สุชาดา ปภาพจน์. 2539. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. จุดมุ่งหมาย ของการวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร" คือ 1. เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ 2. เพื่อศึกษาอำนาจในการทำนายความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ของปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยสภาพแวดล้อม และเปรียบเทียบอำนาจในการทำนายจากปัจจัยดังกล่าว 3. เพื่อหาชุดการทำนายที่ดีที่สุดในการทำนายความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ ตัวแปรที่ศึกษา ตัวแปรตามคือความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ ตัวแปรอิสระ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ด้านชีวสังคม ด้านสมรรถภาพทางการวิจัย ประกอบด้วยด้านจิตอารมณ์ แบ่งเป็น ทัศนคติเชิงวิทยาศาสตร์ ความเชื่ออำนาจในตน-นอกตน และบุคคลิกภาพแบบ A และอีกด้านหนึ่งคือความรู้ความสามารถด้านแรงจูงใจ ประกอบด้วย แรงจูงใจภายในและแรงจูงใจภายนอก ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ บรรยากาศแบบเปิด กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้เป็นอาจารย์ประจำ (สาย ก.) ใน 11 คณะ จำนวน 200 คน ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปีการศึกษา 2538 ที่พ้นระยะการทดลองปฏิบัติราชการ โดยไม่รวมอาจารย์ โรงเรียนสาธิต สุ่มมาจากประชากรทั้งหมดจำนวน 795 คน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation) การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance) ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีดังนี้ ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางบวก คือ วุฒิทางการศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการ ระยะเวลาในการทำวิจัย การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ บุคลิกภาพแบบ A สมรรถภาพทางการวิจัยด้านความรู้ความสามารถ แรงจูงใจภายใน ด้านความสำเร็จในงานวิจัย ด้านความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน และด้านการได้รับการยอมรับนับถือ และปัจจัยลักษณะ ส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางลบ คือ อายุราชการ ส่วนปัจจัยสภาพแวดล้อมบรรยากาศแบบเปิดไม่พบความสัมพันธ์ที่มี นัยสำคัญทางสถิติ 2. ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม รวมกันสามารถทำนายความสามารถในการ ผลิตผลงาน งานวิจัยของอาจารย์ได้โดยมีค่าอำนาจในการทำนาย 24% และเมื่อแยกพิจารณาทีละปัจจัยพบว่า ปัจจัย ลักษณะส่วนบุคคล มีอำนาจในการทำนายสูงกว่า ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม โดยปัจจัยที่มีอำนาจในการทำนายสูงสุดคือ แรงจูงใจภายในและ ด้านชีวสังคม ตามลำดับ โดยมีค่าอำนาจในการทำนายประมาณ 15% 3. ชุดของตัวทำนายที่ดีที่สุดในการทำนายความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ประกอบด้วยตัวแปรแรงจูงใจภายในด้านการได้รับการยอมรับนับถือ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ และอายุราชการ ซึ่งตัวแปรทั้งสามนี้ร่วมกันทำนายความสามารถในการ ผลิตผลงานวิจัยได้ 20.2 % โดยพบว่า ค่าน้ำหนักสัมประสิทธิ์เบต้าของตัวแปร 2 ตัวแรกเป็นบวก ส่วนอายุราชการเป็นลบ 4. อาจารย์ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ มีสมรรถภาพทางการวิจัยด้านความรู้ความสามารถ มีแรงจูงใจภายใน ด้านความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน และมีแรงจูงใจภายในด้านการได้รับการยอมรับนับถือที่แตกต่างกัน มีความสามารถ ในการผลิตผลงานวิจัยแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นั่นคืออาจารย์ที่มีคะแนนสูงในตัวแปรการมีส่วนร่วม ในกิจกรรมทางวิชาการ สมรรถภาพทางการวิจัยด้านความรู้ ความสามารถ แรงจูงใจภายในด้านความก้าวหน้าใน ตำแหน่งการงาน และด้านการได้รับการยอมรับนับถือมีความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยสูงกว่า อาจารย์ที่มีคะแนน ต่ำในตัวแปรที่ได้กล่าวข้างต้น 5. พบปฏิสัมพันธ์ระหว่างอายุราชการกับตำแหน่งทางวิชาการ กับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 เมื่อเปรียบเทียบรายคู่พบว่า รองศาสตราจารย์อายุราชการต่ำมีความสามารถในการผลิตผลงาน วิจัยสูงที่สุด รองลงมาคือ ศาสตราจารย์อายุราชการปานกลางและอาจารย์อายุราชการสูงกับผู้ช่วยศาสตราจารย์อายุราชการสูง มีความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยต่ำที่สุด 6. อาจารย์ที่มีเพศ และอายุราชการต่างกัน มีความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยไม่แตกต่างกัน และไม่พบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศและอายุราชการกับความสามารถในการผลิตผลงานวิจัยของอาจารย์ ด้วยระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 | SWU | | BSRI |