โสภิดา ลิ้มวัฒนาพันธ์. 2538. การเปรียบเทียบผลของการปรับพฤติกรรมโดยใช้การควบคุม ตนเองกับการเสริมแรงทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกร ที่มีต่อการเพิ่มและการคงอยู่ของพฤติกรรม ความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ชั้นปีที่ 1 ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. การวิจัยเชิงทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลของการควบคุมตนเองและการเสริมแรงทางบวก ด้วยเบี้ยอรรถกร ที่มีต่อการเพิ่มและการคงอยู่ของพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ของนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคชั้นปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาชาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ปีการศึกษา 2536 ที่มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายต่ำ จำนวน 15 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน มีลักษณะดังนี้ กลุ่มทดลอง 1 ได้รับเทคนิคการควบคุมตนเอง กลุ่มทดลอง 2 ได้รับการเสริมแรงทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกร และกลุ่มควบคุม รูปแบบการทดลองใช้ ABF Control Group Design เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ แบบบันทึกพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ผลของการศึกษา พบว่า 1. นักศึกษากลุ่มที่ใช้เทคนิคการควบคุมตนเองและกลุ่มที่ได้รับการเสริมแรงทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกร มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย ในระยะทดลอง และระยะติดตามผลสูงกว่าระยะเส้นฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. นักศึกษากลุ่มที่ใช้เทคนิคการควบคุมตนเองและกลุ่มที่ได้รับการเสริมแรงทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกร มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายสูงกว่านักศึกษากลุ่มควบคุมทั้งในระยะทดลองและระยะติดตามผล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ในระยะทดลอง พบว่า นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับเทคนิคควบคุมตนเองและกลุ่มที่ได้รับการเสริมแรงทางบวก ด้วยเบี้ยอรรถกร มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายไม่แตกต่างกัน 4. ในระยะติดตามผล พบว่า นักศึกษาที่ได้รับเทคนิคควบคุมตนเอง มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในงานที่ได้รับ มอบหมายสูงกว่า นักศึกษากลุ่มที่ได้รับการเสริมแรงทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 | SWU | | BSRI |