ความกลัวของเด็กไทยรายงานการวิจัยฉบับที่ 6 ผู้วิจัย สมพร บัวทอง อำไพ อินฟ้าแสง ปีที่พิมพ์ 2509 วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการวิจัยเรื่องความกลัวของเด็กนี้ ก็เพื่อจะช่วยให้บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กในวัยเริ่มเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะเกี่ยวกับความกลัว ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนและส่งเสริมให้เด็กมีความเจริญงอกงามด้วยความเหมาะสม อันที่จริงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องความกลัวของเด็กนี้มีอยู่มากในปัจจุบันแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ประเทศอื่นวิจัยค้นคว้าเอาไว้ จึงไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับเด็กไทย ฉะนั้นการวิจัยเรื่องนี้จึงน่าจะมีประโยชน์มากเพราะได้กระทำกับเด็กไทย และกำหนดจุดมุ่งหมายย่อยของการค้นคว้าไว้กว้างพอสมควร ดังต่อไปนี้ 1. เพื่อศึกษาสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กในวัยเริ่มเข้าเรียนกลัวในเวลาและสถานที่ต่าง ๆ กัน 2. เพื่อศึกษาวิจัยแหล่งกำเนิดของความกลัวสิ่งเหล่านั้น 3. เพื่อศึกษาดูกลวิธีของการตอบสนองความกลัวรวมทั้งแหล่งที่เด็กเรียนรู้ วิธีดำเนินการวิจัย ก. กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเรื่องความกลัว เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1ในโรงเรียนในหมู่บ้านสามแห่งที่สถาบันเลือกไว้เพื่อใช้ดำเนินงานตามโครงการวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการของเด็กดังปรากฏเป็นจำนวนนักเรียนชายและหญิงในหมู่บ้านแต่ละแห่งข้างล่างนี้ 1. นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนวัดท้องคุ้ง (ไพโรจน์ประชาสรรค์) ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดดชลบุรี จำนวน 27 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 14 คน 2. นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนบ้านพรานเหมือน ตำบลบ้านขาว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 45 คน ชาย 21 คน หญิง 24 คน 3. นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนวัดอุเม็ง (คำวรรณราษฎร์วิทยาทาน) ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 63 คน ชาย 31 คน หญิง 32 คน รวมเป็นนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 135 คน เป็นชาย 65 คน หญิง 70 คน นักเรียนเหล่านี้มีอายุระหว่าง 7 - 8 ปี ข. การรวบรวมข้อมูล วิธีรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยเรื่องความกลัวนี้ ใช้วิธีสัมภาษณ์โดยตลอดในขั้นแรกผู้สัมภาษณ์พยายามทำความคุ้นเคยกับเด็กเสียก่อนแล้วจึงลงมือสอบถามตามหัวข้อคำถามที่กำหนดไว้ ในการจดบันทึกคำตอบของนักเรียนผู้สัมภาษณ์พยายามจดทุกถ้อยคำที่นักเรียนพูดเมื่อใดที่เด็กแสดงอาการไม่สนใจ ผู้สัมภาษณ์จะหยุดสัมภาษณ์ทันที แล้วสร้างความสนใจด้วยวิธีการต่าง ๆหรืออาจปล่อยให้เด็กพักเสียก่อน แล้วจึงลงมือสัมภาษณ์ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเชื่อมั่นได้มากที่สุด ค. