วิสุทธิ์ อริยภิญโญ. 2539. ตัวแปรทางจิต และสถานการณ์ในการขับขี่ที่เกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. ในการวิจัยเรื่อง "ตัวแปรทางจิต และสถานการณ์ในการขับขี่ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับขี่อย่าง ปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานคร" ผู้วิจัยมีจุดประสงค์ 3 ประการคือ 1. เพื่อศึกษาว่า ตัวแปรอิสระซึ่งประกอบด้วย ตัวแปรลักษณะทางจิต ตัวแปรสถานการณ์ในการขับขี่ และตัวแปรลักษณะทางชีวสังคม และภูมิหลัง มีความสัมพันธ์กับ พฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยหรือไม่ และมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางใด 2. เพื่อหาตัวพยากรณ์ที่ดีในการทำนายพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย 3. เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย ในกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีลักษณะทางจิตสถานการณ์ ในการขับขี่ และลักษณะทางชีวสังคม ภูมิหลัง แตกต่างกัน ในการดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นผู้ที่ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นประจำ (อย่างน้อย 1 ปี) จำนวน 601 คน ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ในส่วนของตัวแปรอิสระ ประกอบตัวแปร 3 ด้านคือ 1) ด้านลักษณะทางจิต ได้แก่ ความเชื่ออำนาจภายในตน ทัศนคติต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย และบุคลิกภาพชนิดเอ 2) ด้านสถานการณ์ ในการขับขี่ ได้แก่ ความติดขัดของสภาพการจราจร และสภาพของถนน และ 3) ด้านลักษณะทางชีวสังคม และภูมิหลัง ของผู้ขับขี่ ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ได้ขับรถมา และความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ที่ปลอดภัย สำหรับตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย ประกอบด้วย ความระมัดระวังในการขับขี่ และมารยาทหรือนิสัยที่ดีในการขับขี่ เครื่องมือที่ใช้ ในกรเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบมาตรประเมินค่า สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าสหสัมพันธ์ของเปียร์สัน การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ 3 ทาง จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า 1. ความเชื่ออำนาจภายในตน ทัศนคติต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย อายุ ระยะเวลาที่ได้รับรถมา ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ที่ปลอดภัย และสภาพของถนน มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย บุคลิกภาพชนิดเอ และระดับการศึกษา มีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย สำหรับเพศ และความติดขัดของสภาพการจราจร ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย 2. ตัวแปรลักษณะทางจิต ตัวแปรลักษณะทางชีวสังคม และภูมิหลัง และตัวแปรสถานการณ์ ในการขับขี่ (ทั้ง 10 ตัวแปร) สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยได้ 49.1 % โดยตัวแปรที่สามารถทำนายพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยได้คือ ทัศนคติต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย อายุ บุคลิกภาพ ชนิดเอ ระยะเวลาที่ได้ขับรถมา ระดับการศึกษา และสภาพของถนนและตัวทำนายที่ดีที่สุดคือ ทัศนคติต่อ พฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย 3. ไม่ว่าผู้ขับขี่จะมีความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ที่ปลอดภัยมากหรือน้อย และได้รับความคล่องตัวจากสภาพการจราจร มากหรือน้อย หรือมีสภาพของถนนที่ใช้อำนวยความสะดวกให้มากหรือน้อย ผู้ที่มีทัศนคติที่ดีมากต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่าง ปลอดภัย จะมีพฤติกรรมการขับขี่ด้านความระมัดระวังมากกว่าผู้ที่มีทัศนคติที่ดีน้อยต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย 4. ผู้ขับขี่ที่มีอายุมาก จะมีพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยมากกว่า ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อ อำนาจภายในตนสูงหรือต่ำ สำหรับในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจภายในตนสูง จะมีพฤติกรรมการขับขี่อย่าง ปลอดภัยมากกว่า ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจภายในตนต่ำ 5. ในกลุ่มผู้ที่ขับขี่มีสภาพของถนนที่ใช้อำนวยความสะดวกให้มาก ผู้ที่มีการศึกษาระดับประถม-มัธยมต้น จะมีพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยมากกว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและในด้านของกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีการ ศึกษาระดับมัธยมปลาย-อนุปริญญา ผู้ที่มีสภาพของถนนที่ใช้อำนวยความสะดวกให้มาก จะมีพฤติกรรมการขับขี่อย่าง ปลอดภัยมากกว่า ผู้ที่มีสภาพของถนนที่ใช้อำนวยความสะดวกให้น้อย 6. ผู้ขับขี่ที่มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย จะมีพฤติกรรมการขับขี่ด้านความระมัดระวังมากกว่า ผู้ขับขี่ที่ทัศนคติที่ดีน้อยต่อพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความคล่องตัวจากสภาพการจราจรมากหรือน้อย 7. ในกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีความเชื่ออำนาจภายในตนต่ำ หากเป็นผู้ที่มีระยะเวลาที่ได้ขับรถมามาก จะมีพฤติกรรมการ ขับขี่ด้านความระมัดระวังมากกว่า ผู้ที่มีระยะเวลาที่ได้ขับรถมาน้อย อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ที่ขับขี่ที่มีระยะเวลาที่ได้ขับรถมาน้อย หากเป็นผู้ที่มีความเชื่ออำนาจภายในตนสูง ก็จะมีพฤติกรรมการขับขี่ด้านความระมัดระวังมากกว่า ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจ ภายในตนต่ำ 8. ผู้ขับขี่ที่มีบุคลิกภาพชนิดเอต่ำ จะมีพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยมากกว่า ผู้ขับขี่ที่มีบุคลิกภาพชนิดเอสูง | SWU | | BSRI | .