ประพิศ จันทร์พฤกษา. 2537. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการมีส่วนร่วมในสังคม กับความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุไทย ในเขตกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. การวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการมีส่วนร่วมในสังคมกับความพอใจในชีวิตของ ผู้สูงอายุไทย ในเขตกรุงเทพมหานคร" นี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างบุคลิกภาพ ลักษณะทางชีวสังคมและการมีส่วนร่วมในสังคมกับความพอใจในชีวิต ประการที่ 2 เพื่อค้นหา ตัวพยากรณ์ทำนายความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุไทยในเขตกรุงเทพมหานคร และประการที่ 3 เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ ความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุไทยในเขตกรุงเทพมหานครที่มีลักษณะทางบุคลิกภาพ ลักษณะทางชีวสังคมและ การมีส่วนร่วมในสังคมต่างกัน การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาภาคสนาม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงที่เป็นสมาชิกของศูนย์ บริการทางสังคม และชมรมผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอายุระหว่าง 60 ถึง 74 ปี (อายุเฉลี่ย 66.88 ปี ) โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าวแล้วสุ่มตัวอย่างและขอสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามได้จำนวนทั้งสิ้น 205 คน ลักษณะของแบบสอบถามแบ่งเป็น 5 ตอน ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามลักษณะทางชีวสังคม ตอนที่ 2 เป็นเครื่องมือวัด บุคลิกภาพเก็บตัว-แสดงตัว ตอนที่ 3 เป็นเครื่องมือวัดบุคลิกภาพหวั่นไหว-มั่นคงในสภาวะอารมณ์ ตอนที่ 4 เครื่องมือ วัดการมีส่วนร่วมในสังคม และตอนที่ 5 เครื่องมือวัดความพอใจในชีวิต สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่ด้วยวิธีเชฟเฟ เมื่อพบว่าการวิเคราะห์ความแปรปรวนมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. ลักษณะทางบุคลิกภาพ คือ บุคลิกภาพเก็บตัว-แสดงตัว และบุคลิกภาพหวั่นไหว-มั่นคงในสภาพอารมณ์ ลักษณะทางชีวสังคม คือ รายได้ การมีส่วนร่วมในสังคม คือ การมีส่วนร่วมในเชิงสังคม และการมีส่วนร่วมในเชิงจิตใจ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพอใจในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ตัวแปรบุคลิกภาพหวั่นไหว-มั่นคงในสภาวะอารมณ์ ตัวแปรการมีส่วนร่วมในเชิงจิตใจ ตัวแปรบุคลิกภาพ เก็บตัว-แสดงตัว และตัวแปรการมีส่วนร่วมในเชิงสังคมสามารถร่วมกันทำนายความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุไทยใน เขตกรุงเทพมหานคร ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยร่วมกันทำนายในกลุ่มรวมได้ 26 % 3. ผู้สูงอายุที่มีความพอใจในชีวิตต่ำ เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเก็บตัว และมีส่วนร่วมในเชิงสังคม หรือเชิงจิตใจ หรือใน สังคมน้อย 4. ผู้สูงอายุที่มีความพอใจในชีวิตสูง เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพมั่นคงในสภาวะอารมณ์หรือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในสังคมมาก 5. ผู้สูงอายุที่มีความพอใจในชีวิตสูง เป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง และมีส่วนร่วมในสังคมมาก การวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของลักษณะทางบุคลิกภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม ว่ามีผลต่อความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุไทย | SWU | | BSRI |