเฉพาะได้แก่ การรักษาชื่อเสียง และความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเด็กผู้หญิงนอกจากนี้แล้วแม่ยังคิดว่าเด็กหญิงควรได้รับการแนะนำเรื่องเพศก่อนเด็กชายทั้งนี้อาจเป็นเพราะแม่สังเกตเห็นความเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็กหญิงซึ่งเร็วกว่าเด็กชายก็เป็นได้ ในด้านวิธีการสำคัญ ๆ ที่แม่ชาวนาป่าใช้ในการฝึกอบรมเด็กให้เกิดความเสงี่ยมตนเกี่ยวกับเพศนั้น ก็ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการใช้คำหรือการกล่าวถึงการกระทำใด ๆที่บ่งถึงเรื่องเพศ การให้ความคิดผิด ๆ แก่เด็กในเรื่องเพศเพื่อให้เด็กเกิดความกังวลและรู้จักยับยั้งพฤติกรรมใด ๆ ทางเพศเสียและการลงโทษทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเฆี่ยนตีและดุว่าแม่จะลงโทษเด็กอย่างหนักที่สุดในกรณีที่เกิดการเล่นเพศกับเด็กอื่นคือ เฆี่ยนตีอย่างรุนแรง ดุด่าตลอดจนทำภาคทัณฑ์ไว้ แต่อย่างไรก็ดีแม่ในกลุ่มตัวอย่างปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าไม่มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับเด็กของตน   บทที่ 12 ทัศนคติของพ่อแม่ต่อการศึกษาและอาชีพที่ตำบลนาป่า พ่อแม่ยกย่องความเป็นผู้รู้อย่างยิ่ง ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาโดยทั่วไปแสดงอย่างชัดเจนว่าพ่อแม่ในตำบลนี้ ให้ความเคารพยกย่องอย่างสูงต่อ โรงเรียน วัด และครู พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและความรู้ในแง่ที่จะเป็นหนทางก้าวไปสู่ผลสำเร็จทางการประกอบอาชีพมากกว่าจะเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการศึกษาในแง่พัฒนาการของเด็กแม่ตั้งความมุ่งหวังให้ลูกทุกคนได้ศึกษาเล่าเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ และเล็งเห็นค่านิยมในการมีอาชีพที่นั่งโต๊ะทำงานเบาหรือการมีอยู่มีกินโดยไม่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด แม่มีทัศนคติไม่ดีต่อการทำงานชนิดที่ต้องออกแรงด้วยมือว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย พ่อแม่ชาวนาป่าคิดว่า ผลสำเร็จทางการศึกษาของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ของพ่อแม่เป็นประการสำคัญแต่ไม่ค่อยพิจารณาถึงความสำคัญขององค์ประกอบอื่น ๆเช่น ความถนัด ความสนใจ สติปัญญา และลักษณะบุคลิกภาพของเด็ก บทที่ 13 ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางประการในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ในบรรดาแม่ชาวนาป่าที่ได้รับการสัมภาษณ์ มีแม่พวกหนึ่งรายงานว่า สิ่งที่ทำให้ตนยุ่งยากใจที่สุดในการอบรมเลี้ยงดูบุตร ก็คือปัญหาในด้านความเอาใจใส่ดูแลเรื่องสุขภาพของเด็ก ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย และแม่อีกพวกหนึ่งรายงานว่าปัญหายุ่งยากใจในการเลี้ยงดูเด็กนี้มีอยู่ทุกระยะและเน้นหนักในความลำบากของการอบรมสั่งสอนเด็ก แม่ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความเห็นสอดคล้องกันว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการเกิดขึ้นในการเลี้ยงดูเด็กสมัยก่อนและสมัยปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆได้แก่ วิธีการนำเอาความรู้ทางด้านการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาใช้กับเด็ก ความสนใจเอาใจใส่ของแม่ที่มีต่อความสะอาดและการแต่งกายของเด็กและการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิธีการอบรม ในด้านวิธีการอบรมเด็กนั้น