สุรภรณ์ อ้นสวน. 2539. การสังเคราะห์ผลการวิจัยที่เกี่ยวกับเหตุผลเชิงจริยธรรม โดยวิธีการ วิเคราะห์เมตา. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ การศึกษาครั้งนี้เป็นการใช้การวิเคราะห์เมตา เพื่อสังเคราะห์ผลการวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล เชิงจริยธรรม ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของ โคลเบอร์ก (Kohlberg, L.) กับตัวแปรลักษณะด้านสติปัญญา การคิด และภาษา ลักษณะด้านอารมณ์-สังคม และบุคลิกภาพ และการอบรมเลี้ยงดู วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาค่าเฉลี่ยของ ขนาดอิทธิพลแบบถ่วงน้ำหนักของตัวแปรดังกล่าว ข้อมูลสำหรับการสังเคราะห์ครั้งนี้ คือ รายงานการวิจัย และปริญญานิพนธ์ จำนวน 26 ฉบับ ในช่วงปี พ.ศ. 2519-2537 ซึ่งมีรายงานผลการวิจัยจากหอสมุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และห้องสมุดของสำนักงานส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ งานวิจัยเหล่านี้ใช้ตัวแปรตาม เป็นเหตุผลเชิงจริยธรรม และตัวแปรอิสระเป็นตัวแปรลักษณะด้านสติปัญญา การคิด และภาษา ได้แก่ สติปัญญา ผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษา ความสามารถทางการคิด และความสามารถทางภาษา ลักษณะด้านอารมณ์-สังคม และบุคลิกภาพ ได้แก่ เอกลักษณ์แห่งตน สุขภาพจิตและลักษณะมุ่งอนาคต และการอบรมเลี้ยงดู ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน แบบควบคุมแบบใช้เหตุผล แบบลงโทษทางกาย และแบบเข้มงวดกวดขัน และต้องเป็นงานวิจัยเชงิความสัมพันธ์ที่ใช้ สถิติ r, t, F, Z หรือ c2 การปรับค่าความสัมพันธ์จากสถิติทั่วไปให้เป็นขนาดอิทธิพล ใช้สูตรของโรเซนทาล การตรวจสอบความเป็น เอกพันธ์ของขนาดอิทธิพล ใช้สูตรของเฮดเจส วิเคราะห์หาตัวแปรอธิบายความแปรปรวน เมื่อพบว่าขนาดอิทธิพลของ ตัวแปรนั้นๆ เป็นวิวิธพันธ์ด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (stepwise multiple regression) วิเคราะห์ความแปรปรวน ของขนาดอิทธิพล ด้วยสถิติเอฟ (one-way ANOVA) และการคำนวนค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ของขนาดอิทธิพล ใช้สูตรของโรเชนทาล ผลการวิจัย มีค่าดังนี้ 1. ขนาดอิทธิพลของตัวแปรลักษณะด้านสติปัญญา การคิด และภาษา 1) ขนาดอิทธิพลของสติปัญญา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และความสามารถทางการคิด มีความเป็นวิวิธพันธ์ โดยที่ ระดับอายุเป็นตัวอธิบายความแปรปวนของขนาดอิทธิพลนั้น ในลักษณะที่ว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 2-9 ปี มีค่าเฉลี่ยขนาดอิทธิพลสูงที่สุด รองลงไปได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 10-13 ปี และ 14 ปีขึ้นไป ตามลำดับ 2) ขนาดอิทธิพลของสติปัญญา และความสามารถทางภาษา มีความเป็นเอกพันธ์ โดยมีค่าเฉลี่ยของขนาด อิทธิพลอยู่ในระดับต่ำ 3) ขนาดอิทธิพลของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มีความเป็นวิวิธพันธ์ แต่ไม่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ด้วย ระดับอายุ ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม หรือปีของงานวิจัย จึงยังไม่สามารถจะสรุปขนาดอิทธิพลที่แท้จริงได้ 4) ขนาดอิทธิพลของตัวแปรความสามารถทางการคิด มีความเป็นวิวิธพันธ์ โดยที่ ระดับอายุและค่าความเชื่อมั่น ของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรมเป็นตัวแปรอธิบายความแปรปรวนของขนาดอิทธิพลได้ เมื่อทดสอบพบเฉพาะระดับอายุใน ลักษณะที่ว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 2-9 ปี มีขนาดอิทธิพลสูงที่สุดรองลงไป ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 10-13 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไปมีขนาดอิทธิพลทางลบ 2. ขนาดอิทธิพลของตัวแปรลักษณะด้านอารมณ์-สังคม และบุคลิกภาพ 1) ขนาดอิทธิพลของเอกลักษณ์แห่งตน และสุขภาพจิต มีความเป็นวิวิธพันธ์แต่ไม่สามารถอธิบาย ความแปรปรวนได้ด้วยระดับอายุ ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม หรือปีของงานวิจัย จึงยังไม่สามารถจะสรุป ขนาดอิทธิพลที่แท้จริงได้ 2) ขนาดอิทธิพลของเอกลักษณ์แห่งตน มีความเป็นเอกพันธ์โดยมีค่าเฉลี่ยของขนาดอิทธิพลอยู่ในระดับ ปานกลาง 3) ขนาดอิทธิพลของสุขภาพจิต และลักษณะมุ่งอนาคต มีความเป็นวิวิธพันธ์ แต่ไม่สามารถอธิบายความ แปรปรวนได้ด้วยระดับอายุ ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม หรือปีของงานวิจัย จึงยังไม่สามารถจะสรุป ขนาดอิทธิพลที่แท้จริงได้ 3. ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดู 1) ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดู มีความเป็นวิวิธพันธ์ โดยที่แบบของการอบรมเลี้ยงดูเป็นตัวแปร ที่ทำให้เกิดความแตกต่างของขนาดอิทธิพล ซึ่งการอบรมเลี้ยงดูที่ให้ขนาดอิทธิพลเป็นบวก ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบ รักสนับสนุน และแบบใช้เหตุผล ส่วนการอบรมเลี้ยงดูที่ให้ขนาดอิทธิพลเป็นลบ ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม แบบลงโทษทางกาย และแบบเข้มงวดกวดขัน 2) ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูทางบวก มีความเป็นวิวิธพันธ์ โดยที่ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิง จริยธรรมเป็นตัวอธิบายความแปรปรวนของขนาดอิทธิพลนั้น ในลักษณะที่ว่าแบบวัดที่มีความเชื่อมั่นสูงมีขนาดอิทธิพล ของการอบรมเลี้ยงดูทางบวกในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ 3) ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูทางลบ มีความเป็นวิวิธพันธ์แต่ไม่สามารถอธิบายความแปรปรวน ได้ด้วยระดับอายุ ค่าความชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม หรือปีของงานวิจัย จึงยังไม่สามารถจะสรุป ขนาดอิทธิพลที่แท้จริงได้ 4) ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน แบบควบคุม และแบบลงโทษทางกาย มีความเป็น วิวิธพันธ์ แต่ไม่สามารถอธิยายความแปรปรวนได้ด้วยระดับอายุ ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม หรือปีของงานวิจัย จึงไม่สามารถจะสรุปขนาดอิทธิพลที่แท้จริงได้ 5) ขนาดอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล มีความเป็นวิวิธพันธ์ โดยที่ระดับอายุเป็นตัวอธิบายความ แปรปรวนของขนาด อิทธิพลนั้น ในลักษณะที่ว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 10-13 ปี มีขนาดอิทธิของการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไปมีขนาดอิทธิพลในระดับต่ำแต่ไม่พบขนาดอิทธิพลในกลุ่มตัวอย่าง ที่มีอายุ 2-9 ปี | SWU | | BSRI |