ความสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่ง โรงเรียนบ้านพรานเหมือน จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนอุเม็ง จังหวัดเชียงใหม่รายงานการวิจัยฉบับที่ 8 ผู้วิจัย บุญยิ่ง เจริญยิ่ง ปีที่พิมพ์ 2509 วัตถุประสงค์ สถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก ได้มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการของเด็กในด้านที่เกี่ยวกับอิทธิพลของเพื่อนต่อการเรียนรู้ของเด็กนั้น ผู้ทำการวิจัยค้นคว้ามุ่งจะศึกษาเกี่ยวกับการเลือกเพื่อนและการปฏิเสธเพื่อนของเด็กว่ามีอิทธิพลในการส่งเสริมหรือขัดขวางการเรียนรู้และการปรับตัวของเด็กอย่างไรบ้างเด็กในชั้นประถมปีที่หนึ่งมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกหัวหน้าชั้นของตนอย่างไรบ้าง เด็กสามารถทายใจเพื่อนได้ถูกต้องเพียงไร ว่าใครจะเลือกตนบ้างนอกจากนี้ก็มุ่งจะศึกษาทัศนคติของพ่อแม่ต่อการคบเพื่อนของเด็กว่า จะมีอิทธิพลต่อฐานะทางสังคมมิติของเด็กในโรงเรียนอย่างไรบ้าง วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการค้นคว้า เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่ง 3 ห้องเรียน ของโรงเรียน 2 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 113 คน โรงเรียนแรกคือโรงเรียนบ้านพรานเหมือน จังหวัดอุดรธานี ใช้นักเรียน 1 ห้องเรียน จำนวน 47 คน เป็นชาย 23 คน หญิง 24 คน อายุเฉลี่ยของชั้น 7 ปี 8 เดือน อายุสูงสุดของเด็กคือ 9ปี 5 เดือน และอายุต่ำสุด 6 ปี 10 เดือนโรงเรียนหลัง คือ โรงเรียนอุเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้นักเรียน 2 ห้องเรียน ห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียน 23 คน เป็นชาย 9 คน หญิง14 คน อายุเฉลี่ย 8 ปี 6 เดือน เด็กอายุมากที่สุด 10 ปี 1 เดือน อายุต่ำที่สุด 6 ปี 10 เดือน อีกห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียน 43 คน เป็นชาย 21คน หญิง 22 คน อายุเฉลี่ย 7 ปี 5เดือน เด็กที่อายุมากที่สุดคือ 9 ปี 10 เดือน น้อยที่สุด 5 ปี 8 เดือน นักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 ห้องเรียนนี้ แต่ละห้องได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง กลาง และต่ำวิธีการแบ่งใช้วิธีการเปรียบเทียบผลการเรียนทีละคู่ (Paired Comparison)ผู้ทำการวิจัยได้ขอให้ครูประจำชั้นเปรียบเทียบความสามารถในทางการเรียนของเด็กทีละคู่ว่าใครจะเรียนเก่งกว่ากัน จำนวนคู่ก็จัดขึ้นโดยวิธีจัดคณะตัวสลับ(Combination) เช่น นักเรียนของโรงเรียนบ้านพรานเหมือน 47 คน จำนวนคู่คณะตัวสลับจะมีจำนวน 47C2 เท่ากับ 1,081 คู่โดยไม่ซ้ำกัน เครื่องมือที่ใช้ ก. ข้อทดสอบ "สังคมมิติ" ผู้ทำการวิจัยได้ใช้ข้อทดสอบสังคมมิติซึ่งสถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก คิดขึ้นใช้ทดสอบแก่เด็กชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 มาแล้วรวมทั้งหมดด้วยกัน 7 ข้อ ได้ใช้ทดสอบเด็กที่โรงเรียนบ้านพรานเหมือน เพียง 4 ข้อแรก ส่วนเด็กในโรงเรียนอุเม็งผู้ทดสอบได้ใช้ข้อคำถามทั้งหมด ข. ข้อทดสอบ "ใครเอ่ย ?" ประกอบด้วยข้อคำถาม 33 ข้อ เพื่อให้นักเรียนบอกชื่อเพื่อน ซึ่งมีลักษณะนิสัยตรงตามที่ปรากฏในแต่ละหัวข้อ สรุปผล ผลของการค้นคว้าที่ได้รายงานไว้โดยละเอียดในบทที่ 3 นั้น พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. เกี่ยวกับการเลือกเพื่อนเพื่อเล่นด้วยกันหรือเพื่อนั่งเรียนด้วยกันในชั้น ปรากฏว่าเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงได้รับเลือกจากเพื่อนมากกว่าเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำในทำนองเดียวกันเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงก็เลือกเพื่อนจำนวนมากคนกว่าเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 2. เกี่ยวกับการปฏิเสธที่จะเลือกเพื่อนทั้งในสถานการณ์เล่น และการนั่งเรียนด้วยกันในชั้น ปรากฏว่า แต่ละชั้นในโรงเรียนที่ทำการทดสอบมีแนวโน้มต่างกันอยู่บ้างซึ่งอาจจำแนกออกเป็น 2 พวกคือ พวกหนึ่ง เด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงปฏิเสธที่จะเลือกเพื่อนและถูกเพื่อนปฏิเสธมากกว่าเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำส่วนอีกพวกหนึ่งกลับตรงกันข้ามคือ เด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงปฏิเสธที่จะเลือกเพื่อนและถูกเพื่อนปฏิเสธน้อยกว่าเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 3. เด็กส่วนมากไม่ว่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงหรือต่ำ เลือกเพื่อนมากกว่าปฏิเสธการเลือกเพื่อนซึ่งตรงกับผลของการค้นคว้าของสถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก ซึ่งทำกับเด็กในจังหวัดพระนคร ปี 2501 4. เด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและปานกลาง มักจะเลือกเพื่อนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและปานกลางด้วยกัน ส่วนเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำนั้นมักจะเลือกเพื่อนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลาง ๆ เป็นส่วนมาก 5. ในสถานการณ์ที่ต่างกัน คือ สถานการณ์เล่นและสถานการณ์เรียนปรากฏว่าเด็กส่วนมากจะเลือกเพื่อนต่างคนกันแสดงให้เห็นว่าเด็กรู้จักแยกว่าจะเลือกคนไหนเมื่อต้องการเพื่อนเล่นและเพื่อนนั่งเรียนด้วยกัน 6. ในการทายว่าใครจะเลือกตนบ้าง ปรากฏว่าเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงทายถูกมากกว่าเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติต่ำแสดงว่าเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงมีความไวต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น (social sensitivity) มากกว่าเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติต่ำ 7. ความเห็นของพ่อแม่เกี่ยวกับการมีเพื่อนของเด็ก ปรากฏว่าพ่อแม่ของเด็กที่แม้จะมีฐานะทางสังคมมิติต่างกันก็แสดงความเห็นไม่แตกต่างกันมากนักเกี่ยวกับเรื่องที่อยากให้ลูกของตนมีเพื่อน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเฉลียวฉลาดของเด็กส่วนความเห็นที่ว่าไม่อยากให้ลูกไปเล่นบ้านเพื่อน เพราะเกรงจะเป็นอันตรายนั้นพ่อแม่ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติต่ำแสดงความเห็นเช่นนี้บ่อยครั้งกว่าพ่อแม่ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงอย่างเป็นที่น่าสังเกต 8. ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและฐานะทางสังคมมิติของเด็กปรากฏว่า ส่วนมากไม่สู้จะสูงจนเป็นที่ตั้งข้อสังเกตได้และค่าสหสัมพันธ์นี้ยังแตกต่างกันในระหว่างชั้นต่าง ๆ อีกด้วย 9. ในการเลือกหัวหน้า ปรากฏว่าเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงส่วนมากจะเอ่ยชื่อผู้ที่ตนเห็นสมควรเป็นหัวหน้าตรงกับชื่อผู้ที่ตนคิดว่าครูก็จะเลือกเป็นหัวหน้าด้วยส่วนเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติต่ำนั้น ส่วนมากแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเห็นของตนกับความเห็นของครูในการเลือกหัวหน้าซึ่งมีความสัมพันธ์กับผลการค้นคว้าของสถาบันระหว่างชาติซึ่งได้ทดสอบเด็กในจังหวัดพระนคร ในปี 2501 10. ลักษณะประจำตัวของเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูง สรุปได้จากคำตอบของเด็กในแบบทดสอบ "ใครเอ่ย?" ปรากฏว่า ส่วนมากเป็นผู้แต่งตัวสะอาดเรียบร้อยคล่องแคล่วว่องไว และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดส่วนลักษณะประจำตัวของผู้มีฐานะทางสังคมมิติต่ำนั้นส่วนมากตรงกันข้ามกับลักษณะประจำตัวของเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงนอกจากนั้นยังมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ ชอบเดินไปมารอบ ๆ ห้อง เรียนไม่เก่ง และไม่ชอบเข้าหาครู 11. เมื่อดูจากการเลือกของเด็กที่มีฐานะทางสังคมต่างกันแล้วจะเห็นว่า ทั้งเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงและต่ำมักจะเลือกเพื่อนที่มีลักษณะไม่ขี้อาย เป็นคนสวยไม่โกรธง่าย มีเพื่อนฝูงมากมายและนั่งเรียบร้อยในที่ของตน 12. ลักษณะประจำตัวของเด็กที่เพื่อน ๆ เห็นว่าจะเป็นหัวหน้าชั้นได้ดี ก็คล้ายคลึงกันกับลักษณะประจำตัวของเด็กที่มีฐานะทางสังคมมิติสูงเป็นส่วนมาก กล่าวคือเป็นคนชอบนั่งเรียบร้อยในที่ของตน เป็นคนสวย เรียนหนังสือเก่ง ชอบช่วยครูทำงาน