แม่เห็นพ้องกันว่า พ่อแม่ในปัจจุบันมีความอะลุ้มอล่วยต่อเด็กมากขึ้นกว่าเดิม พ่อแม่ยอมรับฟังความคิดเห็นและพฤติกรรมต่าง ๆจากเด็กมากขึ้น การใช้วิธีการลงโทษทางร่างกายค่อยลดน้อยลง แม่ในกลุ่มตัวอย่างขณะปัจจุบันหวังให้เด็กช่วยตัวเองได้เร็วกว่าสมัยก่อนในเรื่องการกินการอาบน้ำ การแต่งตัว และการไปนอนแต่โดยลำพังขณะเดียวกันแม่เหล่านี้ก็ไม่ได้มุ่งหวังให้เด็กทำสิ่งเหล่านี้ถึงขั้นสมบูรณ์มากเท่ากับแม่สมัยก่อนแต่ตั้งความมุ่งหวังสูงกว่าแม่สมัยก่อนในเรื่องความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของเด็ก จากการสังเกตโดยทั่วไปของแม่ มีลักษณะบุคลิกภาพบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงในเด็กชาวนาป่าขณะปัจจุบัน สิ่งแรกซึ่งเปลี่ยนแปลงคือเด็กในกลุ่มตัวอย่างมีความดื้อดึงมากกว่าตอนสมัยที่แม่เหล่านี้เป็นเด็ก เด็กชาวนาป่ากลัวเกรงพ่อแม่น้อยกว่าเด็กสมัยก่อน การเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคลิกภาพอื่น ๆก็มี เช่น เด็กชาวนาป่าในกลุ่มตัวอย่างมีความเฉลียวฉลาดและไหวพริบมากขึ้น รู้จักรับผิดชอบด้วยตัวเอง รู้จักตัดสินใจทำอะไรได้เองเร็วขึ้นมีความสนใจซักถามเกี่ยวกับเรื่องเพศเร็วขึ้น ตลอดจนมีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในหมู่บ้านได้อย่างรวดเร็ว แม่ทั้งหลายลงความเห็นสอดคล้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นของดีสำหรับเด็ก แม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้สอดคล้องกับกาลสมัยแม้ว่าจะไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงซึ่งทำให้ตนเปลี่ยนแปลงวิธีการอบรมนั้น ๆ บทที่ 14 ผลจากการอบรมเลี้ยงดูที่มีต่อการปรับตัวของเด็กในปีแรกที่เข้าโรงเรียน อาจสรุปได้ว่าเด็กนาป่าในกลุ่มตัวอย่างจัดได้ว่าอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกเป็นไปอย่างรักใคร่และอบอุ่นยิ่ง จึงนับได้ว่าเด็กเหล่านี้ได้รับการตอบสนองความต้องการมูลฐานทั้งหลายเป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งในด้าน "ความอบอุ่น"เนื่องด้วยเหตุนี้ เมื่อเด็กชาวนาป่าย่างเข้าสู่โรงเรียนในปีแรก เด็กจึงก้าวเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ทางโรงเรียนได้ด้วยความมั่นใจและมีความอบอุ่นปลอดภัยทางจิตใจเป็นรากฐาน และจากการอบรมปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ ให้เด็กที่ตำบลนี้ เด็กเรียนรู้จากบ้านตั้งแต่ยังเล็ก ๆว่าพ่อแม่และผู้ใหญ่อื่นมีสิทธิ์ที่จะบังคับพฤติกรรมต่าง ๆ ของตนได้ เด็กได้รับการอบรมให้เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายอยู่ในระเบียบวินัยและมีความเคารพเชื่อฟังต่อผู้ใหญ่ทั้งหลายอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อมาอยู่ที่โรงเรียนแม้จะเป็นปีแรกเข้าเด็กที่นาป่าก็ไม่มีความลำบากแต่อย่างใดในการปรับตัวให้เข้ากับข้อบังคับใหม่ ๆ ของโรงเรียน ตลอดจนความมุ่งหวังต่าง ๆ ของครูที่จะให้ตนได้ประพฤติปฏิบัติโดยเนื้อแท้ ความมุ่งหวังส่วนใหญ่ของพ่อแม่และครูก็สอดคล้องกันอยู่แล้ว กล่าวคือแม้ว่าทางบ้านและโรงเรียนจะมีวิธีการอบรมสั่งสอนเด็กแตกต่างกันบ้างแต่ก็มีจุดหมายปลายทางเหมือนกันทั้งสิ้น นั่นก็คือ ต้องการให้เด็กทุกคนเป็นคนดี และมีความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่คาดหวังได้ว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะได้มีการพัฒนาที่งดงามถูกต้อง สมความมุ่งหวังของสังคมที่ตำบลนี้ในที่สุด