เสกสรรค์ ทองบรรจง. (2545), การศึกษาโครงสร้างทางจริยธรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรีตามแนว พุทธศาสนา : การสร้างมโนทัศน์พื้นฐาน การวัดความเปลี่ยนแปลง และรูปแบบเชิงสาเหตุของ การเปลี่ยนแปลง. ปริญญานิพนธ์ วท.ด. (การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์). กรุงเทพฯ : บัณฑิต วิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. คณะกรรมการควบคุม : รองศาสตราจารย์ ดร. ผจงจิต อินทสุวรรณ, อาจารย์ ดร. นิยะดา จิตต์จรัส, รองศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความเที่ยงตรงของโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี 2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี 3) เปรียบเทียบลักษณะของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อจำแนกตามตัวแปรจัดกลุ่มต่างๆ และ 4) ศึกษารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,449 คน จากประชากรที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเอกชนในปีการศึกษา 2544 จำนวน 191,213 คน สำหรับตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย ตัวแปรแฝงจำนวน 7 ตัว ซึ่งวัดจากตัวแปรสังเกตได้จำนวน 24 ตัวแปร ได้แก่ ตัวแปรแฝงด้านปัญญา (สัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ) ตัวแปรแฝงด้านศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ) และตัวแปรแฝงด้านสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ) ตัวแปรแฝงด้านการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ตามแนวพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา) ตัวแปรแฝงด้านความเป็นกัลยาณมิตรของครูผู้สอน (ความน่ารัก ความหนักแน่น ความน่าเจริญใจ การพูดอย่างมีเหตุผล ความอดทน ต่อถ้อยคำของศิษย์ การสอนได้ลึกซึ้ง และการไม่ชักนำไปในทางเสื่อม) และตัวแปรแฝงด้านความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อน (ลักษณะของเพื่อนที่ดีและลักษณะของเพื่อนที่ไม่ดี) ตัวแปรแฝงด้านอิสรภาพ (อิสรภาพในความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับธรรมชาติแวดล้อม อิสรภาพในความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับเพื่อนมนุษย์ และอิสรภาพภายในแห่งชีวิตของตน) และตัวแปรจัดกลุ่มโปรไฟล์ ได้แก่ ชั้นปีที่ศึกษา การเป็นสมาชิกของชมรมทางศาสนา สายวิชาที่เรียน และเพศ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยแบบวัดที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน 12 ฉบับ ซึ่งมีพิสัยค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ 0.7353 - 0.9663 และข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวมรวมแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง และการวิเคราะห์โปรไฟล์ ผลการวิจัยพบว่า 1. โมเดลโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นอย่างดี โดยที่ผลกระทบของตัวแปรต่างๆ ภายในสมการโครงสร้างภายในโมเดล มีลักษณะดังนี้ สมการโครงสร้างที่ 1 ตัวแปรแฝงด้านปัญญาได้รับผลกระทบจากความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อนสูงที่สุด รองลงมาคือการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่และความเป็นกัลยาณมิตรของครูตามลำดับ โดยตัวแปรแฝงภายนอกทั้งสามตัวสามารถอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรแฝงด้านปัญญาได้ร้อยละ 25 สมการโครงสร้างที่ 2 ตัวแปรแฝงด้านศีลได้รับผลกระทบจากปัญญาสูงที่สุด รองลงมาคือ ความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อน การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และความเป็นกัลยาณมิตรของครูตามลำดับ โดยตัวแปรแฝงทั้งหมดสามารถอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรแฝงด้านศีลได้ร้อยละ 96.30 สมการโครงสร้างที่ 3 ตัวแปรแฝงด้านสมาธิได้รับผลกระทบจากศีลมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ตัวแปรแฝงด้านปัญญา ความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อน การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และความเป็นกัลยาณมิตรของครูผู้สอนตามลำดับ โดยที่ตัวแปรแฝงทั้งหมดสามารถอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรแฝงด้านสมาธิได้ร้อยละ 91.80 สมการโครงสร้างที่ 4 ตัวแปรแฝงด้านอิสรภาพได้รับผลกระทบจากสมาธิสูงที่สุด รองลงมาเป็นด้านศีล ด้านปัญญา ด้านความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อน การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และความเป็นกัลยาณมิตรของครู โดยตัวแปรแฝงทั้งหมดสามารถอธิบายความแปรปรวนของอิสรภาพได้ร้อยละ 48.70 ผลการประเมินความสอดคล้องของโมเดลการวัด พบว่า พิสัยของค่าความเชื่อมั่นของตัวแปรแฝงเท่ากับ 0.437 - 0.909 โดยมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานอยู่ระหว่าง 0.321 - 0.869 และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ทุกค่า ส่วนค่าความแปรปรวนที่สกัดได้ของตัวแปรแฝงมีค่าตั้งแต่ร้อยละ 21.30 - 59.90 เมื่อเรียงลำดับคุณภาพของโมเดลการวัดตามค่าความเชื่อมั่นของตัวแปรแฝงพบว่า โมเดลการวัดตัวแปรแฝงที่มีความเชื่อมั่นสูงที่สุดคือ ความเป็นกัลยาณมิตรของครู รองลงมาคือการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิสรภาพ ศีล ปัญญา ความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อน และสมาธิ ตามลำดับ 2. อิสรภาพทั้งสามด้านของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 4 ไม่แตกต่างกัน โดยที่อิสรภาพภายในและอิสรภาพต่อธรรมชาติอยู่ในระดับที่สูงกว่าอิสรภาพต่อเพื่อนมนุษย์เหมือนกันทั้งสองชั้นปี ส่วนโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาพบว่า ในกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีองค์ประกอบย่อยของโครงสร้างทางจริยธรรมโดยส่วนใหญ่สูงกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีระดับของสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิสูงกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 4 ส่วนด้านสัมมา วายามะนั้น นักศึกษาทั้งสองชั้นปีมีระดับค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน 3. ผลการเปรียบเทียบลักษณะของเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อจำแนกตามตัวแปรจัดกลุ่มต่างๆ พบว่า 3.1 นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์มีอิสรภาพภายในสูงกว่านักศึกษาสายสังคมศาสตร์ แต่มีอิสรภาพต่อธรรมชาติต่ำกว่านักศึกษาสายสังคมศาสตร์ โดยที่กลุ่มนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์มีอิสรภาพต่อเพื่อนมนุษย์อยู่น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอิสรภาพต่อธรรมชาติและอิสรภาพภายใน นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษาสายวิทยาศาสตร์มีระดับของสัมมาวาจา สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ สูงกว่านักศึกษาสายสังคมศาสตร์ ส่วนนักศึกษาสายสังคมศาสตร์มีค่าเฉลี่ยของสัมมากัมมันตะและสัมมาทิฐิสูงกว่านักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาทั้งสองสายวิชามีระดับของสัมมาสังกัปปะ สัมมาอาชีวะ และสัมมาวายามะไม่แตกต่างกัน 3.2 นักศึกษาที่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีระดับของอิสรภาพทั้งสามด้านต่ำกว่านักศึกษาที่ยังคงเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา และเมื่อเปรียบเทียบอิสรภาพแยกเป็นรายด้าน พบว่านักศึกษาที่เป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีอิสรภาพภายในสูงกว่ากลุ่มนักศึกษาที่ไม่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา ในขณะที่นักศึกษาที่ไม่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีอิสรภาพต่อเพื่อนมนุษย์สูงกว่ากลุ่มที่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา และนักศึกษาที่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีอิสรภาพต่อธรรมชาติต่ำกว่านักศึกษาทั้งสองกลุ่ม ซึ่งในภาพรวมแล้วพบว่านักศึกษาทั้งสามกลุ่มมีอิสรภาพภายในและอิสรภาพต่อธรรมชาติโดยเฉลี่ยสูงกว่าอิสรภาพต่อเพื่อนมนุษย์ สำหรับโครงสร้างทางจริยธรรมของนักศึกษาทั้งสามกลุ่ม พบว่านักศึกษาที่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีระดับโครงสร้างทางจริยธรรมโดยเฉลี่ยทั้ง 8 องค์ประกอบต่ำกว่านักศึกษาที่ยังคงเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา โดยที่นักศึกษาที่เป็นสมาชิกชมรมทางศาสนามีสัมมาทิฐิ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะสูงกว่านักศึกษาที่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา และมีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมาสติสูงกว่านักศึกษาที่ไม่เคยเป็นสมาชิกชมรมทางศาสนา 3.3 นักศึกษาเพศหญิงมีค่าเฉลี่ยของอิสรภาพทั้งสามตัวแปรสูงกว่านักศึกษาเพศชาย โดยที่ทั้งนักศึกษาชายและหญิงมีอิสรภาพภายในและอิสรภาพต่อธรรมชาติสูงกว่าอิสรภาพต่อเพื่อนมนุษย์ สำหรับโครงสร้างทางจริยธรรมทั้ง 8 องค์ประกอบนั้น พบว่านักศึกษาหญิงมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ และสัมมาสมาธิสูงกว่านักศึกษาชาย ส่วนนักศึกษาชายมีระดับค่าเฉลี่ยของตัวแปรสัมมาสติสูงกว่านักศึกษาหญิง ในขณะที่นักศึกษาชายและหญิงมีสัมมาวาจาไม่แตกต่างกัน 4. ผลการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของผลกระทบของตัวแปรแฝงภายในโมเดลโครงสร้างทางจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนาพบว่า ความเป็นกัลยาณมิตรของเพื่อนมีผลกระทบต่อปัญญา ศีล สมาธิ และอิสรภาพเพิ่มสูงขึ้น และในทางตรงกันข้ามความเป็นกัลยาณมิตรของครูกลับมีผลกระทบต่อปัญญา และศีล ลดลงแต่มีผลกระทบต่อสมาธิและอิสรภาพเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้นมีผลกระทบต่อปัญญา ศีล สมาธิ และอิสรภาพลดลงทั้งหมด ส่วนปัญญามีผลกระทบต่อศีล สมาธิ และอิสรภาพเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ศีลกลับมีผลกระทบต่อสมาธิลดลงแต่มีผลกระทบต่ออิสรภาพสูงขึ้น และท้ายที่สุดคือสมาธิซึ่งพบว่ามีผลกระทบต่ออิสรภาพเพิ่มขึ้น