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ได้แสดงเปรียบเทียบจำนวนคำตอบและอัตราส่วนร้อยของจำนวนคำตอบของเด็กชายและเด็กหญิงในหมู่บ้านทั้งสามแห่ง เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆซึ่งเป็นเป้าหมายของการวิจัยดังต่อไปนี้ 1. สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กกลัวในเวลากลางวัน ก. ขณะอยู่ที่บ้าน ข. ขณะอยู่ที่โรงเรียน ค. ขณะอยู่ที่อื่น ๆ นอกบ้านนอกโรงเรียน 2. สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กกลัวในเวลากลางคืน 3. สิ่งที่เด็กกลัวมากที่สุดในโลก 4. แหล่งกำเนิดของความกลัว 5. กลวิธีการตอบสนองความกลัวและแหล่งที่เด็กเรียนรู้กลวิธีเหล่านั้น ในการเสนอผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ นอกจากจะได้เสนอเป็นเชิงเปรียบเทียบความกลัวของเด็กในหมู่บ้านทั้งสามแห่งซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้แล้วยังได้พิจารณาเปรียบเทียบคำตอบของเด็กในหมู่บ้านทั้งสามแห่งนี้ กับคำตอบของเด็กในโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งม.จ.หญิงประภาพันธ์ ภานุพันธ์ ได้ค้นคว้าวิจัยไว้อีกด้วยทั้งนี้เพื่อพิจารณาดูว่าเด็กในชนบทและในพระนครมีความแตกต่างกันหรือไม่เพียงใดในเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับความกลัวแม้ว่าเด็กสองพวกนี้จะเรียนอยู่ในชั้นต่างกัน กล่าวคือเด็กในหมู่บ้านชนบททั้งสามแห่งเรียนอยู่ในชั้นประถมปีที่ 1 แต่เด็กในโรงเรียนประถมสาธิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร เรียนอยู่ในชั้นประถมปีที่ 2 ผลการเปรียบเทียบควรแก่การพิจารณาศึกษาทั้งนี้เพราะเด็กเหล่านี้ทั้งหมดมีอายุไล่เลี่ยกันคืออยู่ในระหว่าง 7 - 8 ปี สรุปผล ผลการวิจัยทั้งหมดมีสาระสำคัญดังนี้ ก. สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กกลัว สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กในหมู่บ้านชนบททั้ง 3 แห่งกลัว พบว่าอาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภทคือ สัตว์ สถานการณ์น่ากลัว สิ่งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ สัตว์ต่าง ๆ ที่เด็กเอ่ยถึงนั้นมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์เล็ก คือ มด ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ ๆ อาทิเช่น เสือและช้าง เป็นต้นสถานการณ์น่ากลัวในที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่คุกคามความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเด็ก ส่วนสิ่งที่เป็นธรรมชาติได้แก่ ความร้อน ความหนาวฟ้าแลบ ฟ้าผ่า เป็นต้น และสิ่งนอกเหนือธรรมชาติได้แก่ ผี ยักษ์ หรือสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆความกลัวของเด็กในสิ่งที่กล่าวมานี้แตกต่างกันไปตามเวลาและสถานที่ดังนี้ 1. ความกลัวขณะอยู่ที่บ้านในเวลากลางวัน โดยทั่วไปแล้ว ขณะอยู่ที่บ้านในเวลากลางวัน เด็กในหมู่บ้านชนบททั้งสามแห่งกลัวสัตว์กันเป็นส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในหมู่บ้านนาป่าและพรานเหมือนกลัวสัตว์กันมากที่สุด สัตว์ที่เด็กนาป่ากลัวกันมากที่สุดได้แก่สุนัขบ้าสันนิษฐานว่าในหมู่บ้านนี้คงมีสุนัขบ้าอยู่บ่อย ๆ เพราะเด็กรู้จักและเอ่ยถึงกันแทบทุกคน ส่วนเด็กในหมู่บ้านพรานเหมือนกลัวเสือมากที่สุด 2. ความกลัวขณะอยู่ที่โรงเรียน สิ่งที่เด็กกลัวมากที่สุดขณะอยู่ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กในหมู่บ้านชนบทหรือเด็กในโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งเป็นเด็กในพระนคร ได้แก่ ครู ความกลัวครูในที่นี้ ส่วนมากเป็นความกลัวในเรื่องการถูกลงโทษมากกว่าเรื่องอื่น การที่เด็กกลัวครูลงโทษกันมากนี้สันนิษฐานว่าเนื่องมาจากเหตุ 2 ประการ คือ เด็กได้รับการปลูกฝังให้มีความเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กเป็นแบบเป็นแผน (formalrelationship) มากเกินไป 3. สิ่งที่เด็กกลัวในเวลากลางวันขณะอยู่นอกบ้านนอกโรงเรียน สิ่งที่เด็กในหมู่บ้านชนบททั้งสามแห่งกลัวมากที่สุดขณะอยู่นอกบ้านนอกโรงเรียนได้แก่สัตว์ชนิดต่าง ๆ สัตว์ที่เด็กในหมู่บ้านนาป่ากลัวกันมากได้แก่ งู ส่วนเด็กในหมู่บ้านพรานเหมือนและอุเม็งกลัวมากคือ เสือ 4. สิ่งที่เด็กกลัวในเวลากลางคืน เกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกลัวในเวลากลางคืนนี้ พบว่าเด็กในหมู่บ้านนาป่า อุเม็ง และเด็กในโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กลัวผีกันมากที่สุด ส่วนเด็กในหมู่บ้านพรานเหมือนกลัวเสือมากกว่าผี จะเห็นได้ว่า สำหรับเด็กในหมู่บ้านพรานเหมือนนี้กลัวเสือรุนแรงมากในทุกเวลาและสถานที่ ยกเว้นขณะอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้เด็กในหมู่บ้านพรานเหมือนส่วนมากจะตอบว่ากลัวเสือมากที่สุดในเวลากลางคืน แต่ก็มีอยู่เกือบครึ่งที่ตอบว่ากลัวผีมากที่สุด ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วสรุปได้ว่าสิ่งที่เด็กกลัวมากที่สุดในเวลากลางคืนคือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชนบทหรือเด็กในพระนคร ได้แก่ผี 5. สิ่งที่เด็กกลัวมากที่สุดในโลก เกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกลัวมากที่สุดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในหมู่บ้านชนบทหรือเด็กในพระนคร ปรากฏว่ากลัวผีอีกเช่นกัน ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยโดยทั่ว ๆ ไป ยังมีความเชื่อมั่นในเรื่องภูตผีปีศาจรุนแรงมากและคงจะได้ถ่ายทอดความเชื่อมั่นนี้มายังบุตรหลานของตนอยู่เสมอทั้งในการบอกเล่า การอบรมสั่งสอนและการให้เด็กมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีสางต่าง ๆ เด็กจึงมีความรู้สึกกลัวผีกันรุนแรงมากดังที่พบนี้ ข. แหล่งกำเนิดของความกลัว พบว่าเรียนรู้จักความกลัวมาจากแหล่งสำคัญ ๆ 3 แหล่งด้วยกันคือ ประสบการณ์ของตนเองโดยตรงคำบอกเล่าของบิดามารดาและคนอื่น ๆ และจินตนาการของตนเอง ไม่มีคำตอบของเด็กคนใดที่แสดงว่า หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์หรือสื่อมวลชนชนิดต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อความกลัวของตนเลย ทั้งนี้ผิดกับเด็กในโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตรซึ่งเรียนรู้ความกลัวในสิ่งต่าง ๆ จากสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงนี้แสดงว่า เด็กในหมู่บ้านชนบททั้งสามแหล่งยังห่างไกลจากสื่อมวลชนชนิดต่าง ๆมากทั้งที่หมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ในบรรดาแหล่งที่เด็กเรียนรู้จักความกลัวในสิ่งต่าง ๆ 3 แหล่งนั้น คำตอบของเด็กแสดงว่า คำบอกเล่าของบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่เป็นแหล่งสำคัญที่สุดกล่าวคือเด็กส่วนใหญ่เรียนรู้จักความกลัวสิ่งต่าง ๆ จากบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของตนเองมากที่สุด วิธีตอบสนองความกลัวของเด็กในหมู่บ้านทั้งสามแห่งที่น่าสนใจมากวิธีหนึ่งคือ วิธีหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัว อันที่จริงตามนัยที่แท้แล้ว วิธีหลีกเลี่ยงนี้ก็คือวิธีหนีนั่นเองแต่เป็นการหนีที่ฉลาด เมื่อสอบถามต่อไปถึงแหล่งที่เด็กเรียนรู้วิธีตอบสนองความกลัวต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ พบว่าเด็กเรียนรู้จากบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่มากที่สุดรองลงไปคือการคิดนึกเอาเอง และท้ายสุดจากประสบการณ์ของตนเอง