บุญมี เด็ดอนันต์กุล. 2539. ผลของการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยต่อการเปลี่ยนเจตคติต่อ ประชาธิปไตย. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์) สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ . การวิจัยเรื่อง "ผลของการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยต่อการเปลี่ยนเจตคติต่อประชาธิปไตยของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2" มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การศึกษาผลของการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต ต่อการเปลี่ยนเจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต และเปรียบเทียบผลของการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตต่อ การเปลี่ยนเจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต ระหว่างกลุ่มที่สมัครใจกับกลุ่มที่ไม่สมัครใจเข้ารับการฝึกพฤติกรรม ประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต รูปแบบการวิจัยเป็นการทดลองใช้พฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต ในการเรียนการสอนวิชา สังคมศึกษา รายวิชาเศรษฐศาสตร์ครอบครัว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยสุ่มด้วยการจับสลากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตที่สมัครใจและไม่สมัครใจฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต อย่างละ 30 คน รวม 60 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างที่นำมาทดลองเป็นจำนวน 20 ครั้ง การทดลอง แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต (กลุ่มทดลอง) จำนวน 30 คน และกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต (กลุ่มควบคุม) จำนวน 30 คน การสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกระทำโดย ให้นักเรียนที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อประชาธิปไตยและสมัครใจที่จะ ฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต จับสลากเข้ากลุ่มทดลองเป็น จำนวน 15 คน และกลุ่มควบคุมเป็นจำนวน 15 คน ทำเช่นเดียวกันนี้กับนักเรียนที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อประชาธิปไตยและไม่สมัครใจที่จะฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต ในการทดลอง กลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการเรียนการสอนตามปรกติ การวัดตัวแปร กระทำด้วยการให้ทำแบบทดสอบเจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตและให้ตอบแบบ สอบถามความสมัครใจฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตซึ่งเป็นการวัดตัวแปรเพื่อจัดกลุ่ม หลังจากดำเนินการทดลอง และจะทำการวัดตัวแปรตาม คือ เจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตอีกครั้ง จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลตามสมมุติฐาน โดยใช้สถิติ ที (t-test) ผลการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตมีคะแนนเจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตสูงกว่า นักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. นักเรียนที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตโดยสมัครใจมีคะแนนเจตคติต่อประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิต สูงกว่านักเรียนกลุ่มที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตโดยไม่สมัครใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 ผลจากการวิจัยนี้ทำให้สามารถทราบแนวทางและวิธีการฝึกพฤติกรรมที่มีผลต่อการเปลี่ยนเจตคติต่อ ประชาธิปไตยด้านวิถีชีวิตของเยาวชน และทราบแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาบุคคลในเรื่องประชาธิปไตย ด้านวิถีชีวิตอย่างได้ผลดี นอกจากนี้ วิธีการและรูปแบบการฝึกพฤติกรรมสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการค้นคว้าวิจัย เพื่อเปลี่ยนเจตคติในเรื่องอื่นๆ ได้อีกด้วย